. เวลานั่ง เมื่อมีความไม่สบายเกิดขึ้น ก็จงตรวจตรองดูว่ามันเกิดจากอะไร
อย่าเอาใจไปเป็นทุกข์เดือดร้อนกับอาการเหล่านั้น
ส่วนใดไม่สามารถเป็นไปได้อย่างที่เรานึกคิดก็อย่าไปกังวลมัน ปล่อยไป
เพราะสังขารร่างกายนี้มีสภาพเหมือนกันหมดทุกรูปทุกนาม ไม่ว่าคนหรือสัตว์ คือจะต้องตกอยู่ในการที่ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และบังคับบัญชาไม่ได้

ฉะนั้น ส่วนใดที่สามารถเป็นไปตามนึกคิด เราก็อยู่ในส่วนนั้นและรักษาไว้ อย่างนี้เป็น ธมฺมวิจย คือความเลือกสรรในส่วนดี

ร่างกายเรานี้ก็เปรียบเหมือนกับต้นไม้ ต้นหนึ่ง ๆ มันจะมีส่วนดีทุกอย่างไปหมดทั้งต้นย่อมไม่ได้

บ้านเรือนของเรา ที่ใดกระดานมันผุพังก็อย่าไปนั่งนอนในที่นั้น ที่ใดดีก็เลือกหาเอา และนั่งนอนในที่นั้นก็แล้วกัน

ใจเราไม่ต้องไปเดือดร้อนวุ่นวายกับสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้                               ………. ………..

. งานสมาธิ คือใจที่ตั้งอยู่ในความสงบ สมาธิกรรมฐานคือทำใจให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งและมีสติสัมปชัญญะเป็นผู้ตรวจตรอง คือวิตกวิจาร

ถ้าวิตกวิจารของเรามันน้อย ผลแห่งความสงบก็มีน้อย หรืองานของเรามันหยาบ เราก็ได้ผลหยาบ
ถ้างานของเราละเอียด ก็ย่อมได้ผลละเอียด

ผลหยาบนั้นใช้การอะไรไม่ใคร่จะได้ดี ถ้าผลละเอียดแล้ว คุณภาพมันก็สูงสามารถจะใช้การอะไร ๆ ได้ทุกอย่าง

เปรียบเหมือนกับละอองปรมาณู ที่ลอยอยู่ในอากาศ ย่อมสามารถจะแทรกซึมเข้าไปในภูเขาหรือต้นไม้ก็ได้
ของหยาบนั้นคุณภาพต่ำ และใช้ก็ยาก บางทีเอาไปแช่น้ำทั้งวันก็ยังไม่ค่อยจะเปื่อย
ส่วนของละเอียดนั้นเพียงถูกละอองน้ำหรือความเย็นชื้นเข้านิดเดียวก็ละลายฉันใด
คุณภาพของงานสมาธิก็เช่นเดียวกัน

เมื่อวิตกวิจารของเราเป็นไปโดยละเอียดรอบคอบ ความสงบของเราซึ่งเป็นผลของงานสมาธิก็ย่อมจะมีมากขึ้น
ถ้าวิตกวิจารของเราหยาบ ความสงบก็มีน้อย ร่างกายก็มักจะปวดเมื่อย ใจคอไม่สบาย ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด
ถ้าความสงบมีมากร่างกายก็จะมีความสุขร่มเย็น ใจก็โปร่งโล่ง เวทนาก็หายไป ธาตุในตัวก็เป็นปรกติ ร้อนก็ไม่ร้อนจัด เย็นก็ไม่เย็นจัด อุ่นก็อุ่นพอดี และถ้างานของเรานี้เสร็จลุล่วงไปเมื่อใด
เมื่อนั้นเราก็จะได้ผลเป็นความสุขอย่างยิ่ง (คือพระนิพพาน)

จากหนังสือ ท่านพ่อลีสอนกรรมฐาน หน้าที่ ๙๘ ,หน้าที่ ๙๙
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
๖๑.๐๘.๑๕