พระพุทธเจ้าตรัสว่าต้นคดปลายตรง ก็ยังดี
ต้นตรง ปลายตรง ก็ยิ่งดีมาก
ถ้าต้นคด ปลายคดก็ไม่ไหวแล้ว
คือหมายความว่าหน้าที่เราเสียหายตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงนาทีสุดท้ายก็ถือว่าผิด

ทีนี้คนที่เจริญตั้งแต่เล็กจนกระทั่งแก่เฒ่าก็ถือว่ายากที่จะเกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้นงานต่าง ๆ นี่จะต้องมีสติหรือมีสมาธิ จะเป็นการผิดพลาดที่น้อยลงไป

สมาธิทำให้เกิดสติ

เพราะฉะนั้น ถ้าเราต้องการอยากจะให้มีสติเราก็ต้องทำสมาธิ

เหมือนกันกับเราต้องการอิ่มเราก็ต้องรับประทานอาหาร ถ้าไม่รับประทานอาหารมันก็อิ่มไม่ได้
สมาธิเท่ากับว่ารับประทานอาหาร
สติเท่ากับความแข็งแรงของร่างกาย
ฌานเท่ากับว่ารสอาหาร มันเป็นอย่างนั้น

เวลาที่เราทำสมาธินี่มันจะมีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นกับเราคือฌาน หนีไม่พ้น
เหมือนกันกับว่ารสอาหารที่เรารับประทาน หนีไม่พ้น ว่าบางครราวมันจะอร่อย บางคราวมันก็ไม่อร่อย
คือถ้าหากว่าครั้งไหนไม่อร่อยก็ไม่ใช่ว่าไม่มีประโยชน์ ไม่อร่อยแต่ก็มีชีวิตได้ อร่อยก็มีชีวิตได้

เหมือนกันกับเราทำสมาธิ ทำสมาธิบางครั้งมันก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ก็เรียกว่าฌานมันไม่ค่อยจะมี มีนิดหน่อย
บางครั้งมันก็ทำได้ดีก็เรียกว่าเรามีฌานได้ดีมากขึ้น
การที่มันอร่อยขึ้นมานี่ก็เป็นเรื่องที่ชวนรับประทานต่อไปแต่ว่าประโยชน์มันไม่มาก
อร่อยก็จริงแต่ประโยชน์ไม่มาก ประโยชน์มากอยู่ที่อาหารเข้าไปในท้อง

เหมือนกับเราทำบุญ เวลาทำบุญไปแล้วนี่มันก็จะไปเป็นเขาเรียกว่า “นิสสะยะปัจจะโย อุปะนิสสะยะปัจจะโย”
เป็นนิสัยและอุปนิสัย

เมื่อทำบุญมากเข้าเป็นกลุ่มเป็นก้อนเขาเรียกว่าเป็นพลัง เขาเรียกว่าพลังแห่งบุญ

พลังแห่งบุญที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นี่ พลังแห่งบุญนี่จะทำเราให้ถึงสวรรค์ก็ได้ จะทำเราให้ถึงนิพพานก็ได้

จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๔ หน้าที่ ๒๕๙
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา

๖๐.๐๙.๐๕