ธรรมะสวัสดี – ความวิเวก
ความวิเวก
คำว่า วิเวก แปลว่า ความสงัด หรือความปลีกออก มี 3 ประการ คือ
1. กายวิเวก ความสงัดกาย
2. จิตตวิเวก ความสงัดใจ ได้แก่ทำจิตให้สงบผ่องใส สงัดจากนิวรณ์ สังโยชน์ และอนุสัยเป็นต้น
3. อุปธิวิเวก ความสงัดอุปธิ ได้แก่ธรรมเป็นที่สงบระงับสังขารทั้งปวง ปราศจากกิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี ที่เรียกว่าอุปธิ หมายเอาพระนิพพาน
(จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตฺโต)
ความวิเวก เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมแสวงหา
ความสงัดกาย ปลีกออกจากความสับสนวุ่นวายของโลก เข้าสู่ธรรม ปลีกออกจากบ้านเข้าสู่วัด หรือสถานปฏิบัติธรรม ปลีกออกจากเมืองเข้าสู่ป่าเขาที่ร่มรื่น
ความสงัดใจ การที่จะมีใจที่ผ่องใสได้ หนทางเดียว คือ ทำสมาธิ ยุคนี้สมัยนี้มนุษย์เราโชคดี วิชาสมาธิมีผู้ค้นพบ รักษาไว้ สืบทอด นำมาเผยแผ่มีมากมาย โชคดีที่เราได้มีโอกาสดีนาทีทอง สามารถศึกษาวิชาสมาธิ ที่ผู้รู้ได้พัฒนาและนำมาเผยแผ่ ให้ปฏิบัติได้ง่าย ได้ผลเร็ว เหมาะกับบุคคลทุกคน อยู่ที่ใดในโลกนี้เราสามารถทำจิตตวิเวกให้เกิดขึ้นได้
จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้
พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงความเป็นไปของจิตที่เศร้าหมอง ความเศร้าหมองของจิตเกิดความไม่ดำเนินอยู่ในทางของกุศล และพระธรรมวินัย ประกอบอยู่ในการฆ่า การลัก และความเห็นผิดเป็นต้น ทุคติ(ความไปสู่ที่ชั่ว) ที่ต้องประสบนั้น ได้แก่ ความเศร้าหมองของกาย วาจา ใจ ความหวาดหวั่นเพราะมีศัตรู ความขลาดกลัว เมื่อพบกับคนดีและกฎหมาย การ
เกิดในอบายภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย และเดรัจฉานเป็นต้น
จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้
พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงความเป็นไปเมื่อจิตไม่เศร้าหมอง เพราะประกอบอยู่ในกุศลกรรม และพระธรรมวินัย ปฏิบัติอยู่ซึ่งทาน ศีล สมาธิและปัญญา เว้นแล้วซึ่งทุจริตต่าง ๆ บุคคลนั้นย่อมประสบสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า สุขกายสุขใจ มากผู้รักใคร่ เชื่อใจ เคารพ นับถือ ละโลกนี้แล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
(จาก ๓๐๐ พุทธภาษิต ฉบับเรื่องเล่าขยายความ สำนักพิมพ์รติธรรม)
เรื่องจิตเรื่องใจเป็นเรื่องใหญ่ ควรยิ่งที่เราจะได้ศึกษา และปฏิบัติ ทำให้มาก เจริญให้มาก เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อพระนิพพานในที่สุด
ขอให้ท่านทั้งหลายประสบความสุขและความสำเร็จ
รังสรรค์ อินทร์จันทร์
ที่ปรึกษา งานพัฒนาบุคคลสู่ความเป็นเลิศ
10/05/59
ใส่ความเห็น