ำพระพุทธเจ้านั้นได้สอนพวกเราให้มีขันติคือความอดทน
อดทนต่อความลำบาก
อดทนต่อความตรากตรำ
อดทนต่อความเจ็บใจ

เพราะว่าการที่เราจะมาปฏิบัติคุณความดีนั้นมันมีมารมาก
มารทั้งหลายก็เยอะแยะนับไม่ถ้วน มันต่างประดังกันเข้ามาที่จะมาต่อสู้กับเรา
เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีขันติคือความอดทน

อดทนต่อความลำบาก มันก็จำเป็นที่จะต้องลำบากในการที่เราจะมีชีวิตอยู่นั้นจำเป็นต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ตลอดจนกระทั่งเราก็ต้องติดต่อกิจการงานต่าง ๆ มากมาย
เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะต้องอาศัยความอดทนต่อหน้าที่การงานที่เราจะทำขึ้นมา
อย่างเราทำสมาธิหรือเราทำจิตของเราเป็นสมาธิเราก็ต้องใช้ความอดทน
ความอดทนเป็นสิ่งที่เราจะต้องมีเอาไว้
ทีนี้ความอดทนนั้นจะอดทนขึ้นมาได้ก็ต้องอาศัยศรัทธา
เรามีความศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใสแล้วเราก็สามารถอดทนได้ แม้ว่าความลำบากมันจะเกิดขึ้นเพียงไร

ความอดทนต่อความตรากตรำนั้นเราไม่ใช่ว่าเราจะมาทำบุญทานการกุศล ทำวันเดียวก็เสร็จไม่ใช่อย่างนั้น เราจะต้องทำของเราตลอดชั่วชีวิตของเรามีอยู่
เมื่อมีโอกาสอะไรแล้วเราก็มาสร้างคุณงามความดีอันนั้นให้แก่ชีวิตของเรา
เราทำวันนี้ เราทำวันต่อไป เราทำไปเรื่อย ๆ เรียกว่าตรากตรำ
อดทนต่อความตรากตรำ เมื่อทำไปมากเข้าเราก็สามารถที่จะทำให้บุญกุศลเป็นกอบเป็นกำขึ้นมาได้

อดทนต่อความเจ็บใจ อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ
ที่ว่าเรามาทำบุญทานการกุศลนั้นก็มีคนกล่าวขวัญนินทาต่าง ๆ นานาสารพัดย่อมเกิดขึ้น
ถ้าหากว่าเราไปถือว่าความนินทาต่าง ๆ นั้นเป็นสาระแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะทำความดีต่อไปได้
เราจะต้องวางจิตเป็นอุเบกขา วางจิตเป็นอุเบกขานั้นคือหมายความว่าอภัย อภัยให้แก่ทุกคน
เมื่อเราจะทำความดีแล้วเราก็ไม่ควรที่จะยึดถือในสิ่งที่ไร้สาระ
เราตั้งหน้าตั้งตาทำความดี จิตใจของเราก็ไม่หวั่นไหว

“ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะติ” เมื่อมีโลกธรรมมากระทบถูกต้องแล้วเราก็ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมนั้น

เพราะว่าตามธรรมดาชีวิตของคนเรานั้นบางทีมันก็มีดี บางทีมันก็มีไม่ดี
เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ได้อาศัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นแนะนำไว้ว่างามอะไรมันงามดีนัก

อะไรถึงเรียกว่างามแท้
“อาทิกัลยาณัง” งามในเบื้องต้นก็คือศีล
“มัชเฌกัลยาณัง” งามในท่ามกลางก็คือสมาธิ
“ปะริโยสานะกัลยาณัง” งามในที่สุดก็คือปัญญา

เราท่านทั้งหลาย การที่เราเกิดมาแล้วมีร่างกายสมบูรณ์บริบูรณ์พร้อมทั้งพบพระพุทธศาสนานั้นมันเป็นลาภอันประเสริฐ

จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๒ หน้าที่ ๑๓
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา

๖๐.๑๑.๒๙