เมื่อท่านทั้งหลายเกิดมาแล้วต่างคนก็ต่างมีอิสระ ต่างคนก็ต่างมีความเป็นตัวของตนเองสามารถที่จะตัดสินใจได้ว่าเราจะทำอะไร

เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าเราเป็นมนุษย์ที่มีความสามารถสูงสุดในโลก
เพราะว่ามนุษย์นั้นมีความเฉลียวฉลาด

แต่ถ้าหากว่าการใช้ความเฉลียวฉลาดไปในทางที่ผิด ก็ถือว่าเราได้เสียความเป็นมนุษย์ไป
แต่ถ้าหากว่าเราพากันใช้ความเฉลียวฉลาดไปในทางที่ถูกต้องเราก็ได้ชื่อว่ามนุษย์เต็มที่

เพราะฉะนั้นท่านจึงแบ่งมนุษย์ว่ามีหลายประเภทด้วยกัน
ร่างกายเป็นมนุษย์แต่หัวใจเป็นเปรต อย่างนี้เขาเรียกว่า “มะนุสสะเปโต”
เป็นมนุษย์เสียเปล่าแต่จิตใจนั้นเป็นเปรต คำว่าเปรตนั้นคือกินไม่เลือก หมายความว่ามันจะทุจริต จะคดโกง จะทำอะไรต่าง ๆ สามารถทำได้ เขาเรียกว่าพวกเปรต

แล้วมนุษย์บางพวกนั้นเขาเรียกว่า “มะนุสสะเดรัจฉาโน” มะนุสสะเดรัจฉานโนนั้นแปลว่าร่างกายเป็นมนุษย์แต่ใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน พวกนี้มีความเหี้ยมโหดทารุณโหดร้าย ใช้กำลังต่อสู้กัน ฆ่าฟันกัน แทงกัน ปล้นสะดมอะไรพวกนี้

พระองค์ก็ตรัสต่อไปว่า “มะนุสสะเทโว” ร่างกายเป็นมนุษย์จริงแต่ใจเป็นเทวดา
คำว่าเทวดานั้นคือผู้ที่เสวยสุขอยู่ในชั้นสวรรค์ มีความเป็นสุข มีอาหารเป็นทิพย์ มีบ้านเป็นทิพย์ มีสิ่งต่าง ๆ ต้นไม้ก็เป็นทิพย์
คำว่าเป็นทิพย์นั้นก็คืออธิษฐานเอาได้
มนุสสะเทโว ร่างกายเป็นมนุษย์แต่ว่าใจเป็นเทวดาไปซะแล้ว เพราะว่าเขาเป็นผู้ที่รู้จักบุญกุศล ส่วนใดที่จะช่วยสาธารณะประโยชน์ได้ ส่วนใดที่จะสร้างวัดวาอาราม เจดีย์มหาเจดีย์อะไรเหล่านี้ หรือถวายสังฆทาน หรือใส่บาตร หรือจำศีลภาวนา ก็ได้ถือว่าเป็นมะนุสสะเทโว ร่างกายเป็นมนุษย์จริงแต่จิตใจเป็นเทวดาซะแล้ว

“มะนุสสะมะนุสโส” นี่ถือว่ากายเป็นมนุษย์ใจก็เป็นมนุษย์ด้วย คนจำพวกนี้เขามีรู้จักช่วยเหลือบุคคลผู้อื่น ใครตกทุกข์ได้ยากหรือใครมีการงานอะไรที่ไหนก็ไปช่วย เช่นในปัจจุบันนี้มีการช่วยสังคม เป็นต้นว่า สังคมนี้เป็นสังคมที่ช่วยอุทกภัย สังคมนี้เป็นสังคมที่ช่วยคนยากจน สังคมนี้เป็นสังคมที่ช่วยให้บุคคลทั้งหลายมีความเจริญ อย่างนี้

เราท่านทั้งหลายถ้าเราอยู่ในพระพุทธศาสนาแล้วเราก็เป็นความที่มีโชคดีที่พระองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า “กิจโฉ มะสุสสะปฏิลาโภ” การเกิดมาเป็นมนุษย์นี้มันเป็นโชคดีที่สุดแล้ว
ถ้าเราไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานท่านทั้งหลายลองคิดเอาก็แล้วกันว่ามันจะเป็นยังไง พูดก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ มันทำสมาธิก็ไม่ได้ จะทำอะไรให้ยิ่งขึ้นไปอะไรก็ไม่ได้ นอกจากว่าเกิดแล้วก็ตายไปเปล่า ๆ อย่างนี้

จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๔ หน้าที่ ๒๙๘
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา

๖๐.๐๙.๒