การทำสมาธิเป็นเรื่องของการทำจิตให้สงบ
ความสงบของจิตนั้นเป็นสิ่งที่ปรารถนาของพวกเรา
เพราะว่าเมื่อจิตสงบได้แล้วจิตก็ผลิตพลังจิต
เมื่อผลิตพลังจิตได้แล้วสมาธิก็เกิด สติก็เกิด ต่อจากนั้นจิตก็จะต้องเข้าภวังค์ไป

เวลาจิตเข้าภวังค์นั่นบางครั้งเราก็รู้สึกตัว บางครั้งเราก็ไม่รู้สึกตัว
ที่รู้สึกตัวนั้นเพราะว่าจิตได้เข้าภวังค์หลายครั้งขึ้น มากครั้งขึ้น จิตที่เข้าภวังค์มากครั้งขึ้นนั้นก็ทำให้เกิดความชำนาญ

เมื่อเกิดความชำนาญแล้วเวลาที่เราจะทำจิตไปสู่ฌานมันก็ง่ายนิดเดียว
บางทีคนเขาคิดว่าโอ้ยทำยังไงจิตมันถึงจะเป็นฌานได้ มันยากโพด แท้ที่จริงไม่ยาก

เพราะว่าเมื่อจิตเข้าภวังค์ไปแล้ว พลังจิตเรามี มันก็ทำให้องค์คุณของฌานเกิดขึ้น
เหมือนกันกับเรารับประทานอาหาร เรารับประทานอาหารนั้นน่ะอาหารก็คืออาหาร แต่ส่วนที่ความเอร็ดอร่อยมันก็อยู่ที่เรารับประทานอาหารที่ถูกปาก แล้วก็ไปเกิดความเอร็ดอร่อย
เพราะว่าความเอร็ดอร่อยนั้นมันก็มีความสุข มันก็มีความสบาย มันก็มีความปีติของมันอยู่ในรสอร่อยนั่นแหละ

เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตของเราเข้าภวังค์นี่ เมื่อเข้าภวังค์ไปแล้วอารมณ์ภายนอกมันก็หายไป พอหายไปแล้วจิตมันก็เหลืออันเดียวเรียกว่าเป็นฌาน มันจะเป็นฌานขึ้นมา
แล้วก็เมื่อมันเป็นฌานขึ้นมานั้นมันจะเป็นขึ้นมาเองโดยที่สมาธิได้สร้างพลังจิต
พลังจิตได้ทำให้เกิดกระแสจิต
กระแสจิตทำให้เกิดฌาน

พลังจิตนั้นก็เป็นตัวสนับสนุนให้เกิดความสุข ให้เกิดความเอิบอิ่ม ให้เกิดความสบาย อย่างนี้เรียกว่าจิตเป็นฌาน
เมื่อจิตเป็นฌานอย่างนี้แล้วมันจะอยู่ได้นานแค่ไหนนั้นก็สุดแต่พลังจิตของเราที่เราสะสมเอาไว้

เพราะว่าการทำสมาธิแต่ละครั้งนั้นมันเป็นการผลิตพลังจิต เมื่อผลิตพลังจิตมากขึ้น ๆ แล้วนี่มันจะสะสมเป็นสิ่งที่แข็งแกร่งขึ้น

ที่มันเป็นฌานได้นั้นเพราะอาศัยพลังจิต พลังจิตเป็นตัวเหมือนกับน้ำมันตะเกียงอย่างนี้ พอมันหมดน้ำมันไฟมันจะเริ่มหรี่เริ่มดับ

เหมือนกันกับพลังจิต เมื่อพลังจิตมันน้อยลงไป ลดระดับลงไป พอลดระดับแล้วก็หมายความว่าฌานมันก็หมดสภาพแล้วเราก็ทำใหม่

เมื่อเวลาที่หมดกระแสคือหมดพลังของจิตแล้วฌานมันก็ยุติ หมายความว่าฌานมันก็จบกันครั้งหนึ่ง
แต่ละครั้งของฌานนั้นบางทีมันก็ ๓ วัน ๓ คืนก็ได้ แล้วมันวันเดียวก็ได้ มีชั่วโมงเดียวก็ได้ อันนั้นมันสุดแล้วแต่ว่ากำลังของสมาธิมีมากน้อยเพียงไร

ทีนี้สิ่งที่ทำทั้งหมดนั้นมันจะมีสิ่งที่ถาวรอยู่ คือพลังจิตจำนวน ๖๐ % มันจะนอนเนื่องอยู่ที่จิตนั้นไม่ได้สูญสลายตัวชาตินี้และชาติหน้า
อันนี้ก็เรียกว่าอุปนิสัยปัจจัย หรือเรียกว่าเป็นบุญวาสนาบารมี
เมื่อเราทำสมาธิหลายครั้งเข้า เราก็ได้สะสมบุญวาสนาบารมีเหล่านี้ ก็กลายเป็นสิ่งที่สนับสนุนดลบันดาลให้เรานั้นได้สำเร็จมรรคผลพระนิพพานต่อไปในอนาคต

จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๔ หน้าที่ ๒๙๓
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา

๖๐.๐๙.๑๙