สับเละ ครม.รับหลักการระบุสิทธิข้าราชการอัยการ-ศาล ดำรงตำแหน่งถึงอายุ70ปี
สับเละ ครม.รับหลักการระบุสิทธิข้าราชการอัยการ-ศาล ดำรงตำแหน่งถึงอายุ70ปี
วันนี้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาก.ม สองฉบับ 1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..)พ.ศ. …. (เกี่ยวกับการพ้นจากราชการของข้าราชการตุลาการ) และร่างพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (เกี่ยวกับการกำหนดให้ข้าราชการตุลาการไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบหกสิบห้าปี)
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดเสนอ
เกี่ยวกับการพิจารณาก.ม ดังกล่าว แต่เดิม พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ไม่ได้กำหนดไว้ แต่ร่างแก้ไขพรบ.ฉบับใหม่นี้ ได้ขอเพิ่มเติมบทบัญญัติให้ข้าราชการตุลาการซึ่งมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์พ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ข้าราชการตุลาการผู้นั้นมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์
และฉบับเดิมกำหนดให้ข้าราชการตุลาการพ้นจากตำแหน่งเมื่อพ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ศาลยุติธรรมได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมให้ข้าราชการตุลาการพ้นจากตำแหน่งเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ข้าราชการตุลาการผู้นั้นมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์
นอกจากนี้พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดให้ข้าราชตุลาการที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปสามารถดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสได้
ร่างแก้ไขฉบับนี้ขอแก้ไขเพิ่มเติมให้ข้าราชการตุลาการซึ่งมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ขึ้นไปอาจขอไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสได้
พร้อมเพิ่มเติมในร่างนี้อีกว่าให้ข้าราชการตุลาการที่มีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์พ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่และให้ไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส จนกว่าจะพ้นจากราชการตามกฎหมาย
ขณะเดียวกันสำนักงานอัยการสูงสุดได้ขอเสนอร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ……..ขอเพิ่มเติมแก้ไข
1. กำหนดให้อัยการอาวุโสไม่มีสิทธิได้รับเลือกเป็นกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)
2. กำหนดให้ข้าราชการอัยการที่เป็นกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิเมื่อไปดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโส
3. กำหนดให้ข้าราชการอัยการซึ่งมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณให้ไปดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโสจนกว่าจะพ้นจากราชการ
4. กำหนดให้อัยการอาวุโสจะกลับไปดำรงตำแหน่งหรือรักษาการในตำแหน่งข้าราชการอัยการปกติ ตามมาตรา 32 รวมทั้งเป็นผู้รักษาราชการแทน หรือปฏิบัติราชการแทนตำแหน่งปกติไม่ได้
5. เพิ่มมาตรา 8 ให้ข้าราชการอัยการซึ่งมิใช่อัยการอาวุโสที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2554 พ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่เมื่ออายุครบ 64 ปีบริบูรณ์เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2558 และให้ไปดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโสได้ในปีงบประมาณถัดไปจนกว่าจะพ้นจากราชการ
ฃึ่งครม.ได้รับในหลักการและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งต่อให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
ทางด้านพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โดยหลักการสั้นสั้นคือ เดิมมีกฎหมายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยกฎหมายระบุเอาไว้ว่า ทางราชการพลเรือนที่อายุ 60 ปีให้เกษียณอายุราชการ แต่กฎหมายฉบับนั้นไม่ได้รวมไปถึงข้าราชการศาลยุติธรรม และไม่ได้รวมไปถึงข้าราชการอัยการ ซึ่งในปัจจุบันข้าราชการศาลยุติธรรม และข้าราชการอัยการเกษียณอายุกันที่อายุ 70 ปี
ดังนั้นวันนี้จึงมีการออกร่างกฏหมายมา 2 ฉบับ เพื่อที่จะเขียนให้ชัดเจนเลยว่าให้อัยการ และข้าราชการศาลยุติธรรม เกษียณอายุที่อายุ 70 ปี
แต่มีกฎกติกาบังคับไว้ด้วย เช่น กรณีของข้าราชการศาลยุติธรรมบอกไว้ว่า เมื่อท่านอายุ 60 ปี ท่านสามารถขอไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสได้ ถ้าท่านทำงานด้านนี้มา และมีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 20 ปี และผ่านเกณฑ์การพิจารณา
อีกกรณีคือ หากท่านอายุ 65 ปี ท่านจะต้องไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโส คือกำหนดเอาไว้เลย นั่นหมายความว่า คนที่รับราชการเป็นข้าราชการศาลยุติธรรมพออายุ 65 ปี อีก 5 ปีสุดท้ายก่อนเกษียณจะเป็นผู้พิพากษาอาวุโส มีศักดิ์ และสิทธิเหมือนผู้พิพากษาโดยทั่วไป เพื่อให้คดีความต่างๆที่ค้างค้างอยู่ได้รับความขัดจัดปัดเป่าให้เร็วขึ้นเพราะมีผู้พิพากษามากขึ้น
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันในส่วนของข้าราชการอัยการก็ยึดหลักเกณฑ์กติกาเดียวกัน ซึ่งทั้งข้าราชการศาลยุติธรรม และไม่ได้รวมไปถึงข้าราชการอัยการเมื่อไปดำรงตำแหน่งพิพากษาอาวุโส หรืออัยการอาวุโสแล้ว จะไม่มีสิทธิ์กลับไปดำรงตำแหน่งคณะกรรมการต่างๆในกระบวนการเดิม
ทางด้านราษฎรอาวุโส กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นการบริหารราชการที่ผิดแผกแตกต่างจากข้าราชการหน่วยงานอื่นมาช้านานที่ให้สิทธิข้าราชการสองหน่วยงานนี้ทำงานถึงอายุ70ปี ไม่นับรวมหน่วยงานของปปช.ก็เช่นกัน
ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในอาชีพ ทั้งที่คนจบกฎหมายออกมามีมากมายแต่ไม่สามารถเข้าทำงานในหน่วยงานนี้ได้เนื่องจากบนยอดไม่มีการตัดใบออก ข้างล่างจะโตได้อย่างไร
โดยเฉพาะคนอายุ70ปี มีสักกี่คนที่สมองจะทำงานได้มีประสิทธิภาพ บางคนคุมอารมณ์ตัวเองยังไม่ได้ เวลาตายเข้ามาทุกขณะ น่าจะให้เวลาแก่ข้าราชการกลุ่มนี้ได้พักผ่อนมีเวลาอยู่กับครอบครัว อย่างสงบๆศึกษาธรรมะเพื่อก้าวเข้าสู่ภพชาติอื่นได้อย่างสุคติ จะมาติดสุขกับเงินเดือนสูงๆเพื่อตอบแทนกันเองเป็นเรื่องที่ไม่สมควร
แม้ข้าราชการกลุ่มนี้จะมีการขาดแคลน แต่คนจบกฎหมายมีเยอะ ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มากกว่า
ใส่ความเห็น