“เพิ่มเงินเดือนตำรวจ.. เพื่อแก้ปัญหาทุจริต..” (repost)

อ่านข่าวเมื่อเช้าแล้ว ตืนเต้นและดีใจแทนตำรวจ ที่จะได้เงินเดือนขึ้น.. และดีใจแทนประชาชนชาวไทย ที่ต่อไปนี้ ปัญหาทุจริตเรียกรับเงิน หรือข่มขู่เรียกเงิน จะหมดไปจากสังคมไทย..

 

ตอนบ่าย ก็เลยพยายามหางานวิจัยทางวิชาการ มารองรับสนับสนุนความเชื่อข้างต้น ว่าขึ้นเงินเดือนแล้ว จะไม่โกง..

พบงานวิจัย ในประเทศกาน่าโดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัย Wisconsin-Medison และมหาวิทยาลัย California at Berkeley ว่า มีการขึ้นเงินเดือนให้ตำรวจของกาน่า 2 เท่า เพื่อหวังแก้ปัญหาการตั้งด่าน เรียกรับเงินจากบรรดารถบรรทุกทั้งหลาย..

#งานวิจัยบอกว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้แต่กลับมีแนวโน้วทุจริตมากขึ้น..

อ้าว.. มันยังไงกัน 55

ผมควรจะใช้ความเชื่อตามข่าวที่ฟังตอนเช้า.. ว่าขึ้นเงินเดือนแล้ว ตำรวจจะไม่เรียกรับเงิน.. แล้วสนับสนุนรัฐบาลให้ขึ้นเงินเดือนเยอะๆ..
หรือจะเชื่อความจริงจากงานวิจัย แล้วขอดูงานวิจัยของรัฐที่อ้างว่า ขึ้นเงินเดือนแล้ว ตำรวจจะไม่ทุจริตมาเปรียบเทียบกันดี..

เลยเขียนบทความนี้ เพื่อเตือนสติทุกฝ่าย.. และแม้เป็นเรื่องของตำรวจ แต่อยากให้มองภาพรวมของการทุจริตในทุกหน่วยงานของรัฐที่ทำงานมีอำนาจเกี่ยวข้องกับประชาชน..
ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ .. กรมที่ดิน.. กรมสรรพากร.. กรมศุลกากร.. กรมโยธา.. กรมโรงงาน.. อัยการ.. สำนักงานศาลยุติธรรม.. ศาล.. และกระทรวง ทบวง กรมต่างๆทุกหน่วยงานของรัฐ

งานวิจัยบอกว่า การทุจริตของตำรวจมีทั้ง เรียกรับเงินสินบน (bribery) และการข่มขู่เรียกเงิน (extortion)

และบางครั้ง ตัวแบบเดียวกัน อาจใช้ไม่ได้ผลเหมือนกันกับทุกแห่ง เช่น

ในสิงค์โปร์ เขาแก้ปัญหาตำรวจทุจริตสำเร็จด้วยการ สร้างความภาคภูมิใจในการทำงาน การขึ้นเงินเดือน และการลงโทษตำรวจที่ทุจริตอย่างรุนแรง..

แต่รูปแบบนี้ เอามาใช้ในประเทศกาน่าไม่ได้..

งานวิจัย ให้ข้อคิดว่า การแก้ปัญหาทุจริต โดยขึ้นเงินเดือนนั้น .. จะใช้แก้ปัญหานักฟุตบอลอาชีพ มิให้ล้มบอล เหมือนกับแก้ปัญหาทุจริตของข้าราชการ ได้มั้ย.. น่าคิดนะครับ

งานวิจัยบอกว่า สาเหตุที่จะคิดแก้ปัญหาทุจริตโดยการเพิ่มเงินเดือน เนื่องจาก..เชื่อว่า..

1. ตำรวจมีรายได้น้อย ไม่พอแก่ความต้องการ .. ถ้าไม่เพิ่มเงินเดือน.. เขาจะไปหาเงินเพิ่มโดยไม่ชอบ
2. ตำรวจจะไม่กล้าทุจริต เพราะผิดกฎหมาย ถ้าถูกจับจะถูกลงโทษทางวินัย และทางอาญา..

เขาบอกว่า ความเชื่อนี้อาจผิดพลาด เพราะ อัตราการถูกดำเนินคดีตำรวจที่ทุจริตในประเทศกาน่า มีน้อยมากๆ

ส่วนนี้ ตรงกับทฤษฎีอาชญาวิทยา ของ ซีซ่าร์ เบคคาเรีย ครับ.. ที่มีแนวคิดว่า คนจะไม่ทำผิด หากทำแล้วเกิดผลเสีย มากกว่าผลดี..
เงิน คือประโยชน์ที่ได้จากการทำผิด.. คงไม่คุ้มค่า ถ้าหากว่าถูกจับติดคุก..

แต่ถ้าโอกาสเสี่ยงจะไม่ถูกจับมีมากกว่า.. ก็จะได้เงินอย่างเดียว.. ถ้าเขาเชื่อแบบนี้ เขาจะเลือก ทุจริต

นอกจากนี้ ทฤษฎีทุจริต มี 2 ทฤษฎี ได้แก่

#ทฤษฎีทุจริต 3 เหตุปัจจัย

ทฤษฎีแรก กล่าวว่า ปัจจัยที่บุคคลจะกระทำทุจริตมี 3 เหตุปัจจัย ได้แก่

1. แรงกดดัน (pressure)
หมายถึง เขามีความจำเป็นต้องใช้เงิน
2. ข้ออ้าง (rationalization)
หมายถึง เขามีข้ออ้างว่า มีเหตุผลที่จะทำ เช่น เพื่อความสุขของครอบครัว
3. โอกาส (opportunity)
หมายถึง เขามีโอกาสที่จะทำ เช่น พบปะผู้กระทำความผิด ไม่มีคนเห็น

#ทฤษฎีทุจริต 4 เหตุปัจจัย

ทฤษฎีนี้ กล่าวว่า เหตุปัจจัยในการทำทุจริตมี 4 เหตุปัจจัย ได้แก่..

1. มีแรงจูงใจ (incentive)
หมายถึง มีความอยากมีอยากได้
2. รู้ว่าต้องทำยังไง (capability)
หมายถึง มีทักษะ มีความรู้ในการทุจริต
3. มีข้ออ้าง (rationalization)
4. มีโอกาส (opportunity)

#แนวทางแก้ไขปัญหาทุจริต
ต้องทำลายเหตุปัจจัย หรือป้องกันเหตุปัจจัยมิให้เกิด ทั้ง 3-4 ข้อดังกล่าว..
แค่ทำได้เพียงข้อเดียว..ก็แก้ปัญหาทุจริต corruption ทั้งหมดได้แล้วครับ..

“โอกาสในการทุจริต” เป็นปัจจัยสำคัญนะครับ.. โอกาส ทำคนเลวให้เป็นคนดีได้.. แต่ในกรณนี้ โอกาส ก็ทำคนดีให้เสียได้เช่นกัน..

วิธีการป้องกันที่ได้ผลดี จะเน้น การตัด “โอกาส” มากกว่า เน้นการสร้างระบบตรวจสอบก่อนการกระทำความผิดเสียอีก..

เช่น การบริหารจัดการไม่ให้เงินมาอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ๆไม่เกี่ยวข้อง เช่น การจ่ายค่าปรับ ทางบัตรเครดิต หักบัญชีผ่าน QR Code หรือทางไปรษณีย์ เป็นต้น

ดูตัวอย่างได้จากหน่วยงานปราบโกงของ Hong Kong ชื่อ “ICAC” ที่เน้นให้ความรู้กับหน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อป้องกัน จนประสบความสำเร็จมากมาย..
ไทยเราก็ไปศึกษารูปแบบองค์กรของเขามาก่อตั้งหน่วยงานปราบโกงในไทย ชื่อว่า ปปช…
แม้ว่า เราจะทำให้สำเร็จแบบเขาไม่ได้ก็ตาม ..

ตำราฝรั่ง กล่าวถึง ทฤษฎีหนึ่ง.. ท่านเคยได้ยินมั้ยครับ.. ชื่อ “ทฤษฎีลูกแอปเปิ้ลเน่า” (rotten apple) ..

เขาบอกว่า แอปเปิ้ลเน่าๆ เพียงลูกเดียว.. อาจทำให้ลูกแอปเปิ้ลในตะกร้า เน่าได้ทั้งหมด..

นั่นคือ ถ้าคนไม่ดี มาอยู่ในหมู่คนดี.. อาจทำให้เสียหายไปทั้งหน่วย..

ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาของเหล่าข้าราชการที่ทุจริตประพฤติมิชอบ.. ต้องคอยสอดส่องนะครับ..
ถ้าละเลย.. ไม่จัดการกับคนไม่ดีอย่างเด็ดขาด.. จะทำให้คนอื่นในหน่วยงานเดียวกันเห็นว่าเป็นเรื่อง ปกติธรรมดาที่จะเรียกรับเงินแล้ว..

ถึงภาวะนั้น เขาเรียกว่า “blue wall” คือทุกคนเงียบเฉยกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง..

เทียบได้กับ.. ลูกแอปเปิ้ลเน่าๆแล้วหลายลูกในตะกร้า.. จะพลอยทำให้ลูกแอปเปิ้ลส่วนน้อยที่ดีๆ.. ต้องเน่าตามไปด้วย..

นี่เสียทั้งระบบ.. เน่าทั้งองค์กรเชียวนะ.. และเป็นเรื่องยากมาก ที่จะกู้ภาพลักษณ์ และศรัทธาของประชาชน กลับคืนมาได้..

ในส่วนตัวผมเอง เห็นว่า การขึ้นเงินเดือนให้ตำรวจ และข้าราชการ มีแต่ข้อดีครับ..
เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเงินเดือนในภาคเอกชนแล้วแตกต่างกับงานราชการมาก..

ถ้าเงินเดือนตำรวจน้อยกว่าหน่วยงานอื่น ที่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน..
รัฐต้องขึ้นเงินให้เขา. อย่าให้ลักลั่นกันมาก..เพื่อไม่ให้ผู้ปฎิบัติงานเสียกำลังใจ.และความภูมิใจในการทำหน้าที่..

ถ้าเงินเดือนตำรวจน้อยเกินไป จนกระทบต่อการใช้ชีวิตตามปกติข้าราชการตำรวจที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี.
รัฐต้องขึ้นเงินเดือนเขาให้เพียงพอตามความเหมาะสมแก่ฐานานุรูป..

ถ้าเงินเดือนตำรวจน้อยกว่า ความคุ้มค่าในเนื้องานที่ต้องเสี่ยงภัย.. รัฐต้องขึ้นเงินเดือนให้เขาเพราะมีเหตุผลพิเศษ..

แต่การขึ้นเงินเดือนให้.. ด้วยความเชื่อเพื่อหวังจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้นี่.. ผมว่า คงต้องทบทวนเหตุผลใหม่..

นักธุรกิจมีรายได้หลักหลายล้านยังทุจริต เป็น White Collar Crime ได้..

ข้าราชการระดับสูง เงินเดือนหลายหมื่นหรือหลักแสน.. ก็ยังทุจริตได้..

นักการเมือง ได้รับการยอมรับในตำแหน่งหน้าที่ระดับสูง..ก็ยังโกงได้

แล้วทำไมคนจน คนเก็บขยะขาย คนหาเช้ากินค่ำตั้งมากมาย.. เขาเป็นคนดี ไม่เคยคดโกงใคร..ทำไม..

ปัญหาลึกๆ.. อยู่ที่รายได้ .. หรือจิตสำนึก..กันแน่..

เวลาผมสอนทฤษฎีทุจริต และสาเหตุของการทำผิดในวิชาอาชญาวิทยา
ผมมักจะถามผู้เรียนว่า ..

“นักศึกษารู้มั้ยว่า เหตุปัจจัย ที่สำคัญกว่า Incentive และ pressure (แรงจูงใจและแรงกดดัน) ในการกระทำความผิดคืออะไร ..รู้มั้ยครับ.. ที่ฝรั่งเอง ยังไม่มีทฤษฎีรองรับ..

.. มันคือ “กิเลส” ยังไงล่ะครับ”

ดังนั้น ปัญหาทุจริต จะแก้ให้เบ็ดเสร็จเลย คงเป็นไปไม่ได้..
แต่การจะแก้ปัญหาให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญได้..ต้องดูเหตุปัจจัย และแก้ไขที่ต้นเหตุครับ..ถึงจะถูกต้องและยั่งยืน..

รัฐจะขึ้นเงินเดือนให้เท่าไหร่ผมเห็นดี และสาธุด้วยทั้งหมด..เพราะรายได้มากขึ้น ย่อมดีกว่ารายได้น้อยแน่นอน 55..
แต่รัฐต้องแก้ปัญหาทุจริตโดยใช้องค์ความรู้ทางวิชาการด้วย.. ไม่ใช่ใช้ความเชื่อ..เพราะการขึ้นเงินเดือนกับการแก้ปัญหาทุจริต เป็นคนละเรื่องกัน..

ลองศึกษางานวิจัยต่างประเทศ และจ้างทำวิจัยในไทยดูสัก 2-3 ชิ้นก่อนมั้ยครับ.. จะได้ตอบคำถามของสังคมได้ชัดเจนขึ้น..

ท้ายนี้ ขอฝากคำพูดของ Professor. Ransford Van Gyampo อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาน่า ท่านกล่าวไว้ว่า..

“แม้มหาสมุทรจะกว้างใหญ่เพียงใดก็ตาม.. ก็ยังพร้อมที่จะรองรับน้ำฝนได้”

“In spite of how big the sea is, it still receives rains.”

“.. และแม้ฝนจะตกลงมามากแค่ไหน ก็ยังไม่พอใส่ในมหาสมุทรด้วย.. เพราะนี่คือ กิเลสลึกๆ ของมนุษย์ทุกคน.. มัน ถมไม่เต็ม..”

ประโยคสุดท้ายนี่ ผมเพิ่มเข้าไปเองนะครับ .. ท่าน professor ไม่ได้พูด..555

 

ธีร์รัฐ บุนนาค

อ้างอิง
: “The Wages of Sin”, ลงใน The Economist, 28 Jan 2016

“Do higher salaries lower petty crime? A policy Experiment on West Africa’s Highways.” , Cega.berkeley.edu., 13 May 2015,
Jeremy D. Foltz (U. of Wisconsin-Medison), Kweku A. Opoku-Agyemang (U.of California at Berkeley).