สักกายทิฏฐิ ….คิดว่าตัวเองใหญ่กว่าใคร ..แท้จริงคือกิเลสในตัวตน
พระโสดาบันนี่ทำสมาธิถึงจุดพลังอำนาจ แล้วท่านสามารถฆ่ากิเลสได้ตัวสำคัญ
คือพระโสดาบันนี่จะละกิเลสได้ ๓ กอง คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
สักกายทิฏฐินั้นน่ะหมายความว่าถือว่าเรานี่ใหญ่กว่าใครทั้งนั้น ใครก็สู้เราไม่ได้
แต่แท้ที่จริงมันไม่ใหญ่เพราะว่ามันมีกิเลสเยอะ
ทีนี้สักกายทิฏฐินี่จะละทิฏฐิได้ก็ต่อเมื่อเป็นพระโสดาบัน
พระโสดาบันนี่ท่านจะมีความเข้าใจแล้ว ท่านเปรียบเหมือนกับยอดเพชรหรือเข็ม
จิตของพระโสดาบันที่ว่าเป็นเหมือนกับยอดเพชรหรือว่าเป็นเหมือนกับเข็มนี่ เข็มนี่มันแหลม แหลมแล้วมันจะไปได้ทุกเส้นของเนื้อผ้า มีเนื้อผ้าที่ไหนมันแล่นไปได้หมดเพราะว่ามันแหลมคม
แล้วจิตของพระโสดาบันบรรลุถึงจุดพลังอำนาจ เมื่อบรรลุถึงจุดพลังอำนาจแล้วนี่มันจะไปฆ่าตัวสักกายทิฏฐิ ไอ้ที่ถือว่าตัวเรานี่ใครก็สู้ไม่ได้
เพราะว่าตัวตรงนี้นี่เป็นด่านสำคัญที่จะไปเข้าสู่อริยะเจ้าในอันดับต่อไป
ถ้าผ่านตรงนี้ไม่ได้นี่ก็พูดไปแต่ปาก มันเป็นไปไม่ได้
แต่ถ้าหากว่าเป็นจริง ความเป็นจริงมันต้องเป็นขึ้นจากการทำสมาธิ
สมาธิแล้วต้องมีพลังจิต
พลังจิตจะต้องถึงจุดพลังอำนาจ
เมื่อถึงจุดพลังอำนาจแล้วจิตดวงนี้จะมีความเชื่อมั่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ต่อไปสีลัพพตปรามาส ความลูบคลำ ความงมงาย
ความลูบคลำ ความงมงายนี่หมายความว่าเราขาดสติปัญญา
มนุษย์ทั้งหลายนี่เมื่อภัยมาถึงตนแล้วเขาจะเกิดความเชื่อเหลวไหล เขาเรียกว่าสีลพตปรามาส
พระโสดาบันนี่ไม่ใช่ว่าละกิเลสราคะความกำหนัดยินดี โทสะความโกรธ โมหะความหลง ของพระโสดาบันยังมีอยู่เต็ม
แต่ว่าพระโสดาบันจะถึงจุดพลังอำนาจที่ว่าทำลายสักกายทิฏฐิ
การทำลายสักกายทิฏฐินี่มันเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด
เพราะว่าคนเรานี่โดยมากพอได้อะไร พอทำจิตไปถึงอะไรอย่างนี้ ถึงไหนถึงความลึกซึ้งหน่อยมันก็หลงตัว
พระอาจารย์หลวงปู่มั่นท่านอุปมาให้หลวงพ่อฟังว่ามีจระเข้ตัวหนึ่ง จระเข้ตัวนั้นมันใหญ่โพด มันอยู่ในทะเล มันใหญ่โพด มันเลยไม่รู้หางมันว่าเป็นหางใคร มันก็เลยกินหางมัน แล้วในที่สุดพอมันกินหางมันแล้วกินเข้า ๆ ถึงหัวขม่ำเลย เลยหมดความเป็นจระเข้เพราะมันใหญ่โพด นี่คือสักกายทิฏฐิ
การทำสมาธินี่ต้องสร้างพลังจิตของเราให้ถึงจุดพลังอำนาจ
อย่างไรก็ตามเมื่อเรายังทำไม่ถึงพยายามไป
เมื่อความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จก็อยู่ที่นั่น
จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๓ หน้าที่ ๑๕๒
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)
สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา
๖๐.๑๑.๐๔
ใส่ความเห็น