พาณิชย์ฝันแผนรับสังคมวัยทอง ดันไทยฮับธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุของโลก
พาณิชย์ฝันแผนรับสังคมวัยทอง ดันไทยฮับธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุของโลก ขณะที่สังคมวัยทองของไทยกลับไม่ได้รับการสนับสนุน
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสังคมวัยทองที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น หลังจากที่โลกมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยให้ใช้โอกาสนี้ในการดึงดูดผู้สูงอายุเข้ามาใช้บริการกับสถานบริการสุขภาพและสถานพยาบาลในไทย เพราะไทยมีความพร้อมในเรื่องสถานที่ ที่มีมาตรฐาน มีความหลากหลายสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล คนไทยมีหัวใจบริการ และที่สำคัญค่าใช้จ่ายเหมาะสม ซึ่งสามารถตอบโจทย์ผู้สูงอายุจากทั่วทุกมุมโลกได้
“กระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าหมายในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุของโลก เพราะไทยมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งสถานที่ การบริการ และค่าใช้จ่ายที่ถูกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และยิ่งสังคมผู้สูงอายุมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้เป็นโอกาสของไทย”
โดยในการพัฒนาธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ กระทรวงฯ ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ปี 2554 ด้วยการเข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพการบริหารจัด การบริการ เพื่อลดต้นทุน โดยมีธุรกิจที่ผ่านการพัฒนาแล้ว 442 ราย และจากนั้นได้พัฒนาต่อเพื่อให้ธุรกิจมีมาตรฐานในระดับสากล โดยมีผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติแล้ว 55 ราย และขณะนี้กำลังผลักดันให้มีการสร้างเครือข่ายกับนักลงทุนหรือนักธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกัน
ทั้งนี้ ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุของไทยในปัจจุบันธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ใช่โรงพยาบาล แต่มีการให้บริการที่พำนักแก่ผู้สูงอายุ ที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเป็นประจำ โดยทั่วไปจะครอบคลุมการให้บริการที่พักค้างคืน บริการอาหาร การดูแลความสะอาดเสื้อผ้าและที่พัก ตลอดจนความสะอาดของร่างกาย พร้อมทั้งติดตามดูแลสุขภาพเบื้องต้นอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ได้ให้การรักษาพยาบาล หากมีความเจ็บป่วยจะบริการนำส่งต่อแผนกคนไข้ของโรงพยาบาลใกล้เคียง เพื่อรับการรักษาพยาบาลต่อไป
โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1. ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุกลุ่มเดย์แคร์ (Day Care) หรือการบริการแบบไปเช้า-เย็นกลับ ซึ่งเป็นธุรกิจสำหรับผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองได้และมีญาติมารับ-ส่งเป็นรายวัน 2. ธุรกิจสถานบริการดูแลระยะยาว (Long Stay) ที่ผู้สูงอายุอาศัยในสถานบริการนั้นเลย หรืออาศัยในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยญาติที่ไม่มีเวลาดูแลจะนำผู้สูงอายุมาฝากดูแล และมาเยี่ยมเป็นครั้งคราว และ 3. ธุรกิจที่บริการส่งผู้ดูแล ให้ไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน
ปัจจุบันธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวและสถานพยาบาลของไทย มีจำนวนประมาณ 400 แห่ง โดยประมาณ 49.28% ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล จำนวนทั้งสิ้น 146 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1,307.17 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มอัตราการเติบโตของผู้สูงอายุทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมาก และเฉพาะในไทยคาดว่า ปี 2563 จะมีผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน คิดเป็น 19% หรือเกือบ 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และปี 2573 จะมีจำนวนเพิ่มสูงถึง 17.5 ล้านคน คิดเป็น 26.57% หรือกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ
แหล่งข่าวจากชมรมผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อะไรๆก็ฮับ ไม่ก็งับ ต่างปท แต่ผู้สูงอายุคนไทยกลับไม่ได้รับการดูแลเรื่องเงินตอบแทนจากรัฐบาลเพียงพอที่จะใช้ชีวิต โดยเฉพาะฮับ เมดิคอล ทำให้รพเอกชนคิดราคาแพงเกินเหตุ เพียงเพื่อจะทำให้รพในไทยเป็นฮับเมดิคอล ผลคือปชชคนไทยใช้บริการด้านสาธารณสุขแพงเทียบเท่าคนต่างชาติ
และนี่จากมาฮับผู้สูงอายุอีกแล้ว ต่อไปอะไรๆที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุคงจะแพงอีกเช่นกัน หากปทไทยยังไม่พร้อมที่จะดูแลผู้สูงอายุในปทให้ดีพอ ก็ไม่ควรหวังเงินจากคนต่างปท เพราะจะมีการเปรียบเทียบได้ว่าคนสูงอายุของต่างชาติได้รับการดูแลจากรัฐของเขาได้เพียงพอที่จะมาใช้ชีวิตสบายๆได้ที่ปทไทย แต่คนไทยไม่มีเงินเพียงพอที่จะไปใช้ชีวิตสบายๆที่ต่างปท
เห็นแล้วจึงเป็นเรื่องที่เศร้าใจพอสมควร
ใส่ความเห็น