สิ่งต่าง ๆ ที่เรียกว่าสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี สิ่งที่เรียกว่าเป็นธรรมชั้นต่ำก็ดี ชั้นกลางก็ดี ชั้นสูงก็ดี เราจะเลือกเอานั้นเราก็เลือกไม่ได้

เพราะว่าใจของคนเรานั้นได้สะสมอะไรมาบ้าง บางคนอาจจะสะสมมาเยอะ บางคนก็อาจสะสมมาซักนิดหนึ่ง บางคนก็อาจสะสมมามากหน่อย

แล้วคนที่เกิดขึ้นมาก็ต้องมาต่อยอดว่าเมื่อเราทำความดีไว้เท่านี้แล้วเราก็ต่อยอดของเราไป
การที่จะต่อยอดนั้นก็ต้องต่อยอดให้ถูกจังหวะ ถ้าหากว่าไม่ถูกจังหวะเราก็ต่อไปไม่ได้

ความดีนั้นจะสะสมเอาไว้ตรงกันข้ามความชั่วก็สะสมไว้ได้เช่นเดียวกัน

สมถะคือความสงบ ความเยือกเย็น ความสบาย ความเอิบอิ่ม ความประทับใจ ความซาบซึ้ง เหล่านี้ล้วนเกิดจากสมถะ

วิปัสสนานั้นคือการละ ไม่เอาแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ อนัตตาไม่ใช่ตัวตน ร่างกายนี้ประกอบด้วยสิ่งสกปรก
เพราะฉะนั้นท่านผู้ดำเนินวิปัสสนาจึงพิจารณาเห็นจริงแจ้งประจักษ์ว่าร่างกายของคนเรานี้เป็นเพียงธาตุทั้ง ๔
เมื่อเป็นเช่นนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นอันว่าเบื่อหน่ายไปทั้งสิ้น
เมื่อเบื่อหน่ายมากเท่าไหร่นั้นก็คือวิปัสสนาได้เจริญแก่กล้าขึ้นเท่านั้น ตรงข้ามกับสมถะ

สมถะนั้นจะต้องอยู่ด้วยความสุข สมถะนั้นจะต้องอยู่ด้วยความปีติ สมถะนั้นจะต้องอยู่ด้วยความประทับใจ สมถะนั้นจะต้องอยู่ด้วยความซาบซึ้ง อย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้นในพื้นฐานของจิตใจนั้นโดยมากก็จะอยู่ที่สมถะนี้เป็นจำนวนมาก
ดั่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสว่า “อัปปะกา เต มนุสเสสุ เย ชนา ปาระคามิโน”
คนที่จะดำเนินวิปัสสนาข้ามพ้นจากวัฏฏะนั้นมีน้อยนิด
ส่วนคนที่ยังอยู่ในสมถะนั้นมีมากมหาศาล

เพราะฉะนั้นคนส่วนมากควรจะได้รับประโยชน์จากสมถะให้เต็มที่
หมายความว่าถ้าเรารู้จักวิธีการทำสมถะให้เกิดขึ้นแก่เราแล้วเราจะได้เขาเรียกว่า อริยทรัพย์

เรามีโอกาสที่จะสร้างอริยทรัพย์ให้แก่ตัวของเราก็คือสมถะ
สมถะนั้นถ้าจะพิจารณาให้ดีแล้วก็คือการสร้างพลังจิตนั่นเอง
การทำสมาธิทุกครั้งก็คือการผลิตพลังจิต
เมื่อผลิตพลังจิตมาแล้วพลังจิตนั้นแหละก็จะกลายเป็นพื้นฐานของจิต
เมื่อกลายเป็นพื้นฐานของจิตก็เท่ากับว่าสะสมอริยทรัพย์

จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๔ หน้าที่ ๒๒๔
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา

๖๐.๐๘.๒๗