“โกธัง ฆัตตะวา สุขัง เสติ”
ถ้าบุคคลใดฆ่าความโกรธได้จะเป็นสุข

ต้องเข้าใจว่าความโกรธนี่มันทำให้มีความพยาบาท

ความโกรธนี่เกิดขึ้นจากอะไร

เกิดขึ้นจากความไม่พอใจ แกมันพวกของฉัน แกมันพวกคนนี้ แกมันพวกคนนั้น แล้วแกก็จะต้องแพ้ ฉันก็ต้องชนะ แกต้องชนะ ฉันต้องแพ้ อะไรมันก็ต้องสู้กัน
เพราะฉะนั้นความโกรธตัวนี้จึงเป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ของการที่จะอยู่ในครอบครัว ของการที่เราจะอยู่ในสังคม ของการที่เราจะอยู่ในประเทศชาติ ของการที่เราจะอยู่ในโลก จำเป็นที่จะต้องฆ่าตัวนี้

เราจะต้องผ่อนคลายหรือว่าลดระดับ
ความโกรธที่เราเคยมีอยู่ ๑๐๐% ถ้าลดลงไปได้ถึง ๕๐% มันจะอยู่ในความปลอดภัย
ถ้าหากว่าเราลดไม่ได้มันจะกลายเป็นอุปาทาน เขาเรียกว่าจุดดำ

จุดดำนี้มันจะเกิดขึ้นในใจ เมื่อจุดดำเกิดขึ้นในใจนี่จุดดำอันนี้จะเป็นจุดที่อันตรายมากที่สุด
เพราะว่ามันเล็กกว่าปลายเข็ม แต่มันมีอิทธิพลเท่ากับลูกระเบิดปรมาณู มันเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลสูงมาก
เพราะฉะนั้นเมื่อเราไม่พอใจสิ่งใดนี่เราจะต้องแก้ไขด้วยใจ
เพราะว่าใจนี้เป็นปรกติตัวสำคัญ
ถ้าใจของเราอภัยแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันก็อภัยกันได้
ถ้าใจของเราไม่อภัยแล้วทำยังไงก็อภัยให้ไม่ได้

เพราะฉะนั้นก็จึงหันมาเข้าสู่สัมมาสมาธิ
สัมมาสมาธินี่ได้แก่สมาธิที่พอดิบพอดี
พระพุทธเจ้าที่พระองค์สอนว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” หนทางกลาง
หนทางกลางนี้แหละคือสมาธิที่เรียกว่าสัมมาสมาธิ

สมาธินี่ถ้าทำมาเกินไปมันก็ทำให้คนคลั่งไคล้
ถ้าหากว่าทำน้อยเกินไปมันก็สู้ความโกรธไม่ได้
ก็จะต้องทำให้มันพอดี ๆ พอดีก็คือว่าพอให้ได้สะสมพลังจิต

การที่จะสะสมพลังจิตได้นี่ ก่อนที่เราจะทำสมาธินี่เราจะมีอารมณ์ อารมณ์มีเยอะ พออารมณ์เยอะแล้วนี่จิตมันจะไม่เป็นสมาธิ พอไม่เป็นสมาธิแล้วมันก็ฟุ้งซ่านต่อไป
แต่ทีนี้พอเราเอาสมาธิมาใส่ลงเป็นพุทโธซะ อารมณ์ร้อยแปดมันก็สลายตัวไปเหลือแต่พุทโธอันเดียว
เมื่อเหลือพุทโธอันเดียวจิตก็เป็นสมาธิ
เมื่อจิตเป็นสมาธิจิตก็ผลิตพลังจิต
เมื่อจิตผลิตพลังจิต ๆ นี่มันจะเป็นของไม่สูญ จะอยู่ที่จิตของเรานี่ไปตลอด
ถ้าเราทำอีกครั้งนึง ๒ ก็บวกเป็น ๔ อีกครั้งนึงก็ ๔ บวกเป็น ๘ ๘ ก็บวกเป็น ๑๖ บวกกันเรื่อยไปแล้วเพิ่มพูนจนกระทั่งจิตของเรานี่มีกำลัง
พอมีกำลังแล้วไอ้ความโกรธตัวนี้มันจะสลายตัวเอง

จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๔ หน้าที่ ๙๗
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา

๖๐.๐๗.๒๙