กยศ. แจงกรณีหักเงินเดือนเพื่อชำระคืนกองทุนฯ ผ่านองค์กรนายจ้าง เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษา ขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือตลอด 2 ปี

วันที่ 5 มี.ค.2564 กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชี้แจงกรณีมีผู้ไม่เห็นด้วยที่กองทุนออกหนังสือแจ้งให้ภาคเอกชนหักเงินเดือนพนักงานที่กู้ยืมเงิน และนำส่งเงินชำระคืนกองทุน ทั้งที่ภาคเอกชนไม่ได้เกี่ยวข้อง และบังคับภาคเอกชนเก็บหนี้ให้แทน ถือเป็นการผลักภาระให้ภาคเอกชนนั้น

ล่าสุด นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ชี้แจงว่า จากการที่กองทุนได้มีหนังสือถึงหน่วยงานองค์กรนายจ้างภาคเอกชนในการหักเงินเดือน เพื่อชำระเงินคืนกองทุน ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 นั้น การดำเนินการแจ้งหักเงินเดือนได้ดำเนินการมาแล้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 เริ่มจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กตามลำดับ

ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่กองทุนต้องแจ้งหักเงินเดือนทั้งหมดประมาณ 107,000 แห่ง และมีผู้กู้ยืมที่เป็นพนักงานของหน่วยงานเหล่านี้ ที่อยู่ในเกณฑ์หักเงินเดือนทั้งหมด 1,735,000 ราย ในช่วงที่ผ่านมา กองทุนได้แจ้งหักเงินเดือนไปยังนายจ้างแล้ว 14,813 แห่ง จำนวนผู้กู้ยืมทั้งสิ้น 1,268,000 ราย และอยู่ในระหว่างการแจ้งหักเงินเดือนในเดือนมีนาคม อีก 92,935 แห่ง ซึ่งมีผู้กู้ยืมจะอยู่ในเกณฑ์หักเงินเดือนจำนวน 466,000 ราย

ทั้งนี้ กองทุนได้จัดประชุมชี้แจงให้นายจ้าง ได้รับทราบ และเข้าใจถึงเหตุผล และความจำเป็น ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นายจ้างทุกภาคส่วน ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

สำหรับ ขั้นตอนการหักเงินเดือนของพนักงาน หรือ ลูกจ้าง ที่เป็นผู้ยืมเงิน กยศ. ผ่านองค์กรนายจ้าง นั้น กองทุนจะจัดส่งหนังสือแจ้งหักเงินเดือนไปตามที่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ของผู้กู้ยืมเงินได้รับทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน จากนั้น กองทุนจะจัดส่งหนังสือแจ้งให้นายจ้างทราบถึงข้อมูลของผู้กู้ยืมเงิน รวมทั้ง จำนวนเงินที่ต้องหักนำส่งล่วงหน้าประมาณ 30 วัน นายจ้างสามารถตรวจสอบข้อมูลที่ต้องหัก และนำส่งผ่านระบบรับชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาผ่านกรมสรรพากร (e-PaySLF) ที่เว็บไซต์ กยศ. www.studentloan.or.th ซึ่งกองทุนจะมีการปรับข้อมูลผู้กู้ยืมให้เป็นปัจจุบัน และจะแจ้งข้อมูลที่ต้องหักและนำส่งให้นายจ้างได้ทราบผ่านระบบดังกล่าว ทุกวันที่ 5 ของเดือน

ทั้งนี้ กองทุน ขอชี้แจงรายละเอียดการหักเงินเดือน เพื่อความชัดเจน ดังนี้

  1. เมื่อพนักงานได้รับเงินเดือน ลำดับการหักเงินเดือนกองทุนอยู่ในลำดับ 3 โดยลำดับแรกเป็นการหักภาษี ณ ที่จ่าย / ลำดับที่ 2 หักกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และประกันสังคม / และลำดับที่ 3 หักเงินกองทุน กยศ.
  2. หากนายจ้างไม่ดำเนินการหัก ฯลฯ ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ได้ระบุให้ นายจ้างจะต้องชดใช้เงินที่ต้องนำส่งในส่วนของผู้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ และต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่นายจ้างยังไม่ได้นำส่ง หรือ ตามจำนวนที่ยังขาดไปแล้วแต่กรณี ที่ผ่านมา หากหน่วยงานแจ้งเหตุผลข้อขัดข้อง หรือ ความจำเป็นที่ไม่สามารถดำเนินการหักเงินเดือนผู้กู้ยืมได้ผ่านขั้นตอนในระบบให้กองทุนรับทราบก็ไม่ต้องชดใช้เงินให้กับกองทุน และหากไม่สามารถดำเนินการหักเงินเดือนได้ กองทุนยินดีที่จะอนุโลมและผ่อนผันให้ ซึ่งในปัจจุบันกองทุนยังไม่เคยเรียกให้นายจ้างชดใช้เงิน หรือ เรียกเงินเพิ่มจากนายจ้างแต่อย่างใด
  3. การคำนวณยอดหักเงินเดือน กองทุนจะใช้ยอดหนี้ตามตารางชำระรายปี หารด้วย 12 เดือน หรือ จำนวนเดือนที่เหลือ ก่อนถึงวันครบกำหนดชำระหนี้ (5 กรกฎาคม ของทุกปี) และในงวดปีถัดไป จะเริ่มหักเงินเดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมของทุกปี จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น
    ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมเงินที่ไม่สามารถชำระตามอัตราที่แจ้ง สามารถขอปรับลดจำนวนเงินได้โดยแจ้งความประสงค์ขอลดจำนวนการหักเงินเดือนได้ด้วยตนเอง ผ่านแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” โดยกองทุนอนุโลมให้ชำระขั้นต่ำเพียง 100 บาท แต่ผู้กู้ยืมเงินยังมีหน้าที่ต้องไปชำระเงินในส่วนที่ขาดไปของงวดนั้นให้ครบตามจำนวนที่ต้องชำระ ก่อนวันครบกำหนดชำระหนี้รายปี

เนื่องจาก กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ตั้งต้นมาจากงบประมาณแผ่นดิน ที่มาจากเงินภาษีของประชาชน และใช้เงินชำระหนี้ของผู้กู้ยืมรุ่นพี่หมุนเวียน เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้อง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

กองทุนฯ ขอเรียนว่า ปัจจุบัน กองทุนไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน ตั้งแต่ปี 2561 และในปีการศึกษา 2563 มีผู้ขอกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นจาก 28,000 ล้านบาท เป็น 33,000 ล้านบาท สำหรับปีการศึกษา 2564 นี้ กองทุนได้เตรียมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา จำนวน 38,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียน นักศึกษา ผู้กู้ยืม จำนวน 624,000 ราย ไว้เรียบร้อยแล้ว และขอยืนยันว่า กองทุนฯ จะเป็นหลักประกันของทุกครอบครัว เพื่อให้บุตรหลาน และนักเรียน นักศึกษา รุ่นหลัง มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้ทุกคนอย่างแน่นอน โดยไม่มีการจำกัดโควตาการให้กู้ยืมแต่อย่างใด

วีคลี่นิวส์ สอบถามเด็กที่กู้ยืมเงิน เปิดเผยว่า กยศ.เรียกเงินทั้งดอกเบี้ยและเบี้ยปรับเช่นเดียวกับสรรพากร ทำให้เงินที่ตนเองจ่ายทุกเดือนกลายเป็นเงินที่นำไปใช้จ่ายดอกกับเบี้ยปรับ ไม่มีเหลือไปจ่ายเงินต้น ฃึ่งตนก็อยากจะจ่ายให้มากแหละแต่รายได้ไม่มากพอที่จะจ่ายตามที่กยศต้องการได้แต่ตนพยายามจ่าย แต่ถ้าจ่ายอย่างนี้คงอีกนานกว่าจะหมด ตนอยากขอให้กยศ.อย่าทำตัวเป็นนายธนาคาร เพราะจะให้ปิดบชทีเดียวทั้งก้อนจึงจะลดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับให้. มันยากจริงๆโดยเฉพาะเวลานี้

ทางด้านของผู้ปกครองเด็กนักเรียนกล่าวว่า. กยศ.กำลังทำตัวเป็นนายธนาคาร การที่ไม่รับงบประมาณจากรัฐ ก็เพราะว่าจะเอาเงินที่รีดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับจากเด็กกู้เรียนมาใช้บริหารกันเองในหน่วยงาน โดยเฉพาะเงินค่าสัมมนา เงินเดือน และอาจจะมีเบี้ยเลี้ยง งานเลี้ยง งานประชุม ตนอยากถามว่า กยศ.กินลงหรือ

นโยบายนี้มันต้องบริหารโดยใช้งบรัฐ เป็นนโยบายไม่หากำไร เพราะเด็กฉลาดชาติก็เจริญ รัฐจึงต้องให้การศึกษาและจัดหางานให้พวกเขาด้วย

แต่ตนคงไม่ต้องบอกว่า ควรจะมีจิตสำนึกในการดูแลปชชกันอย่างไร เพราะทุกวันนี้ปชช.เดือดร้อนไม่มีรายได้ ตกงาน กันเท่าไรรัฐก็น่าจะรู้แล้ว