ใครเล่าเป็นบุญเป็นบาป ก่อภพก่อชาติ ก่อกรรมก่อเวร…ตัวเราหรือตัวใคร
เราทำสมาธิ ทำจิตให้ตั้งมั่น ดูที่จิตของเรา จิตของเราอยู่ไหนเล่า ?
จิตคือผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง
ใครเล่าเป็นบุญเป็นบาป ก่อภพก่อชาติ ก่อกรรมก่อเวร
ท่านสอนให้ตั้งมั่นเพื่อเราจะได้หมดบาปหมดกรรม หมดเคราะห์ทั้งหลาย จิตเป็นสมาธิ จิตตั้งมั่น เมื่อจิตสงบแล้วสิ่งทั้งหลายสงบหมด
ก็เมื่อจิตนี้ไม่ได้ไปก่อภพก่อชาติ ใครที่ไหนจะไปก่อเล่า
เมื่อจิตนี้ไม่ไปก่อแล้ว ความเกิดไม่มีแล้ว ความเจ็บจะมีมาแต่ไหนเล่า
ความแก่ไม่มีแล้ว ความเจ็บไข้ได้พยาธิจะมาจากไหนเล่า
ความเจ็บไข้ได้พยาธิไม่มีแล้ว ความตายจะมาแต่ไหนเล่า
ความตายไม่มีแล้ว ความเกิดจะมาที่ไหนเล่า มันเป็นอย่างนี้
นี่เราเวียนว่ายตายเกิด เกิดแล้วก็ตาย ตายแล้วก็เกิด เกิดแล้วก็ตายอยู่อย่างนี้ กี่กัปกี่กัลป์อนันตกาล
ถ้าดูให้แน่วแน่ที่ใจก็เห็นว่าเรานี่เองไปก่อภพก่อชาติ
ถ้าหยุดเสียก็เป็นอมตะ เป็นของเที่ยงแท้ไม่แปรผัน ไม่ไปก่อภพก่อชาติ
เมื่อชาติไม่มีแล้ว ความแก่ก็ไม่มี
ความแก่ไม่มีแล้ว ความเจ็บไข้ได้พยาธิก็ไม่มี
ความเจ็บไข้ได้พยาธิไม่มี ความตายมันก็ไม่มี มันเป็นอย่างนี้
เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว ให้โอปนะยิโก น้อมเข้ามาดูภายใน
คนทั้งหลายตายแล้วเกิดไหม
ดูเรานี่แหละเกิดหรือไม่เกิดเดี๋ยวนี้ ทำอยู่เดี๋ยวนี้ละ
จิตของเราอยู่เฉย ๆ ไหมล่ะ เอาโอปนะยิโกน้อมเข้าไปดูซิ
จิตของเรามันเฉย ๆ อยู่ได้ไหมล่ะ มันก่อภพก่อชาติไม่รู้ว่ากี่ภพแล้ว มันปรุงแต่ง มันก่อตรงโน้น มันดับตรงนี้ ก่อตรงนั้น อยู่อย่างนั้น มันกี่ภพแล้วนี่ ที่นั่งอยู่เดี๋ยวนี้
ความเกิดนี่เราห้ามไม่ได้
เหตุนั้นท่านจึงให้พิจารณาพุทโธ
พร้อมกัน ท่านให้พิจารณาเทวทูตินี้(ความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย) ยกขึ้นในใจของตน
ทุกข์คือความเกิด เราต้องหยุดเสีย ล้างบาปล้างกรรม ตัดบาปตัดกรรม
เราจะล้างด้วยมีดดาบก็ไม่ได้ จะล้างด้วยน้ำก็ไม่ได้
ต้องนั่งสมาธิให้จิตสงบเท่านั้นแหละ
เมื่อจิตสงบแล้วมันว่างหมด ไม่มีอะไร มีแต่ความเบา ความสบาย เย็นอกเย็นใจ หายทุกข์หายยาก หายความลำบากรำคาญ มีแต่พุทโธ-ความเบิกบาน พุทโธ-ความสว่างไสว พุทโธ-ความผ่องใส
กรรมทั้งหลายมันก็หมด หมดความชั่ว มีแต่พุทโธ-ความเบิกบาน
เหตุนั้น สรณะที่พึ่งของเราต้องอาศัยความรู้นี้ เมื่อขาดความรู้หาที่พึ่งไม่ได้
จากหนังสือ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๖๔๗
สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
๖๑.๐๖.๑๔
ใส่ความเห็น