คดีนี้ ผมนำมาจากคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๗๖๘ – ๘๗๖๙/๒๕๕๘ พน้กงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องป้า ช. เป็นจำเลยทั้งสองสำนวน ซึ่งศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน ในข้อหาหรือฐานความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า “จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๗๒(๔), มาตรา ๑๒๒ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ จำคุกกระทงละ ๘ เดือน รวม ๓ กระทง เป็นจำคุก ๒๔ เดือน คำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก ๑๘ เดือน ริบยาของกลางที่เหลือจากการตรวจวิเคราะห์ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข คำขออื่นให้ยก”

อ้อ…… ความผิดตามมาตรา ๗๒(๔) แห่ง พรบ ยาฯ คือ ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยามิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ส่วนมาตรา ๑๒๒ แห่ง พรบ ยาฯ เป็นมาตราที่กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนมาตรา ๗(๔) ดังกล่าว คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสามพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ… ครับ

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยมีข้อความว่า “.จำเลยพยายามกระเสือกกระสนดิ้นรนต่อสู้คดีในลักษณะเหมือนปลาหมอแถกเหงือก ยืนกรานไม่ยอมรับผิดในลักษณะกระต่ายขาเดียว….” ผมคิดว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาท่านนี้คงเชี่ยวชาญเรื่องสุภาษิตคำพังเพยมาก เพราะนำมาใช้เปรียบเทียบให้เห็นภาพการต่อสู้คดีของจำเลยได้อย่างดี แต่ถ้าเราไปอ่านย่อฎีกาเรื่องนี้ จะไม่เห็นคำวินิจฉัยในส่วนนี้

…….. มาดูกันครับว่า การต่อสู้คดีในลักษณะปลาหมอแถกเหงือกในความเห็นของศาลฎีกา..เป็นการต่อสู้คดีในแบบใด.. ก่อนอื่นผมขออนุญาตอธิบายความหมายของปลาหมอแถกเหงือกนะครับ

“ปลาหมอ” เป็นปลาขนาดเล็ก โตเต็มที่ประมาณ ๓ – ๔ นิ้ว ปลาหมอพอกเกลือแล้วย่างไฟ รับประทานอร่อยนักเชียว ปลาหมอเป็นปลาที่มีความทรหดอดทนมาก สมัยเด็ก ๆ ผมเคยเห็นปลาหมอดิ้นบนทางเดินข้ามจากบ่อน้ำไปยังอีกบ่อหนึ่ง

คำว่า “แถก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่าเป็นคำกริยา หมายถึง ถ่าง, กาง, เช่น ปลาแถกเหงือก, เสือกไป, ไถไป, ดิ้นรน …. กระเสือกกระสน เช่น ปลาช่อนก็ดิ้นแถกโผล่ขึ้นมาอาศัยอยู่ในหนองน้ำนั้นต่อไปใหม่ฯลฯ ดังนั้น คำว่า “ปลาหมอแถกเหงือก” จึงหมายความว่า ปลาหมอถ่างเหงือกหรือกางเหงือก และใช้การถ่างเหงือกหรือการกางเหงือก เพื่อเสือกไป ไถไป ดิ้นรนไป หรือที่เรียกว่าใช้เหงือกดิ้นรนกระเสือกกระสนไป

“ปลาหมอแถกเหงือก” เป็นสุภาษิต คำพังเพยโบราณ หมายถึง การพยายามกระเสือกกระสนดิ้นรนเพื่อให้ได้บางสิ่งบางอย่าง คำว่า ต่อสู้คดีในลักษณะปลาหมอแถกเหงือก ย่อมหมายถึงการต่อสู้คดีแบบเดียวกับปลาหมอที่ถ่างเหงือกกระเสือกกระสนดิ้นรนเพื่อที่จะชนะคดีหรือรอดพ้นจากโทษ

ตามมาดูกันว่าทำไมศาลฎีกาจึงเห็นว่าจำเลยต่อสู้คดีในลักษณะปลาหมอแถกเหงือก ก่อนอื่นคงต้องพิจารณาคำพยานโจทก์และความเห็นของศาลฎีกาเกี่ยวกับคำพยานโจทก์

ผมขออนุญาตสรุปคำพยานโจทก์นำพยานเข้าสืบสรุปข้อเท็จจริง ซึ่งได้ความว่า จำเลยทำน้ำหมักตั้งชื่อ “มหาบำบัด” นำมาทดลองใช้ด้วยตนเองและเผยแพร่ต่อประชาชน แล้วยังเช่ารายการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมสอนวิธีการทำน้ำหมัก ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๒ นาย ส. และนาง ท. ผู้เสียหายได้ดูโทรทัศน์รายการของจำเลยที่มีการโฆษณาขายยามหาบำบัด ซึ่งสามารถใช้รักษาเกี่ยวกับดวงตาได้ทุกโรค หายภายใน ๑๕ วัน หรือ ๑ เดือน ราคาขวดละ ๑,๐๐๐ บาท ผู้เสียหายทั้งสองได้ซื้อน้ำหมักมหาบำบัดมาใช้หยอดตา นาย ส. หยอดน้ำหมักประมาณ ๑ ขวดครึ่ง ตาเร่ิมมองไม่เห็นทั้งสองข้าง นาง ท. ใชัแล้วดวงตามีอาการปวดแสบ และใบหน้ารอบดวงตามีตุ่มคล้ายผดผื่น ใช้ยานี้ ๓ วันจึงหยุดใช้ ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๒ นั้นเอง นาย อ. เจ้าพนักงานกองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับการโฆษณาขายยาของจำเลย คณะกรรมการอาหารและยาตรวจสอบแล้วเห็นว่า ยาที่จำเลยมีการโฆษณาขายทางโทรทัศน์นั้น ไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนตำรับยา จึงมอบหมายให้ นาย อ. ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ต่อมาวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๓ นาย อ. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจฯเข้าตรวจค้นบ้านจำเลย พบน้ำหมักมหาบำบัด สีน้ำตาล และน้ำหมักเจียระไนเพชร ลักษณะใส และในวันนั้น มีประชาชน ๒๐ ถึง ๓๐ คน เข้าแถวซื้อนำ้หมักจากจำเลย ซึ่งจำเลยได้อธิบายสรรพคุณของน้ำหมักให้นาย อ. และเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีสรรพคุณ เช่น หยอดจมูก จมูกโล่ง ไซนัสหาย พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหนังสือหารือนาย ว. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ว่า ๑. น้ำหมักดังกล่าวเป็นยาหรือไม่ ๒. น้ำหมักดังกล่าวได้มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาตาม พรบ. ยาฯ หรือไม่ ผู้ใต้บังคับบัญชาของนาย ว. ตรวจสอบแล้วเห็นว่าตามลักษณะและความมุ่งหมายถือได้ว่าน้ำหมักดังกล่าวเป็นยาและมิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาตาม พรบ. ยาฯ
ศาลฎีกาเห็นว่า พยานทั้งสี่ปากไม่ปรากฎว่าพยานโจทก์คนใดมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน และต่างเบิกความยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พยานแต่ละคนประสบพบเห็นแก่ตนเองหรือตามหน้าที่ราชการที่แต่ละคนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ มีข้อเท็จจริงและผลการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งศาลฎีกาได้ยกคำพยานของผู้เสียหายทั้งสองตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้วประกอบการพิจารณา โดยศาลฎีกาได้พิจารณาประกอบคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ว่า นำ้หมักมหาบำบัดที่ขายแก่บุคคลทั่วไปรวมทั้งนาง ท. ผู้เสียหาย ไม่ใช่ยา ซึ่งบ้านของจำเลยเป็นที่จำหน่ายนำ้หมักและสถานที่หมักน้ำหมักมหาบำบัด โดยศาลฎีกาเห็นว่าคำพยานของจำเลยเหล่านี้เจือสมกับพยานหลักฐานโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังเชื่อถือได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องจริง
ข้อเท็จจริงที่ผมสรุปมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า จำเลยลำบากแน่ เนื่องจากหลักการสำคัญในการพิจารณาคดีอาญา ศาลจะพิจารณาจากพยานหลักฐานของโจทก์เป็นสำคัญ หากพยานหลักฐานจากฝ่ายโจทก์แน่นหนา ไม่มีพิรุธ ปราศจากข้อสงสัย หรือชัดแจ้งดั่งแสงตะวัน ศาลจะไม่นำข้อต่อสู้ของจำเลยมาพิจารณา เว้นแต่กรณีที่พยานหลักฐานของโจทก์มีพิรุธ น่าสงสัย ศาลจึงจะมาพิจารณาพยานหลักฐานของจำเลย บางคดีศาลใช้คำว่า “พยานหลักฐานโจทก์สอดคล้องต้องกันปราศจากพิรุธให้สงสัย” หรืออาจมีคำว่า “จำเลยไม่มีพยานหลักฐานมาหักล้างคำพยานโจทก์” ด้วย

ผมขอเรียนว่า คำพิพากษาฎีกาในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๐ บรรดาบุรพตุลาการเขียนคำพิพากษาโดยระบุความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานของโจทก์ ตามด้วยการหยิบยกข้อต่อสู้ของจำเลยในแต่ละประเด็นขึ้นมาวินิจฉัยของความบกพร่อง ความไม่น่าเชื่อถือ ชนิดที่เรียกว่า ถ้าเป็นคดีในศาลชั้นต้น จำเลยเห็นคำพิพากษาแล้วไม่อยากอุทธรณ์ฎีกาต่อไปเลย ยอมแพ้ในคำวินิจฉัยของศาล
คดีนี้ ศาลฎีกาก็ได้ยกข้อต่อสู้ของจำเลยขึ้นมาวินิจฉัยด้วย…… กล่าวคือ คดีนี้ จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า น้ำหมักที่จำเลยผลิตขึ้นมาได้จากการหมักผลไม้ เป็นอาหารเช่นเดียวกับน้ำสายชู จำเลยทำน้ำหมักเพื่อใช้ชำระล้างสารพิษตกค้าง ไม่ใช่ใช้เป็นยารักษาโรค นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า “….เป็นเพียงคำแก้ตัวที่ปราศจากเหตุผลรองรับ ทั้งไม่มีคุณค่าที่ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เลย เพราะคำว่า “บำบัด” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้ความหมายว่า เป็นคำกิริยา แปลว่า ทำให้คลาย, ทำให้หาย, ทำให้ทุเลาลง เช่น บำบัดโรค ดังนั้น การที่จำเลยตั้งชื่อและนำออกโฆษณาเผยแพร่ต่อประชาชนว่าน้ำหมักของจำเลยชื่อ “น้ำหมักมหาบำบัด” ย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่า จำเลยมีเจตนาให้ประชาชนใช้น้ำหมักที่จำเลยผลิตเป็นยารักษาโรค เพราะตาม พระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๔ (๒) บัญญัติว่า ยา หมายความว่า วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับในการบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือสัตว์ ยิ่งไปกว่านั้น ยังปรากฎว่าขวดที่บรรจุน้ำหมักมหาบำบัดของจำเลยตามภาพถ่าย ป.จ. ๔ ของศาลจังหวัดเพชรบุรี และภาพถ่ายหมาย จ. ๒ ก็มีลักษณะเป็นขวดกลมเล็ก ๆ ปากแหลมลักษณะเดียวกับขวดยาหยอดตา ลักษณะของบรรจุภัณฑ์และชื่อ “น้ำหมักมหาบำบัด” เช่นนี้ จำเลยยังบ่ายเบี่ยงเลี่ยงละความจริงด้วยการนำสืบโต้เถึยงว่า จำเลยจำหน่ายน้ำหมักมหาบำบัดของจำเลยอย่างอาหารเหมือนน้ำส้มสายชู เพื่อประโยชน์แก่การชำระสารพิษตกค้าง จึงเป็นข้อบ่งบอกว่าจำเลยพยายามกระเสือกกระสนดิ้นรนต่อสู้คดีในลักษณะเหมือนปลาหมอแถกเหงือก ยืนกรานไม่ยอมรับผิดในลักษณะกระต่ายขาเดียวเช่นนี้ ยิ่งทำให้พยานหลักฐานของจำเลยขัดต่อเหตุผล ไม่มีคุณค่าหรือน้ำหนักที่ศาลจะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้เลย ที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงเชื่อว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น….”

คดีนี้ศาลฎีกายังได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยในส่วนที่ขอรอการลงโทษ โดยศาลฎีกาเห็นว่า “….ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ จำเลยมีอายุ ๗๓ ปี นับถึงวันที่ศาลฎีกาวินิจฉัยคดีนี้ จำเลยมีอายุกว่า ๗๘ ปี นับว่าชราภาพแล้ว จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน การกระทำผิดของจำเลย โดยผลิตน้ำหมักมหาบำบัดแล้วนำออกโฆษณาเผยแพร่จำหน่ายให้ประชาชน อาจเกิดจากความเชื่อของจำเลยโดยสุจริตหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อีกทั้งโทษจำคุก ๑๘ เดือนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ก็เป็นโทษจำคุกระยะสั้น ไม่เกิดประโยชน์ต่อการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมของจำเลย การรอการลงโทษและคุมความประพฤติจำเลยไว้จะเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะลงโทษจำคุกจำเลยไปเสียทีเดียว พฤติการณ์มีเหตุอันควรปราณี สมควรรอการลงโทษให้จำเลยตามที่จำเลยฎีกา….”

ผมเห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๗๒(๔) คือ จำเลยผลิต หรือขายยาซึ่งมิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำเลยให้การต่อสู้คดีเพียงประเด็นเดียวว่า นำ้หมักที่จำเลยผลิตไม่ใช่ยา เป็นเพียงน้ำหมักเพื่อชำระล้างสารพิษตกค้าง คำวินิจฉัยของศาลฎีกาข้างต้นชอบด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายแล้ว แต่ด้วยความเคารพต่อศาล การต่อสู้ในลักษณะปลาหมอแถกเหงือก น่าจะเป็นการต่อสู้ที่จำเลยโต้แย้งแบบหลายช่องทาง เพื่อให้พ้นโทษในประเด็นเดียว เป็นการกระเสือกกระสนดิ้นรนทุกวิถีทาง เพื่อให้พ้นความผิด แบบเดียวกับปลาหมอที่ถ่างเหงือก ขยับครีบ ขยับหาง ดิ้นทั้งตัว เพื่อกระเสือกกระสนดิ้นรนให้รอดชีวิต คดีนี้จำเลยต่อสู้เพียงประเด็นเดียวว่า น้ำหมักนั้นไม่ใช่ยา แม้พยานหลักฐานของโจทก์จะหนักแน่นมั่นคง แต่จำเลยย่อมมีสิทธิในการต่อสู้คดีและใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาตามสิทธิที่กำหนดในกฎหมายวิธีพิจารณาความ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลทั่วไป ลักษณะการต่อสู้คดีของจำเลยไม่น่าจะเป็นการต่อสู้แบบปลาหมอแถกเหงือก แต่เป็นลักษณะยืนยันข้อเท็จจริงแบบกระต่ายขาเดียว หากจำเลยไม่ยืนยันข้อเท็จจริงแบบกระต่ายขาเดียว คดีคงสิ้นสุดตั้งแต่ศาลชั้นต้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคำวินิจฉัยที่รอการลงโทษจำเลย นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยอาจเกิดจากความเชื่อของจำเลยโดยสุจริตหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้จำเลยยืนยันกระต่ายขาเดียวจนกระทั่งคดีนี้ถึงที่สุดในชั้นฎีกาก็ได้

 

เจษฎา อนุจารี

image