ส่องการทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุด เชื่อมั่นได้แค่ไหน
พลันที่สำนักงานอัยการสูงสุดแถลงผลการสั่งคดีขาโจ๋7คนรุมฆ่าชายพิการ โดยไม่มีข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองตามที่ผู้กล่าวหาร้องขอความเป็นธรรม ด้วยเหตุผล ดังภาพข้างล่างนี้
วีคลี่นิวส์ออนไลน์ได้พูดคุยกับนักกฎหมายถึงประเด็นการฆ่าโดยไตร่ตรองให้ผู้อ่านได้พิจารณา ดังนี้
ฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ประเด็นแรก การฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หมายถึง ผู้ลงมือกระทำความผิดได้คิดไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะฆ่าใคร นอกจากนี้ได้ทบทวนแล้วจึงตัดสินใจ ตกลงใจที่จะฆ่าผู้อื่น เป็นคำนิยามที่ไม่มีในกฎหมาย แต่เป็นถ้อยคำที่อยู่ในคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 1633/2548
ประเด็นที่สอง การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้กระทำความผิด โดยพิจารณาตามสภาพจิตใจของผู้กระทำความผิดแต่ละคน ถ้าคดีใดมีผู้กระทำความผิดร่วมกันหลายคนหรือมากกว่า 1 คน ที่กฎหมายเรียกว่าตัวการร่วม ผู้กระทำความผิดบางคนที่ร่วมฆ่าผู้อื่นอาจมีความผิดเพียงเจตนาฆ่าผู้อื่นเท่านั้น ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 แต่ผู้กระทำความผิดคนอื่นที่ร่วมวางแผนหรือไตร่ตรองไว้ก่อนเพียงลำพัง อาจมีความผิดหนักกว่าข้อหาฆ่าคนตายโดยทั่วไป กล่าวคือ อาจมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ได้ ซึ่งศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2546
ประเด็นที่สาม พฤติการณ์อย่างไรถึงจะเรียกว่าเป็นการฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ถ้าเราไปศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผ่านมาได้วางบรรทัดฐานไว้ว่า ถ้ามีการกระทำดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นการฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
1. การจ้างวานฆ่าผู้อื่น
2.การคบคิดกันวางแผนฆ่าผู้อื่น
3.การตระเตรียมอาวุธที่ใช้ในการฆ่า
4. การจัดเตรียมยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทางเพื่อไปฆ่าผู้อื่น
ตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 6738/2537 และคำพิพากษาฎีกาที่ 554/2541
5. การไปพบผู้ตายโดยบังเอิญ แต่จำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองขั้นรุนแรงกับผู้ตายมาก่อน และมีความแค้นผู้ตายเป็นอย่างมากมาก่อน จำเลยไปเอาอาวุธมาฟันผู้ตายถึงแก่ความตายโดยบังเอิญ ไม่ได้ไตร่ตรองมาก่อน จำเลยมีความผิดเพียงฆ่าคนตายโดยเจตนาเท่านั้น (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 2539/2541, คำพิพากษาฎีกาที่ 2241/2532 )
6. การใช้จ้างวานฆ่าผู้อื่นก็เป็นการฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเช่นกัน ถ้าคนใช้ให้ไปฆ่าคนอื่น หลังจากใช้แล้วยังเข้าไปร่วมฆ่าผู้ตายด้วย ถือว่าผู้ใช้เป็นตัวการร่วมในการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วย (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 3501/2538)
7. ในกรณีไตร่ตรองหรือวางแผนที่จะฆ่าคนหนึ่งแต่ไม่พบคนที่ต้องการฆ่า ไปพบอีกคนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่คนที่ไตร่ตรองไว้ก่อนจึงฆ่า ไม่เป็นการฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 4308-4309/2530)
8.การตกลงใจกระทำความผิดฆ่าคนตายในลักษณะปัจจุบันทันด่วน ไม่ถือว่าเป็นการฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 1533/2548)
9. จำเลยกับผู้ตายนั่งดื่มสุรา ผู้ตายพูดจาพาดพิงถึงบิดามารดา จำเลยโกรธจึงฆ่าผู้ตายในขณะนั้นทันที โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการวางแผนหรือไตร่ตรองมาก่อน ไม่ถือว่าเป็นการฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพียงแต่จำเลยพาผู้ตายไปฆ่าในที่ลับตาคนเท่านั้น
10. จำเลยโมโหผู้ตายในวงสุรา หลังจากนั้น 15 นาที จึงตกลงใจฆ่า ถือว่าเป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 3576/2533)
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น มาตรา 84 ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี มาตรา 289 ผู้ใด (4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต้องระวางโทษประหารชีวิต
คำถามคือ สำนักงานอัยการสูงสุดสั่งคดี ออกมาเช่นนี้ น่าเชื่อถือ น่าเชื่อมั่น น่าศรัทธา ????
พัชรินทร์ วิกิตเศรษฐ
ใส่ความเห็น