การรอการลงโทษ ตามกฎหมายเก่าระบุว่า ในคดีที่ศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ถ้ามีเหตุบรรเทาโทษ ศาลอาจพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกไว้ก่อนได้

กฎหมายแก้ไขใหม่แล้วว่า คดีที่ศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ศาลอาจรอการลงโทษจำคุกไว้ได้

และแม้จำเลยจะเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ก็ยังรอการลงโทษได้
นอกจากนี้ ศาลยังอาจกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติได้ มากกว่าที่ระบุในกฎหมายเดิม เช่น
~ สั่งให้จำเลยทำงานบริการสังคม (CS – Community Service) โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยก่อน
~ สั่งให้จำเลยอยู่ในที่พักอาศัยหรือจำกัดการเดินทางได้ (Home Detention)
~ สั่งให้จำเลยจ่ายเงินให้กับองค์กรสาธารณกุศล

หลายคนอาจเข้าใจว่า การแก้ไขมาตรา 56 ในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่จำเลยฝ่ายเดียว เป็นการแก้กฎหมายเพื่อให้ความเมตตากรุณาแก่ผู้กระทำความผิดเท่านั้น..

แท้จริงแล้ว ไม่ใช่นะครับ.. เจตนารมณ์ของการแก้ไขมาตรา 56 นี้ มาจากแนวคิดผสมผสานของกระบวนการยุติธรรมยุคใหม่ ดังนี้

1. มุ่งเน้นไม่ต้องการให้ผู้กระทำความผิดมีตราบาปติดตัว.. ไม่นำเข้าเรือนจำโดยไม่จำเป็น (Alternative to Imprisonment)
2. มุ่งเน้นแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดที่ยังกลับเป็นคนดีได้ โดยใช้มาตรการต่างๆแทนโทษจำคุก (Alternative Justice)
3. มุ่งเน้นให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาความสูญเสียทางจิตใจมากกว่าการรับเป็นเงินค่าเสียหาย
(Restorative Justice)
4. มุ่งเน้น การใช้การลงโทษที่เหมาะสมกับจำเลยแต่ละราย มีมาตรการลงโทษระดับกลาง (Intermediate Punishment) ที่ไม่หนักถึงขนาดจำคุก แต่ก็หนักกว่าการปรับแล้วปล่อย
เช่น จำคุกในที่พักอาศัย หรือให้ทำงานบริการสังคม หรือสั่งให้กระทำการอย่างใดๆเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำหรือเพื่อเยียวยาเหยื่อ
รวมทั้ง แนวคิดเรื่องการลงโทษในชุมชน (Community Punishment) ที่เน้นให้ผู้กระทำผิดได้ชดเชยเยียวยาทำประโยชน์ให้แก่สังคม แทนการที่รัฐจะต้องรับภาระเลี้ยงดูจำเลยในเรือนจำ
เช่น จำเลยที่ตัดไม้หวงห้าม ก็วางเงื่อนไขในการรอการลงโทษโดยให้จำเลยปลูกไม้หวงห้ามและเลี้ยงดูให้เติบโตแทนการจำคุก เป็นต้น

ศาลสามารถวางเงื่อนไขคุมประพฤติให้จำเลยปฎิบัติได้หลายข้อ.. ในบางกรณี จำเลยอาจถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพและมีภาระต้องกระทำตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดมากมาย..
.. ทั้งเงื่อนไขเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ.. เงื่อนไขเพื่อเยียวยาเหยื่อหรือตามที่เหยื่อต้องการ.. เงื่อนไขเพื่อให้จำเลยสำนึกในการกระทำ.. เงื่อนไขเพื่อชดเชยให้แก่ธรรมชาติ หรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบ..
.. เงื่อนไขที่ศาลกำหนดให้จำเลยทำเพื่อแลกกับการไม่ลงโทษจำคุกดังกล่าวอาจจะมีมาก.. มากเสียจนจำเลยรู้สึกว่า.. ขอติดคุกจะสบายกว่า.

ถ้าศาลเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายใหม่ เข้าใจแนวคิดที่มาของกฎหมาย ก็จะนำมาตรา 56 มาใช้บังคับได้ถูกต้อง สอดคล้องกับเจตนารมณ์ ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่จำเลย ผู้เสียหายและชุมชน..
ขณะเดียวกัน ศาลควรวางความเชื่อที่ว่า ต้องลงโทษจำคุกเพื่อให้จำเลยเข็ดหลาบ..
.. แล้วใช้โทษจำคุกในกรณีจำเป็นกับจำเลยที่เป็นอันตรายต่อสังคมจริงๆเท่านั้น..

ผมเชื่อว่า พัฒนาการใหม่ของการลงโทษจะเกิดขึ้นในเวลาไม่นาน..
..เป็นการลงโทษที่รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณมากมาย..
.. เป็นการลงโทษที่ทำให้สัังคมได้รับประโยชน์..
….เป็นการลงโทษที่ทำให้ผู้เสียหายมีส่วนร่วมและเกิดความพึงพอใจสูงสุด..
.. ..และจะเป็นการลงโทษที่จะทำให้สังคมเกิดความสงบสุขมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน…

image

ดร.ดล บุนนาค