ความสันโดษ
สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ ความสันโดษ เป็นทรัพย์อันยอดเยี่ยม
พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้มีพระวรกายโปร่งเบาสบายแล้ว จากที่ทรงใช้อุบายลดพระกระยาหารตามที่พระพุทธเจ้าแนะนำสำเร็จ จึงเข้าเฝ้ากราบทูลความสำเร็จ และทูลถึงการนำพระญาติของพระพุทธเจ้ามาแต่งตั้งเป็นพระมเหสี เหล่านี้เป็นความสุขของพระราชา
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง
ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง
ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง
นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ” ภาวะที่ยินดีในสิ่งที่ตนได้หรือมีอยู่แล้ว ชื่อว่าสันโดษ ความปรารถนาในการแสวงหาทรัพย์ เมื่อได้มาหรือมีอยู่ ทรัพย์ที่มีอยู่นั้นยังไม่ชื่อว่าสูงสุดแล้ว หากยังปรารถนาแสวงหาด้วยอำนาจความต้องการบ่อย ๆ ก็จะไม่มีที่สุด จะมีที่สุดต่อเมื่อมีความสันโดษ ได้แก่ความรู้จักพอ
(จากหนังสือ ๓๐๐ พุทธภาษิต ฉบับเล่าเรื่องขยายความ สำนักพิมพ์รติธรรม หน้าที่ ๕๕)

ความสันโดษ มี ๓ คือ ๑. ยินดีตามที่ได้ ๒.ยินดีตามกำลัง ๓.ยินดีตามสมควร ในปัจจัย ๔

ในมงคลสูตร ๓๘ ประการ ข้อที่ ๒๔ สนฺตุษฐี จ หมายถึง ความสันโดษ
ความสันโดษนั้นเป็นธรรมที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง และน้อมนำมาปฏิบัติ เพื่อความสุข เพื่อความเจริญ เพื่อความก้าวหน้าแห่งชีวิต
แต่ว่าการเป็นเช่นนั้นได้ ใจนี้เองที่จะเป็นผู้ยอมรับในเหตุผล ในธรรมดังกล่าว กำลังใจ หรือพลังใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ
รังสรรค์ อินทร์จันทร์
ที่ปรึกษา งานพัฒนาบุคคลสู่ความเป็นเลิศ
2/05/59

image