ความอดทนนั้นมีประโยชน์อย่างไร
ความอดทนนั้นมีประโยชน์อย่างไร
อดทนนั้นมีอยู่สามอย่าง คืออดทนต่อความลำบาก อดทนต่อความตรากตรำ อดทนต่อความเจ็บใจ
อดทนต่อความลำบาก เราจะทำสมาธิภาวนา เราจะทำบุญทานการกุศล เราจะความดีช่วยเหลือคนยากจน เราจะทำความดีช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ชาติเหล่านี้ เรียกว่าการกระทำเหล่านี้แม้จะเป็นความลำบากแต่ก็ได้ความดีเป็นศรีแก่ตัว
ถ้าหากว่าเราไม่อดทนเราก็ทำสิ่งนี้ไม่ได้
เมื่อทำไปแล้วนี่มันก็จะต้องทำอีก ไม่ใช่ว่าทำวันนี้แล้วก็แล้วกัน เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าอดทนต่อความตรากตรำ
อดทนต่อความเจ็บใจ การที่คนเราอยู่ด้วยกันเหมือนกันกับดาบ มันอยู่ฝักเดียวกัน มันก็กระทบกันกรุ้งกริ้ง ๆ มันเป็นของธรรมดา
แต่ทีนี้เมื่อเราไม่มีความอดทนแล้วมันก็ไม่ธรรมดา มันก็ทำให้เกิดการวิวาท มันทำให้เกิดความไม่เข้าใจ เกิดความอาฆาต แล้วก็เกิดการต่อสู้
เมื่อเกิดการต่อสู้ขึ้นก็ต้องมีฝ่ายแพ้ ฝ่ายชนะ
เมื่อชนะก็ก่อเวร เมื่อแพ้ก็เสียทรัพย์
เมื่อเกิดการต่อสู้ เกิดการพ่ายแพ้ขึ้นก็ไม่ยอมกัน
เมื่อไม่ยอมก็ผูกพยาบาทอาฆาตจองเวร มันก็ไม่มีที่สิ้นสุด
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงแนะนำว่า “ขันติ ธีรัสสะ ลังกาโร” คนที่จะเป็นนักปราชญ์ต้องมีความอดทน
อดทนต่อความเจ็บใจ แม้ว่ามันจะไม่ถูกใจของเราเท่าไหร่แต่เราก็เสียสละ สลัดทิ้ง อภัยให้แก่กันและกัน อย่างนี้เป็นต้น
ถ้าหากว่าทำได้อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นนักปราชญ์ แต่ตรงกันข้ามถ้าทำไม่ได้อย่างนี้เขาเรียกว่าคนพาล
ธรรมดาคนพาลนั้นไม่มีการรับผิด ไม่มีเหตุผล เอาสีข้างเข้าถู โดยที่ว่าฉันนี่ถูกตลอดไปทั้ง ๆ ที่ผิด
บัณฑิตถือว่าเป็นผู้ที่มีความฉลาด และเป็นผู้ที่รักความสงบ
เมื่อเป็นเช่นนั้นบัณฑิตก็จะต้องใช้ความอดทน แล้วความอดทนนั้นก็ไปสำเร็จได้ในอนาคต
คนเรานั้นเมื่อมีความอดทนหนึ่ง อดทนสอง อดทนสาม ความสำเร็จก็รออยู่ข้างหน้าคือความสงบสุข
เมื่อไม่มีความอดทน ต่างคนก็ต่างใช้พละกำลังต่อสู้กัน ความแตกแยกความสามัคคีก็เกิดขึ้นในหมู่คณะนั้น
ความแตกแยกเกิดขึ้นในหมู่คณะนั้นเขาจะไม่สามารถรักษาความเป็นอิสระภาพได้ เขาจะต้องเกิดความแตกแยกสลายตัวไปในที่สุด
ความแตกแยกของความสามัคคีนั้นทำให้หมู่คณะฉิบหายวายวอด เกิดความล่มจม
เพราะฉะนั้นขันติจึงเป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายจะต้องมีอยู่ในตัวของเรา
จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๓ หน้าที่ ๔๙
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)
สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา
๖๐.๑๐.๐๘
ใส่ความเห็น