เมื่อเราได้ผ่านขั้นตอนการพัฒนาตนเองในขั้นต้น ด้วยการฝึกตนให้เป็นคนดี โดยการไม่คบคนพาลคบบัณฑิต บูชาบุคคลที่ควรบูชา และในขั้นถัดมาด้วยการสร้างความพร้อมในการฝึกตน โดยอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม มีบุญวาสนามาก่อน และตั้งตนชอบ ก็มาถึงการพัฒนาตนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ด้วยการฝึกตนให้เป็นคนมีประโยชน์ คือจะต้องฝึกตนเองให้เป็นคนมีความสามารถรอบตัว เป็นคนที่พึ่งตนเองได้ นำความรู้ความสามารถที่มีมาใช้ในทางที่ถูกต้องสามารถควบคุมตนเองสามารถสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง และสังคมได้อย่างเต็มที่ ผู้ที่สามารถฝึกได้ในขั้นนี้ต้องมีคุณสมบัติสำคัญ ดังนี้

1. เป็นพหูสูต หมายถึง เป็นผู้ที่มีความรอบรู้ คือเป็นผู้ฉลาดรู้ เรียนรู้หลักวิชา รู้จักเลือกเรียนในสิ่งที่ควรรู้ เป็นผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมามาก ได้ยินได้ฟังได้อ่านมามาก ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นต้นทางแห่งปัญญา ทำให้เกิดความรู้สำหรับบริหารงานชีวิต และเป็นกุญแจไขไปสู่ ลาภ ยศ สรรเสริญสุข และทุกสิ่งที่เราปรารถนา

2. มีศิลปะ แปลว่า ผู้มีการแสดงออกมาให้ปรากฏขึ้นได้อย่างงดงาม ประณีต ละเอียดอ่อน น่าพึงชมหมายถึง ผู้ฉลาดทำ คือทำเป็นนั่นเอง เป็นความสามารถในทางปฏิบัติ คือสามารถนำความรู้นั้นมาใช้ให้บังเกิดผลได้สามารถทำการงานได้สำเร็จ

3. มีวินัย หมายถึง เป็นผู้ประพฤติอยู่ในระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ วินัยใช้สำหรับควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา ของคนในสังคมให้เรียบร้อยดีงาม เป็นแบบแผน อันหนึ่งอันเดียวกัน จะได้อยู่ร่วมกันด้วยความสุขสบาย ไม่กระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน วินัยช่วยให้คนในสังคมห่างไกลจากความชั่วทั้งหลายวินัยจึงเป็นสิ่งที่ใช้ควบคุมคน ให้คนเราใช้ความรู้ความสามารถไปในทางที่ถูกที่ควร คือทำคนให้เป็นคนฉลาดใช้วินัยมี 2 ชนิด คือ วินัยทางโลก และวินัยทางธรรม ดังนั้น ผู้มีวินัยดี หมายถึง ผู้ที่รักษาวินัยทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างถูกต้องและเคร่งครัด
เราจึงต้องฝึกตัวเองให้เป็นคนมีวินัย ต้องไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจตัวเอง เคารพต่อกฎระเบียบของหมู่คณะ และวินัยของตนเอง รู้จักควบคุมตนเองให้นำความรู้ความสามารถไปใช้ในทางที่ถูกคือ เป็นผู้ฉลาดใช้

4. มีวาจาสุภาษิต หมายถึง มีคำพูดที่ผู้พูดได้กลั่นกรองไว้ดีแล้ว มีลักษณะที่พอเหมาะพอดีถูกกาลเทศะ เป็นคุณแก่ตัวผู้พูดและผู้ฟัง เป็นวาจาชั้นสูง ก่อให้เกิดความสมัคร สมานสามัคคีควรแก่การสรรเสริญของบัณฑิต เราจึงต้องฝึกตัวเองให้มีวาจาสุภาษิต รู้จักควบคุมวาจา พูดเป็น คือเป็น ผู้ฉลาดพูด

นับเป็นมงคลที่ 7 เป็นพหูสูต

แสงสว่าง เป็นสิ่งจำเป็นในการเดินทางไกล ฉันใด
ความเป็นพหูสูต ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการบุกเบิกสร้างความเจริญให้แก่ชีวิต ฉันนั้น

พหูสูตคืออะไร
พหูสูต หมายถึง ผู้ที่มีความรอบรู้หรือพูดสั้นๆ ว่า ฉลาดรู้ ความเป็นผู้ฉลาดรู้ คือผู้ที่รู้จักเลือกเรียนในสิ่งที่ควรรู้ เป็นผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมามาก ได้ยินได้ฟังได้อ่านมามาก ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ เป็นต้นทางแห่งปัญญา ทำให้เกิดความรู้สำหรับบริหารงานชีวิต และเป็นกุญแจไขไปสู่ ลาภ ยศ สรรเสริญสุข และทุกสิ่งที่เราปรารถนา

ความแตกต่างระหว่างบัณฑิตกับพหูสูต
บัณฑิต คือผู้ที่มีคุณธรรมประจำใจ มีความประพฤติดีงามไม่ว่าจะมีความรู้มากหรือน้อยก็ตามบัณฑิตจะใช้ความรู้นั้นๆสร้างประโยชน์แก่ตนเอง และผู้อื่นอย่างเต็มที่ เป็นผู้ที่สามารถเอาตัวรอดได้แน่นอนไม่ตกไปสู่อบายภูมิเป็นอันขาด
พหูสูต คือผู้มีความรู้มาก แต่คุณธรรมความประพฤติยังไม่แน่ว่าจะดี ยังไม่แน่ว่าจะเอาตัวรอดได้ถ้าใช้ความรู้ที่มีอยู่ไปทำชั่ว เช่น เอาความรู้ทางเคมีไปผลิตเฮโรฮีน ก็ตกนรกได้

ลักษณะความรู้ที่ส มบูรณ์ของพหูสูต
1. รู้ลึก หมายถึง รู้เรื่องราวสาวไปหาเหตุในอดีตได้ลึกซึ้งถึงความเป็นมา เช่น แพทย์เมื่อเห็นอาการคนป่วยก็บอกได้ว่าเป็นโรคอะไร รู้ไปถึงว่าที่เป็นโรคนี้เพราะเหตุใด หรือ ช่างเมื่อเห็นอาการเครื่องยนต์ที่เสีย ก็สามารถบอกได้ทันทีว่า เครื่องนั้นเสียที่ชิ้นส่วนไหน เป็นเพราะอะไร เป็นต้น

2. รู้รอบ หมายถึง ช่างสังเกต รู้สิ่งต่างๆ รอบตัว ภาพภูมิประเทศ ดินฟ้าอากาศ ผู้คนในชุมชนความเป็นไปของเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัวสิ่งที่ควรรู้ต้องรู้

3. รู้กว้าง หมายถึงสิ่งรอบตัวแต่ละอย่างที่รู้ก็รู้อย่างละเอียด รู้ถึงความเกี่ยวพันของสิ่งนั้นกับสิ่งอื่นๆ ด้วย คล้ายรู้รอบแต่เก็บรายละเอียดมากขึ้น

4. รู้ไกล หมายถึง มองการณ์ไกล รู้ถึงผลที่จะตามมาในอนาคต เช่น เห็นสภาพดินฟ้าอากาศ ก็รู้ทันทีว่าปีนี้พืชผลชนิดใดจะขาดแคลน เห็นพฤติการณ์ของผู้ร่วมงานไม่น่าไว้วางใจ ก็รู้ทันทีว่าเขากำลังจะคิดไม่ซื่อ เห็นตนเองเริ่มย่อหย่อนต่อการปฏิบัติธรรม ก็รู้ทันทีว่าถ้าทิ้งไว้เช่นนี้ต่อไป ตนก็จะเสื่อมจากกุศลธรรม
ฯลฯ

ผู้ที่ประกอบด้วยความรู้ 4 ประการนี้ ทั้งทางโลกและทางธรรม จึงจะเป็นพหูสูตที่แท้จริง

คุณสมบัติของพหูสูตหรือนักศึกษาที่ดี
1. พหุสสุตา ความตั้งใจฟัง คือมีนิสัยชอบฟัง ชอบอ่าน ชอบค้นคว้า ยึดหลัก เรียนจากครู ดูจากตำรับ ดับปาฐะ

2. ธตา ความตั้งใจจำ คือมีความจำดี รู้จักจับสาระสำคัญ จับหลักให้ได้ แล้วจำได้แม่นยำคนที่ความจำไม่ดีเพราะภพในอดีตชอบพูดปด ดื่มสุรามาก ฯลฯ ดังนั้นถ้าในชาตินี้เลิกดื่มสุรา เลิกพูดปดและพยายามท่องบ่อยๆ หมั่นจดหมั่นเขียนบ่อยๆ ไม่ช้าก็จะเป็นผู้มีความจำดี

3. วจสา ปริจิตา ความตั้งใจท่อง คือต้องฝึกท่องให้คล่องปากท่องจนขึ้นใจ จำได้คล่องแคล่วจัดเจนไม่ต้องพลิกตำรา โดยเฉพาะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นความจริงแท้แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง ควรท่องไว้ให้ขึ้นใจทุกข้อกระทงความ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ส่วนวิชาการทางโลก ยังมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เพราะยังไม่มีใครรู้จริง จึงควรท่องเฉพาะที่สำคัญและหมั่นคิดหาเหตุผลด้วย

4. มนสานุเปกขา ความตั้งใจขบคิด คือใส่ใจนึกคิดตรึกตรองสาวเหตุสาวผลให้เข้าใจตลอดพิจารณาให้เจนจบ นึกถึงครั้งใดก็เข้าใจปรุโปร่งหมด

5. ทิฏฐิยา สุปฏิวิทธา ความแทงตลอดด้วยปัญญา คือเข้าใจแจ่มแจ้ง ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติความรู้กับใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่ได้ฝึกสมาธิอย่างจริงจัง คุณสมบัติข้อนี้จะเกิดไม่เต็มที่

ลักษณะผู้ที่เป็นพหูสูตไม่ได้ดี
1. คนราคจริต คือคนขี้โอ่ บ้ายอ เจ้าแง่แสนงอน รักสวยรักงาม พิถีพิถันจนเกินเหตุ มัวแต่งอนมัวแต่แต่งตัวจนไม่มีเวลาท่องบ่นค้นคว้าหาความรู้ พวกนี้แก้โดยให้หมั่นนึกถึงความตาย พิจารณาซากศพอสุภะเนือง ๆ

2. คนโทสจริต คือคนขี้โมโห ฉุนเฉียว โกรธง่าย ผูกพยาบาทมาก มัวแต่คิดโกรธแค้นจนไม่มีเวลาไตร่ตรอง พวกนี้แก้โดยให้หมั่นรักษาศีล และแผ่เมตตาเป็นประจำ

3. คนโมหจริต คือคนสะเพร่า ขี้ลืม มักง่าย ทำอะไรไม่พยายาม เอาดีสักแต่ให้เสร็จ สติไม่มั่นคงใจกระด้างในการกุศลสงสัยในพระรัตนตรัยว่ามีคุณจริงหรือไม่ พวกนี้แก้โดยให้หมั่นฝึกสมาธิอย่างม่ำเสมอ

4. คนขี้ขลาด คือพวกขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่กล้าลงมือทำอะไร กลัวถูกติ คอยแต่จะเป็นผู้ตาม ไม่มีความคิดริเริ่ม พวกนี้แก้โดยให้คบกับคนมาตรฐาน คือคบบัณฑิต จะอ่านจะทำอะไรก็ให้จับให้ทำแต่สิ่งที่เป็นมาตรฐาน ไม่สักแต่ว่าทำ

5. คนหนักในอามิส คือพวกบ้าสมบัติ ตีค่าทรัพย์ว่ามากกว่าความรู้ ทำให้ไม่ขวนขวายในการแสวงหาปัญญาเท่าที่ควร

6. คนจับจด คือพวกทำอะไรเหยาะแหยะ ไม่เอาจริง

7. นักเลงสุรา คือพวกขี้เมา ขาดสติ หมดโอกาสที่จะเรียนรู้

8. คนที่มีนิสัยเหมือนเด็ก คือพวกชอบเอิกเกริกสนุกเฮาจนเกินเหตุ ขาดความรับผิดชอบ
วิธีฝึกตนให้เป็นพหูสูต
1. ฉลาดเลือกเรียนแต่สิ่งที่ควร
2. ตั้งใจเรียนวิชาที่ตนเลือกแล้วอย่างเต็มความสามารถ
3. มีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ
4. ต้องหาความรู้ทางธรรมควบคู่ไปกับความรู้ทางโลกด้วย
5. เมื่อเรียนแล้วก็จำไว้เป็นอย่างดี พร้อมที่จะนำความรู้ไปใช้ได้ทันที

ข้อเตือนใจ
ถ้ามีความรู้ทางโลกอย่างเดียว ไม่ว่าตนเองจะเป็นคนฉลาดเพียงใดก็มีโอกาสพลาดพลั้งได้ เช่น มีความรู้เรื่องปรมาณู อาจนำไปใช้ในทางสันติเป็นแหล่งพลังงาน หรือนำไปสร้างเป็นระเบิดทำลายล้างชีวิตมนุษย์ก็ได้ เราจึงต้องศึกษาความรู้ทางธรรมไว้คอยกำกับความรู้ทางโลกด้วย ความรู้ทางธรรมจะเป็นเสมือนดวงประทีปส่องให้เห็นว่าสิ่งที่กระทำนั้นถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร
ผู้ที่คิดแต่จะตักตวงความรู้ทางโลก แม้จะฉลาดร่ำรวย มีอำนาจสักปานใดก็ไม่น่ารัก ไม่น่าเคารพไม่น่ายำเกรง ไม่น่านับถือ ยังเป็นบุคคลประเภท เอาตัวไม่รอด
โปรดจำไว้ว่า “ความรู้ที่เกิดแก่คนพาล ย่อมนำความฉิบหายมาให้
เพราะเขาจะนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด ๆ”
เราทุกคนจึงควรจะแสวงหาโอกาสศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม และรู้ให้ลึกซึ้งเกินกว่า การงานที่ตนรับผิดชอบ ความรู้ที่เกินมานี้จะเป็นเสมือนดวงประทีปส่องให้เป็นทางเบื้องหน้าที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้โดยง่าย

อานิสงส์การเป็นพหูสูต
1. ทำให้เป็นที่พึ่งของตนเองได้
2. ทำให้ได้ความเป็นผู้นำ
3. ทำให้แกล้วกล้าองอาจในทุกที่ทุกสถาน
4. ทำให้บริบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญสุข
5. ทำให้ได้รับคำชมเชย ได้รับความยกย่องเกรงใจ
6. ไม่มีใครแย่งชิงได้ เป็นสหชาติปัญญาติดตัวข้ามภพข้ามชาติไป
7. เป็นพื้นฐานของศิลปะ และความสามารถอื่นๆ ต่อไป
8. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย
ฯลฯ
ถ้าบุคคลแม้มีสุตะมาก ตั้งมั่นอยู่ในศีล บัณฑิตทั้งหลายย่อม สรรเสริญเขาโดยส่วนสอง คือทั้งโดยศีล ทั้งโดยสุตะ ใครเล่าควรจะติเตียนบุคคลผู้เป็นพหูสูต ผู้ทรงธรรม มีปัญญา เป็นพุทธสาวก ผู้เป็นประดุจแท่งทองชมพูนุทนั้นได้ แม้เหล่าเทพเจ้าก็ย่อมชมเชย ถึงพรหมก็ สรรเสริญ

เป็นพหู

พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ