เมื่อนึกพุทโธทีไรก็ถือว่าเราได้สติ เราได้กำลัง
เพราะว่าการนึกพุทโธนั้นนึกไม่เท่าไหร่หรอกแล้วจิตก็รวมเป็นสมาธิ จิตก็เป็นหนึ่ง
เมื่อจิตเป็นหนึ่งแล้วจิตก็เป็นสมาธิ
เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วจิตก็สามารถผลิตพลังจิตได้
เมื่อผลิตพลังจิตขึ้นมาได้แล้วพลังจิตก็เติบโต หมายความว่าแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ และสมาธิที่เกิดพลังจิตนั้นก็กลายไปเป็นฌาน ไปเป็นฌาน ๑ บ้าง ฌาน ๒ บ้าง ฌาน ๓ บ้าง ฌาน ๔ บ้าง ตลอดจนกระทั่งถึงฌาน ๘ ก็เกิดขึ้นไปจากสมาธิ

แล้วถ้าพื้นฐานมีอยู่เต็มที่แล้วอย่างนี้ ท่านเปรียบเหมือนกับว่าคนที่มีเงิน
เมื่อมีเงินมากแล้วอยากจะซื้ออะไรก็ย่อมซื้อได้ ถ้าหากว่ามีเงินน้อย มันไม่พอที่จะรับประทานซะด้วยซ้ำไป
แต่ถ้ามีเงินมากก็สามารถที่จะซื้อของที่เราต้องการได้ เช่นเดียวกันกับที่เราสร้างพลังจิตขึ้นมา

เมื่อเราสร้างพลังจิตขึ้นมาแล้วนี่ก็สามารถที่จะทำให้เกิดความสมประสงค์

เราประสงค์จะวิปัสสนา เราประสงค์อะไร มันก็ได้ตามความปรารถนาของบุคคลผู้นั้น
แต่โดยมากแล้วคนชอบที่จะทำให้มันสุกก่อนห่าม

คำว่าสุกก่อนห่ามนั้นคือว่าอยากจะได้เร็วเกินไป แล้วก็รีบทำ รีบทำ แล้วมันก็ลวก ๆ พอมันลวก ๆ แล้วมันก็ไม่สุก
เมื่อไม่สุกแล้วมันก็สุก ๆ ดิบ ๆ แล้วมันก็ใช้ไม่ได้ ไม่สมบูรณ์

เพราะฉะนั้นการที่เราจะก้าวข้ามขั้นพื้นฐานไปนั้นจำเป็นที่จะต้องสำรวจตรวจดูในจิตใจของเรานั้นมีความเข้มแข็งแค่ไหน

เมื่อมีความเข้มแข็งแล้วเราจะทำอะไรย่อมทำให้เกิดขึ้นมาได้
เพราะว่าสิ่งที่เป็นสมาธิที่เรียกว่ามีความเข้มแข็งนั้นมันเป็นความเข้มแข็งที่มีความสามารถ
ตัวของเราเองย่อมจะต้องรู้ว่าเราเข้มแข็งแค่ไหน

เหมือนกับเรามีเงิน เรามีร้อยบาทไม่มีใครรู้นอกจากตัวเราเอง เรามีเงินพันบาท มีเงินหมื่นบาท มีเงินแสนบาท มีเงินหลายล้าน เป็นเศรษฐีใครจะมารู้ เรารู้ด้วยตัวเราเองว่าเราเป็นอย่างนี้
พลังจิตก็เช่นเดียวกัน

เมื่อเวลาที่เราสามารถสร้างพื้นฐานขึ้นมาได้แล้วนี่ เราสามารถสร้างพลังจิตอันนี้ให้เติบโตยิ่ง ๆ ขึ้น มีความเจริญก้าวหน้า

เราพากันทำสมาธิขั้นพื้นฐานของเรานี้ให้เข้มแข็ง
เมื่อสร้างพื้นฐานให้เข้มแข็งแล้วนี้ เราก็จะสามารถทำในสิ่งที่เราต้องการได้ อยู่ที่ว่าเราจะพยายามแค่ไหนเพียงไร

ที่หลวงพ่อบอกว่ามันสุกก่อนห่ามนั้นน่ะคือหมายความว่ายังได้พลังจิตไม่เท่าไหร่ก็จะเอาวิปัสสนาเสียแล้ว อย่างนี้มันไม่ได้
มันจำเป็นที่จะต้องได้พลังจิตให้พอเพียงแก่ความต้องการ

จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๒ หน้าที่ ๕๘
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา

๖๐.๑๒.๑๓