ในทางพระพุทธศาสนานั้น การอบรมสตินั้นมีเป็นระยะ ๆ เขาเรียกว่าสติสัมปชัญญะ คือสติทั่ว ๆ ไปอย่างนี้

พอพัฒนาจากสติสัมปชัญญะก็มหาสติปัฏฐาน
สติปัฏฐานก็เริ่มที่จะมีหลักเกณฑ์คือพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จะเริ่มเป็นสติ เพิ่มสติขึ้นมา

จากสติปัฏฐานก็มาสติพละ ก็มีกำลัง หมายความว่าเหมือนกันกับเด็กที่กำลังเล็ก ๆ นี่มันไม่มีกำลัง พอมันโตขึ้น ๆ มันก็ค่อยมีกำลังเพิ่มขึ้น อย่างนี้ ก็เหมือนกันกับสติที่มันเพิ่มขึ้นมาเขาเรียกว่าสติพละ

จากสติพละก็มาสติอินทรีย์
สติอินทรีย์ก็เพิ่มจากสติพละขึ้นมาแล้วก็มาเป็นอินทรีย์คือว่าโตแล้ว อินทรีย์แปลว่าใหญ่
เพราะฉะนั้นเมื่อเด็กโตขึ้นมาก็กลายเป็นหนุ่มสาว กำลังวังชาก็มีเพิ่มขึ้นเต็มอัตรา เขาเรียกว่าสติอินทรีย์

จากสติอินทรีย์แล้วก็ใช้ปัญญาใช้สตินี้ให้มีประโยชน์ ก็คือเขาเรียกว่าสติสัมโพชฌงค์
สติสัมโพชฌงค์ก็เป็นสติ เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ที่จะให้เกิดธรรมะชั้นสูงขึ้น

ในที่สุดก็เป็นสติของมรรคเขาเรียกว่าสติมรรค ๘ มันก็จะไต่ลำดับกันไปอย่างนี้
เมื่อสติมรรค ๘ สมบูรณ์บริบูรณ์เขาเรียกว่าสติสมังคีหรือเรียกว่ามรรคสมังคี
ความรวม หมายความว่าหมื่นล้าน แสนล้าน อะไรอย่างนี้มันไปรวมกัน
เมื่อไปรวมกันมันก็เป็นสติอันยิ่งใหญ่ สามารถที่จะดำเนินการกำจัดกิเลสได้

ท่านจึงเรียกว่า โพธิปักขิยธรรม มาจากสติ เขาเรียกว่าสติธรรมดา เรียกว่าพละ ๕ อินทรีย์ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ อะไรเหล่านี้อยู่ในโพธิปักขิยธรรม ธรรมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ก็ถือเอาสตินี้เป็นตัวหลัก

เพราะฉะนั้นใครอย่าไปคิดว่าการทำสมาธิเล็ก ๆ น้อย ๆ มันไม่มีประโยชน์หรือว่าไม่ได้อะไร ไม่ใช่

การทำสมาธิไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือไม่ว่าจะมาก ก็ล้วนแล้วได้รับประโยชน์อันยิ่งใหญ่ทั้งนั้น

เพราะว่าการทำสมาธิในแต่ละครั้งนั้นก็เท่ากันกับว่าเราได้หาเงิน
เหมือนกันกับเราทำทางด้านวัตถุ เราหาเงินมาเพื่อที่จะประคับประคองชีวิต หรือความเป็นอยู่ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เราก็ต้องหาด้วยความสามารถ อันนี้เรียกว่าเป็นทรัพย์สมบัติของกาย

แล้วทรัพย์สมบัติของใจก็คือการทำสมาธิ หาเงินให้ใจ ก็หมายความว่าหาสติ
เพราะฉะนั้นในสติอันนี้มันจึงควบคู่ไปกับพลังจิต
พลังจิตที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นกลายเป็นสติธรรมดาแล้วกลายเป็นมหาสติ
เพราะว่าสตินี้ในที่สุดมันก็กลายเป็นสมาธิ
เราลองสำรวจดูว่าก่อนแต่ที่เราทำสมาธินี่จะมีอารมณ์มากมาย
พอทำสมาธิก็เหลืออารมณ์อันเดียวคือพุทโธอันนี้ก็เริ่มมีสติ
ทีนี้สติอันนี้มันก็จะต้องพัฒนาจากสติธรรมดาไปเป็นมหาสติ อย่างนี้เป็นต้น

จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๒ หน้าที่ ๓๐๙
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน

๖๑.๐๒.๐๙