ศาลปกครองกลางมีมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ‘ไทยทีวี’ สั่ง กสทช. ห้ามบังคับเอา ‘แบงก์การันตี’ ธนาคารกรุงเทพ
ศาลปกครองกลางมีมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ‘ไทยทีวี’ สั่ง กสทช. ห้ามบังคับเอา ‘แบงก์การันตี’ ธนาคารกรุงเทพ
ศาลปกครองกลาง มีมาตรการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวแก่บริษัท ไทยทีวี จำกัดโดยมีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระงับการดำเนินการใด ๆ เพื่อบังคับเอาเงินค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ ที่บริษัท ไทยทีวี จำกัด ทำสัญญาค้ำประกัน ในงวดที่ 4-6 รวมวงเงินประมาณ 1,005,600,000 บาท จากทั้งหมด 16 ฉบับ โดยเป็นการขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว ในคดีที่บริษัท ไทยทีวี จำกัด ฟ้อง กสทช. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม ภายหลังบริษัท ไทยทีวี จำกัด ได้ยกเลิกสัญญาประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล แม้มีหนังสือมาตรการเยียวยาแล้วก็ตาม
กรณีนี้ศาลพิจารณาแล้วสรุปว่า การที่ กสทช. เรียกให้ธนาคารกรุงเทพ ชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ทั้งสองช่องรายการแทนบริษัท ไทยทีวี จำกัด ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อหลักทรัพย์ที่นำไปค้ำประกันไว้กับธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานและโรงแรม อันเป็นสถานที่ที่ใช้เพื่อประกอบธุรกิจ และในชั้นไต่สวนมีเหตุอันควรเชื่อว่า เมื่อธนาคารกรุงเทพ ได้ชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล งวดที่ 2-3 แทนบริษัท ไทยทีวี จำกัด ไปแล้ว กสทช. ตั้งใจจะเรียกให้ธนาคารกรุงเทพชำระเงินจนครบทั้ง 16 ฉบับ เพราะ กสทช. เล็งเห็นว่า เป็นเงินที่ควรได้จากการที่บริษัท ไทยทีวี จำกัด ชนะการประมูลจำนวน 2 ช่อง (ช่องไทยทีวี และช่อง LOCA)
อย่างไรก็ดีกรณีนี้บริษัท ไทยทีวี จำกัด ยินยอมให้มีการแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ แม้จะเลิกสัญญากันแล้วก็ตาม ซึ่งมีผลผูกพันที่ต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้หมด ดังนั้นหากให้ กสทช. กระทำการข้างต้นต่อไป ย่อมจะมีผลทำให้บริษัท ไทยทีวี จำกัด เดือดร้อนหรือเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขได้ในภายหลัง อีกทั้งการที่ธนาคารกรุงเทพในฐานะผู้ค้ำประกันยังไม่จ่ายเงินตามสัญญาค้ำประกันให้กับ กสทช. ไม่ปรากฏหลักฐานว่า จะมีผลกระทบต่อการจัดทำบริการสาธารณะของ กสทช. หรือเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐแต่อย่างใด
กรณีจึงมีเหตุผลเพียงพอที่จะนำมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของบริษัท ไทยทีวี จำกัด มาใช้ได้ จึงมีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งให้ กสทช. ระงับการดำเนินการใด ๆ เพื่อบังคับตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
สำหรับก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)ถูกฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์ค กรุ๊ป เอเชีย หรือ ฟ็อกซ์ยื่นเรื่องต่อศาล ที่ฮ่องกงและไทย ฟ้อง กรณีไม่จ่ายแบงก์การันตีสำหรับค่าลิขสิทธ์การออกอากาศรายการของฟ็อกซ์ แทนบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีเอ็มเอ็ม และบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) หรือ ซีทีเอช สองยักษ์ใหญ่ธุรกิจดิจิทัลทีวีที่ยุติการให้บริการไปแล้ว
ฟ็อกซ์ได้ทำสัญญาให้สิทธิ์ในการออกอากาศรายการต่างๆ แก่จีเอ็มเอ็ม และซีทีเอช ตั้งแต่ปี 2556 โดยทั้งสองบริษัทได้ค้างชำระค่าสิทธิ์การออกอากาศดังกล่าวเป็นมูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท และต้องชำระดอกเบี้ยกรณีจ่ายล่าช้า ซึ่งธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ออกแบงก์การันตีเพื่อค้ำประกันการชำระเงินให้กับจีเอ็มเอ็ม และซีทีเอช และตั้งแต่ปี 2558 ธนาคารกรุงเทพ ไม่ได้ทำตามสัญญาเพื่อจ่ายแบงก์การันตีแทน 2 บริษัทดังกล่าวเลย
“ฟ็อกซ์ มีความผูกพันอย่างยาวนานต่ออุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทย เรามุ่งมั่นที่จะนำเสนอรายการบันเทิง และรายการกีฬาระดับคุณภาพแก่ผู้ชมชาวไทย” นายซูบิน กานเดเวีย ประธานบริษัท ฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์ค กรุ๊ป ประจำภูมิภาพเอเชีย-แปซิฟิก และตะวันออกกลาง กล่าว “เรื่องนี้ทำให้เราผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของประเทศไทยผิดสัญญาในการจ่ายแบงก์การันตี ซึ่งการผิดสัญญาในครั้งนี้ไม่เพียงจะส่งผลต่อฟ็อกซ์เท่านั้น แต่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูง”
เมื่อ 3 ปีที่แล้วคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดประมูลใบอนุญาตการดำเนินกิจการทีวีดิจิทัล และสร้างรายได้ให้แก่รัฐกว่า 50,000 ล้านบาท โดยมีธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ออกแบงก์การันตีรายใหญ่ที่สุดแก่ผู้ให้บริการทีวีดิจิทัลในประเทศไทย โดยออกแบงก์การันตีแก่ผู้ให้บริการจำนวน14 ราย จากทั้งหมด 24 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาท หรือราวร้อยละ 41 ของค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ผู้ชนะการประมูลต้องประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากการซื้อขายเวลาโฆษณาชะลอตัว อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน อีกทั้งผู้ชมยังคงนิยมรับชมทีวีแบบอนาล็อก และเปลี่ยนมาดูทีวีแบบดิจิทัลในอัตราที่ต่ำอยู่มาก
การยุติการให้บริการของทีวีดิจิทัลช่องต่างๆ นับเป็นการทดสอบระบบของธนาคารไทย เนื่องจากส่งผลให้บรรดาเจ้าหนี้ขอให้ธนาคารหลักหลายแห่งในประเทศไทยต้องจ่ายแบงก์การันตีแก่คู่สัญญา และผู้ผลิตหลายราย
“ความน่าเชื่อถือของธนาคาร ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดของการเป็นผู้ให้บริการทางการเงิน แบงก์การันตีที่ออกโดยธนาคารถือว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินที่เป็นพื้นฐานต่อทั้งระบบการเงินและการพาณิชย์ของประเทศ ดังนั้น การทำหน้าที่ผู้ค้ำประกันตามสัญญา ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้ผู้ลงทุนเชื่อมั่นต่อธนาคารไทย การเพิกเฉยในการทำหน้าที่ดังกล่าว จึงถือเป็นความเสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือของธนาคารกรุงเทพเอง” นายกานเดเวีย กล่าว
อนึ่งคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเป็นคดีหมายเลขดำที่ ทป.37/2559
ฃึ่งศาลได้นัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยช่วงปลายปี 2560 (โอ้แม่เจ้า)
ใส่ความเห็น