จงอดทน เพื่อบรรลุถึงการฝึกฝนจิต
คำพังเพยของคนโบราณเขาบอกว่า “เราอาศัยสิ่งใดต้องรู้จักรักษาสิ่งนั้น เราจะได้อาศัยสิ่งนั้นไปนาน ๆ”
เราอาศัยร่างกาย เราก็ต้องรู้จักบำรุงรักษาร่างกาย แล้วเราจะได้อาศัยร่างกายนี้ไปอีกนาน
ถ้าเราไม่รู้จักบำรุงรักษา เราก็อาศัยไปในเวลาระยะอันสั้น
เหมือนกันกับบ้านเรือนที่เราอาศัยอยู่ ถ้าเราไม่รู้จักแก้ไข ปลวกมันก็มากิน และมันก็เกิดอาการทรุดโทรม แล้วในที่สุดก็พังไปก่อนเวลาที่ควรพัง
เราอาศัยบิดามารดาเป็นที่เกิด เราก็ต้องรู้จักรักษาท่าน ตอบบุญแทนคุณ
เราอาศัยโลกเราก็ต้องรู้จักรักษาโลก โลกนี้ก็จะยืนยาวต่อไปอีกนาน
การรักษาโลกก็คือความที่เรามีคุณธรรม อาศัยคุณธรรมเป็นเรื่องสำคัญ
ร่างกายนี้อาศัยใจเป็นผู้สั่งการ ร่างกายจะทำอะไรไม่ได้ถ้าหากว่าใจไม่สั่งการ
ใจสั่งการก็ทำให้ร่างกายของเราเกิดประพฤติปฏิบัติไปตามใจที่สั่งการ
เพราะฉะนั้นเมื่อเราอาศัยโลก เราจะรักษาโลกนี้ไปอย่างไร ก็คือความอดทน
อดทนนั้นก็หมายถึงว่าอดทนต่อความลำบาก อดทนต่อความตรากตรำ อดทนต่อความเจ็บใจ
อดทนต่อความลำบาก แม้ว่าการดำเนินชีวิตจะลำบากมากมายแค่ไหนก็อดทนต่อสู้เพื่อความสำเร็จในกิจการงานนั้น ๆ
อดทนต่อความตรากตรำ สำคัญอย่างยิ่งว่าเราจะต้องทำงานของเราอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำวันนี้แล้วก็หยุด ทำวันนั้นแล้วก็หยุด งานก็ไม่เป็นงาน
อดทนต่อความเจ็บใจ ในเรื่องของความที่มนุษย์เรานี่อยู่ด้วยกันเป็นหมู่เป็นเหล่า ความกระทบกระทั่งก็ย่อมจะต้องเกิดขึ้น
ความกระทบกระทั่งที่จะเกิดขึ้นมานั้นมันก็มีสาเหตุอะไรต่ออะไรต่าง ๆ มากมาย
สาเหตุเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจหรือเรียกว่าแตกแยกอะไรต่าง ๆ เหล่านี้
ในเมื่อเราเกิดความเจ็บใจขึ้นมา ใครทำให้เราเจ็บใจ เราก็ผูกพยาบาท ผูกอาฆาต ผูกจองเวร อะไรต่าง ๆ
เขาทำเรา เราก็อยากทำเขาเป็นการแก้แค้น เขาเรียกว่าไม่มีอภัยให้แก่กัน โลกนี้ก็ต้องสับสนวุ่นวาย
เพราะฉะนั้นความอดทนนี้จึงเป็นประการที่มีความสำคัญ ที่จะปกป้องไม่ให้โลกนี้สลายตัวลงไป
สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นคือความอดทนต่อความเจ็บใจ ที่จะแก้ไขความผูกพยาบาท อาฆาต จองเวรด้วยการฝึกฝนจิตใจของเราให้เป็นสมาธิ
การฝึกฝนจิตใจของเราให้เป็นสมาธิได้แล้วนั้น เราก็สามารถที่จะระงับจากความผูกพยาบาท ความอาฆาต ความจองเวรต่าง ๆ
เพราะว่าความอาฆาต ความพยาบาท ความจองเวรนี่มันเกิดขึ้นจากความเจ็บใจ
ความเจ็บใจนี่เกิดขึ้นมาจากการถูกทำร้ายด้านจิตใจ หรือว่าถูกข่มเหง หรือว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้
จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ เล่มแรก หน้าที่ ๕๓
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)
สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
๖๑.๐๓.๑๓
ใส่ความเห็น