นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวเปิดใจต่อผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ สปสช. หลังไม่ได้รับการพิจารณารับรองจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมทั้งฝากงานที่จะต้องทำต่อแก่เจ้าหน้าที่ทุกคน และสิ่งที่ต้องสานงานต่อจากนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ริเริ่มโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) ซึ่งจัดโดยชมรมคนรักษ์ สปสช. พร้อมทั้งยังได้ถ่ายทอดสดเทเลคอนเฟอเรนซ์ไปยัง สปสช.เขตทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ

นพ.ประทีป กล่าวว่า ก่อนจะมาเปิดใจ ตนก็คิดเรื่องนี้มาหลายวัน จนกระทั่ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.)ได้มาเยี่ยมที่สปสช. และได้ให้ความมั่นใจกับพวกเราว่า การดำเนินการต่างๆ จะสร้างความมั่นใจ และจะสร้างความเชื่อมั่น หรือ Trust จากพวกเรานั้น แต่ตลอดช่วงเวลานับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน ถึงวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการรับสมัครเลขาธิการสปสช.คนใหม่ ทั้งการเข้าให้ข้อมูลคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตีความคุณสมบัติของผู้สมัคร กระบวนการแสดงวิสัยทัศน์เพื่อรับการสรรหา และการเข้าสู่พิจารณาทำสัญญาจ้างเพื่อแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสปสช.คนใหม่นั้น

“ตัวผมและสังคมโดยรวมได้รับรู้ถึงความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนทิศทางระบบหลักประกันสุขภาพ โดยใช้โอกาสของการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ ครั้งนี้ของกลุ่มคนที่ใกล้ชิดผู้มีอำนาจ และกลุ่มคนที่แทรกซึมอยู่ในกลไกกำหนดนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วยเหตุนี้ผมจึงตัดสินใจ 1.มุ่งมั่นดำเนินการสานต่อปณิธานและงานที่ยังไม่เสร็จของนพ.สงวนต่อไป                                    2.จะขออาศัยบารมีของศาลยุติธรรม ด้วยการรักษาสิทธิของการเป็นผู้ได้รับการสรรหาเป็นเลขาธิการ สปสช.เพียงคนเดียว ฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนมติบอร์ดสปสช.เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการออกคำสั่งปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 31 รวมทั้งกระบวนการประชุมลงมตินับคะแนนของบอร์ดฯเป็นกระบวนการที่จงใจทำผิดกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติ และเมื่อถึงเวลาเหมาะสม ผมจะขอถึงบารมีของศาลอาญาต่อไป” นพ.ประทีป กล่าว

นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า 3.จะร่วมมือกับประชาชน และภาคีทุกเครือข่ายที่รักความเป็นธรรม ดำเนินการปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และผลักการปฏิรูประบบสาธารณสุข รวมทั้งการปฏิรูปองค์กรวิชาชีพ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนโดยรวม และ

4.ขอให้เจ้าหน้าที่ สปสช.ทุกคนดำเนินการ 4.1 ขอให้แน่วแน่รักษาความฝันที่จะสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุดให้กับประชาชน เพื่อสานงานต่อจากนพ.สงวน

4.2 มุ่งมั่นทำงานและบริหารกองทุนฯอย่างมืออาชีพ ไม่หวั่นไหวกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

4.3 ให้การสนับสนุนการบริหารงานของรักษาการแทนเลขาธิการ และคณะผู้บริหารสปสช.อย่างเต็มกำลัง

สุดท้ายเชื่อว่าไม่ว่าใครจะเป็นเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ ระบบหลักประกันสุขภาพฯและภาคีเครือข่ายได้ช่วยกันพัฒนาภายใต้การสนับสนุนของทุกรัฐบาล จะต้องเดินหน้าต่อไป ไม่มีผู้มีอำนาจหรือกลุ่มผลประโยชน์แอบแฝงใดจะสามารถมาทำลายหลักการที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศได้