image

“ร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. … (ชะลอการฟ้อง)”

ช่วงนี้ มีข่าวคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิดที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีหรือมีหน้าตาในสังคมหลายคดี เช่น คดีรถเบนซ์ชนท้ายรถนักศึกษา คดีทายาทกระทิงแดงขับรถสปอร์ตชนรถเจ้าพนักงานตำรวจ และคดีที่ผู้กระทำความผิดเป็นคนจน เช่น คดีตายายเก็บเห็ดในป่าสงวน คดีเหล่านี้มีการวิพากษ์วิจารณ์คาดเดาผลคดีกันไปต่างๆนานา ด้วยเกรงว่าคนที่ด้อยกว่านั้นจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐบ้าง.. ด้วยเกรงว่าผู้กระทำความผิดจะไม่ได้รับโทษบ้าง .. ทำให้ผมคิดถึงร่างกฎหมายใหม่ฉบับหนึ่ง ที่ปัจจุบันมีการถกเถียงกันมากมายนั่นคือ ร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ… (ชะลอการฟ้อง)

ชะลอการฟ้องคืออะไร
การชะลอการฟ้อง (Deferred Prosecution/ Suspend of Prosecution/ Pre-trial Diversion) หมายถึง การที่พนักงานอัยการไม่ต้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในความผิดบางประเภท แต่ให้ผู้กระทำความผิดปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานอัยการกำหนด เช่น ให้ทำงานบริการสังคม ให้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย เป็นต้น ถ้าผู้กระทำความผิดปฏิบัติตามเงื่อนไขครบถ้วน พนักงานอัยการก็จะสั่งยุติคดี โดยไม่ต้องฟ้องผู้กระทำความผิดต่อศาล และ ผู้เสียหายจะฟ้องคดีต่อศาลอีกไม่ได้ เพราะสิทธิฟ้องคดีระงับลงแล้ว
หลายสิบปีที่ผ่านมา มีความพยายามผลักดันกฎหมายชะลอการฟ้องมาแล้วหลายครั้ง แต่ศาลยุติธรรมก็โต้แย้งคัดค้านตลอดมา ทั้งเรื่องหลักการแนวคิดและรายละเอียดของร่างกฎหมาย ประกอบกับไม่นานมานี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้เสนอร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระคล้ายกับร่างกฎหมายชะลอการฟ้อง นั่นคือ ร่างพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นสอบสวน พ.ศ. … ซึ่งกำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้มีการไกล่เกลี่ยคดีอาญาบางประเภทได้ ด้วยความยินยอมของผู้ต้องหาและผู้เสียหาย และหากตกลงกันได้ ให้คดีก็เป็นอันยุติ และให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับลง

ต่อมา กระทรวงยุติธรรมได้นำร่างพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นสอบสวน พ.ศ. … มารวมกันกับร่างพระราชบัญญัติชะลอการฟ้อง พ.ศ. … แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็น “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. …” และมีการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฏีกาและคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาบรรจุเป็นวาระเพื่อพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
เหตุผลและความจำเป็นที่ กระทรวงยุติธรรมเสนอร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. ..นี้ สรุปได้ว่า เพื่อไม่ให้ผู้กระทำความผิดเล็กน้อย (โทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี) ได้รับโทษจำคุก หรือต้องถูกฟ้องจนศาลมีคำพิพากษา และเพื่อลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล

หลักการสำคัญประการหนึ่งของร่างกฎหมายคือ การไกล่เกลี่ยชั้นสอบสวนและการชะลอการฟ้องที่เรียกรวมๆกันว่า มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญานั้น สามารถทำได้ทั้งในคดีที่มีผู้เสียหาย และคดีที่ไม่มีผู้เสียหาย (อาญาแผ่นดิน) ในคดีที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว และคดีความผิดต่อรัฐ
แต่ในคดีที่มีผู้เสียหายนั้น จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหาและผู้เสียหายด้วย
ผลของการใช้มาตรการแทนการฟ้องของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ จะให้คดีอาญายุติลง และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป

นอกจากหลักการสำคัญดังกล่าวแล้ว ร่างกฎหมายนี้ ยังมีรายละเอียดที่เป็นข้อสังเกตสำคัญอีกหลายประการ เช่น
– กำหนดให้นำแนวคิดความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาใช้ในการไกล่เกลี่ยคดีอาญาและการเจรจาก่อนมีการชะลอการฟ้อง
. บทบัญญัตินี้เป็นหลักการที่ดี แต่หลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้น ความยินยอมเข้าเจรจาไกล่เกลี่ยและชะลอการฟ้อง จะต้องเป็นความยินยอมโดยบริสุทธิ์โดยปราศจากความเกรงใจ การข่มขู่ หลอกล่อ หรือเกรงกลัวอิทธิพลใดๆ
– กำหนดให้พนักงานอัยการสั่งชะลอการฟ้องในคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดินที่กำหนด การที่ร่างกฎหมายบัญญัติเช่นนี้ ส่งผลให้คดีที่เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ ยุติลงได้เหมือนกับคดีอาญาที่ยอมความได้ อันเป็นการขัดต่อหลักการของกฎหมายอาญาอย่างมาก
– กำหนดห้ามมิให้นำบทบัญญัติที่ว่าด้วยการควบคุมและขังตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีในศาลแขวงฯ (คดีที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี) มาใช้ กล่าวคือ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ขังผู้กระทำความผิดในระหว่างสอบสวนเพราะไม่มีหลักประกัน หรือศาลเชื่อว่าเขาจะหลบหนี หรือเพราะผู้กระทำผิดไปข่มขู่คุกคามผู้เสียหายหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว ถ้าคดีนั้นพนักงานสอบสวนสั่งให้มีการไกล่เกลี่ยหรือพนักงานอัยการสั่งให้ชะลอการฟ้อง ร่างกฎหมายบังคับให้ศาลต้องปล่อยตัวผู้กระทำความผิดไป เมื่อพนักงานอัยการร้องขอ
– กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้เสียหายจ้างทนายความฟ้องคดีอาญาเอง แม้ศาลจะรับฟ้องไว้และอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีแล้ว ถ้าพนักงานสอบสวนสั่งให้มีการไกล่เกลี่ยหรือพนักงานอัยการสั่งให้ชะลอการฟ้อง (และแม้ผู้เสียหายแถลงยืนยันให้ศาลพิจารณาคดีต่อไป) ศาลก็ต้องหยุดการพิจารณาคดีไว้ เพื่อรอผลการใช้มาตรการตามร่างกฎหมายนี้ก่อน

การที่ร่างกฎหมายกำหนดให้ปล่อยตัวผู้กระทำความผิดที่ศาลสั่งขังหรือหยุดการพิจารณาคดีของผู้เสียหายนั้น ก็เพื่อให้ผู้กระทำความผิดกับผู้เสียหายได้มีโอกาสเจรจาไกล่เกลี่ยกัน โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดจากการไม่ควบคุมตัวผู้กระทำความผิด เช่น ผู้กระทำความผิดหลบหนี มีการข่มขู่พยาน เกิดการทำลายหลักฐาน
เนื่องจากเจตนารมณ์ของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงนั้น ต้องการให้การดำเนินคดีเพื่อค้นหาและพิสูจน์ความจริงในศาลเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว
แต่ร่างกฎหมายนี้กลับให้ความสำคัญกับการยุติคดีมากกว่า ร่างกฎหมายในส่วนนี้จึงขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของกฎหมายและยังขัดแย้งกับบทบาทของเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานอัยการในระบบกระบวนการยุติธรรมที่ให้ดำเนินคดีเพื่อพิสูจน์ความจริง มากกว่าการยุติคดี

ชะลอการฟ้องเป็นอำนาจของใคร
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของไทย พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานส่งพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาว่า จะมีคำสั่งฟ้อง หรือคำสั่งไม่ฟ้อง
การที่จะฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลจึงเป็นอำนาจของพนักงานอัยการ ซึ่งต้องใช้ดุลพินิจที่สุจริตและชอบด้วยกฎหมาย โดยคำนึงถึงพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนสอบสวนว่ามีเพียงพอให้ศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดหรือไม่

ถ้าเห็นว่า หลักฐานไม่เพียงพอให้ศาลลงโทษได้ พนักงานอัยการก็จะสั่งไม่ฟ้องคดี แต่การสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ ไม่ทำให้คดียุติ กล่าวคือ แม้พนักงานอัยการจะไม่ดำนินคดี แต่ผู้เสียหายมีสิทธิตั้งทนายความฟ้องคดีต่อศาลเองได้
ส่วนชะลอการฟ้องนั้น เป็นเรื่องที่มีพยานหลักฐานเพียงพอให้ศาลลงโทษผู้กระทำความผิดแล้ว แต่พนักงานอัยการไม่สั่งฟ้องคดี และออกคำสั่งชะลอการฟ้องแทน
สรุปได้ว่า อำนาจของพนักงานอัยการที่เกี่ยวกับการฟ้องคดีตามที่กฎหมายปัจจุบันกำหนดไว้ มีเพียงการสั่งฟ้องและการสั่งไม่ฟ้องเท่านั้น ส่วนคำสั่งชะลอการฟ้องนี้ เป็นทางเลือกใหม่ในการออกคำสั่งของพนักงานอัยการ และเป็นคำสั่งที่มีผลให้คดียุติลง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในกฎหมายไทย

แนวคิดของการชะลอฟ้องคืออะไร
การชะลอการฟ้อง มีแนวคิดมาจากหลักการเบี่ยงเบน (divert) คดีอาญาออกจากกระบวนการยุติธรรม (Diversion in Criminal Justice) และมีการใช้อยู่ในหลายประเทศ

การเบี่ยงเบนคดีออกจากกระบวนการยุติธรรม (Diversion in Criminal Justice) คืออะไร
การเบี่ยงเบนคดี คือ การที่เจ้าพนักงานของรัฐไม่ใช้กระบวนการดำเนินคดีตามปกติกับผู้กระทำความผิดบางประเภท แต่นำมาตรการอื่นมาใช้แทน
การเบี่ยงเบนคดีอาจเกิดขึ้นในชั้นเจ้าพนักงานตำรวจ ชั้นพนักงานอัยการ หรือชั้นศาลก็ได้ ที่ใช้อยู่ในต่างประเทศเช่น กฎหมายฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดโดยใช้อำนาจศาล (Drug Court) กฎหมายว่าด้วยความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) เป็นต้น ในประเทศไทยก็มีกฎหมายหลายฉบับที่มีฐานคิดมาจากการเบี่ยงเบนคดี

วัตถุประสงค์ของการเบี่ยงเบนคดี (Diversion) อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. เพื่อหลีกเลี่ยงรูปแบบการดำเนินคดีและวิธีการลงโทษ ที่จะทำให้ผู้กระทำผิดถูกตีตราจากสังคม (Labeled) เช่น ผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กและเยาวชน รัฐจึงใช้ระบบการดำเนินคดีสำหรับเด็ก (Juvenile Justice) ตามกฎหมายว่าด้วย ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ เป็นการเบี่ยงเบนคดีแทนการนำเด็กและเยาวชนไปดำเนินคดีแบบปกติในศาลผู้ใหญ่
2. เพื่อหลีกเลี่ยงการลงโทษทางอาญาซึ่งไม่เหมาะกับผู้กระทำความผิดบางประเภท เช่น คนวิกลจริต คนติดยาเสพติด รัฐจึงกำหนดให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีคนวิกลจริต หรือกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้กระทำความผิดได้รับการบำบัดรักษามากกว่าการลงโทษ มาใช้แทนการลงโทษตามกฎหมายอาญาเหมือนผู้กระทำความผิดอื่นๆ
3. เพื่อลดปริมาณคดีเข้าสู่ระบบกระบวนการยุติธรรมและการลดความแออัดในเรือนจำ (Alternative to Imprisonment) เพราะการที่คดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมากเกินไป ย่อมเกิดผลกระทบกับตำรวจ อัยการ และศาล จะทำให้การดำเนินคดีเกิดความล่าช้า รวมทั้งอาจเกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ง่าย รัฐจึงกำหนดให้มีมาตรการต่างๆเพื่อหลีกเลี่ยงหรือเบี่ยงเบนปริมาณคดีออกจากระบบของกระบวนการยุติธรรม
การเบี่ยงเบนเพื่อลดปริมาณคดีนี้ มีการนำมาใช้ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา เช่น การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (Alternative Dispute resolution – ADR) หรือการอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) ในคดีแพ่ง

ส่วนคดีอาญานั้น มีมาตรการหลายรูปแบบที่ใช้ในต่างประเทศนำ เช่น การใช้เครื่องมืออิเล็คทรอนิกส์ (Electronic Monitoring – EM) แทนการคุมขัง การใช้มาตรการลงโทษระดับกลาง (Intermediate Punishment) มาตรการชะลอการฟ้อง (Suspend of Prosecution) มาตรการต่อรองคำรับสารภาพ (Plea Bargaining) และมาตรการไกล่เกลี่ยเยียวยาเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า การใช้มาตรการเบี่ยงเบนเพื่อหลีกเลี่ยงรูปแบบและวิธีลงโทษตามข้อ 1 และข้อ 2 เป็นการเบี่ยงเบนด้วยเหตุผลในเชิงนิติศาสตร์

แต่การเบี่ยงเบนเพื่อลดปริมาณคดีในระบบที่กล่าวมาในข้อ 3 นั้น มีลักษณะเป็นการเบี่ยงเบนในเชิงนโยบายบริหารจัดการมากกว่า
แต่ไม่ว่าการเบี่ยงเบนคดีอาญาจะเกิดขึ้นในขั้นตอนใด หรือมีวัตถุประสงค์อย่างไร หากผลของการเบี่ยงเบนนั้น จะทำให้ผู้เสียหายได้รับผลกระทบ หรือทำให้คดีเป็นอันยุติไป ก็จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบจากศาล เพื่อมิให้มีการใช้ระบบเบี่ยงเบนคดีไปในทางที่มิชอบ เช่น เบี่ยงเบนคดีเพื่อช่วยผู้กระทำความผิดให้หลุดพ้นจากถูกดำเนินคดี หรือหลีกเลี่ยงระบบตรวจสอบของศาล เป็นต้น

มีระบบตรวจสอบคำสั่งใช้มาตรการแทนการฟ้องหรือไม่
ร่างกฎหมายกำหนดว่า คำสั่งไกล่เกลี่ยคดีอาญาของพนักงานสอบสวนนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการก่อน ส่วนคำสั่งชะลอการฟ้องของพนักงานอัยการนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากอัยการสูงสุด
ข้อกังวลประการหนึ่งที่ศาลยุติธรรมไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้คือ การใช้อำนาจยุติคดีของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่มีระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับในระดับสากล ทำให้ผู้เสียหายอาจถูกข่มขู่คุกคามให้ยอมเข้าร่วมเจรจากับผู้ต้องหา และเห็นว่าศาลควรเป็นผู้ตรวจสอบให้ความเห็นชอบคำสั่งชะลอการฟ้องของพนักงานอัยการ
การที่ร่างกฎหมายกำหนดให้อัยการสูงสุดซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานอัยการเป็นผู้ตรวจสอบคำสั่งชะลอการฟ้อง จึงกลายเป็นว่า ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบเป็นคนภายในองค์เดียวกันกับผู้ที่จะถูกตรวจสอบ

ระบบการตรวจสอบคำสั่งชะลอการฟ้องนี้จึงไม่ใช่การตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส (transparency) แต่เป็นเพียงระบบกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา (oversee/monitor) ตามหลักการบริหารองค์กรทั่วไปเท่านั้น ไม่มีความเข้มข้นเหมือนระบบตรวจสอบโดยองค์กรที่เป็นกลาง (neutral) เพื่อคุ้มครองสิทธิตามหลักการสากล (due process)

ในส่วนนี้ นักกฎหมายฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ศาลไม่สามารถตรวจสอบคำสั่งชะลอการฟ้องของพนักงานอัยการได้ เนื่องจากการชะลอฟ้องเป็นอำนาจของพนักงายอัยการในขั้นตอนก่อนมีการฟ้องคดี เมื่อพนักงานอัยการยังไม่ฟ้อง ศาลจึงยังไม่มีอำนาจตรวจสอบคำสั่งของพนักงานอัยการ

นอกจากนี้ การที่จะให้ศาลมาตรวจสอบคำสั่งชะลอฟ้องจะทำให้เพิ่มปริมาณงานศาลโดยไม่จำเป็น ขัดแย้งกับหลักการของร่างกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณคดีเข้าสู่ศาล
แต่นักกฎหมายอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า การให้ความเห็นชอบกับคำสั่งชะลอการฟ้องนั้น มีลักษณะคล้ายกับการตรวจสอบคำร้องขอออกหมายค้นหรือหมายจับซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการไม่นาน จึงไม่ทำให้การพิจารณาคดีในศาลต้องล่าช้า

ส่วนข้อกังวลเรื่องศาลไม่มีอำนาจตรวจสอบเพราะพนักงานอัยการยังไม่ฟ้องคดีและการชะลอการฟ้องเป็นอำนาจพนักงานอัยการนั้น นักกฎหมายฝ่ายนี้เห็นว่า การค้น การจับเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน เช่นเดียวกับการสั่งฟ้อง สั่งไม่ฟ้องและชะลอการฟ้องก็เป็นอำนาจของพนักงานอัยการ ไม่ใช่อำนาจของศาล

แต่เนื่องจาก ศาลเป็นองค์กรหลักในการทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น การใช้อำนาจใดของฝ่ายบริหารที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล จึงต้องถูกตรวจสอบก่อนการใช้อำนาจนั้น เพื่อคุ้มครองสิทธิของปัจเจกชน
การที่ทั่วโลกกำหนดให้ศาลทำหน้าที่นี้ เนื่องจากศาลเป็นองค์กรที่เป็นกลาง (neutral) ไม่มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี เป็นองค์ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ (due process) อำนาจศาลเป็นไปในเชิงรับ (passive) ต่างกับอำนาจของฝ่ายบริหารที่ต้องใช้ในเชิงรุก (active) เพื่อดำเนินคดีหรือเพื่อป้องปรามอาชญากรรม (crime control)
แม้ศาลจะมีหน้าที่หลักในการสืบพยาน (adjudication) แต่นานาอารยะประเทศ นิยมให้ศาลทำหน้าที่ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนมีการใช้อำนาจที่เรียกว่า Due Process of Law หรือหลักนิติธรรม (Rule of Law) ด้วย เช่น การออกหมายค้น หมายจับ หมายขัง การให้ความเห็นชอบพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าถึงข้อมูลของบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การให้ความเห็นชอบในการจัดให้ผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์อยู่ในความดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการให้ความเห็นชอบในการใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวฯ เป็นต้น
ดังนั้น แม้การจับ การค้น หรือการกระทำใดๆข้างต้น รวมทั้งการชะลอการฟ้อง จะเป็นอำนาจของเจ้าพนักงาน แต่การตรวจสอบของศาล ก็เพื่อให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้อำนาจอย่างเหมาะสม เป็นเรื่องที่ศาลต้องทำหน้าที่ตรวจสอบในขั้นตอนที่เจ้าพนักงานของรัฐใช้อำนาจนั้นเอง ทั้งนี้ แม้จะเป็นขั้นตอนก่อนการฟ้องคดีก็ตาม

นอกจากนี้ เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งชะลอการฟ้องแล้ว ผู้ต้องหามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานอัยการกำหนด และการที่สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับลง อาจเป็นการจำกัดสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้เสียหาย ถือว่าคำสั่งชะลอการฟ้องมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล จำเป็นต้องถูกตรวจสอบแล้ว

อนึ่ง การไกล่เกลี่ยหรือชะลอการฟ้องจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ ทั้งในเรื่องของประเภทคดีและลักษณะของผู้ต้องหา ความยินยอมของผู้กระทำความผิดและของผู้เสียหายจะเป็นไปโดยอิสระและบริสุทธิ์ ถูกหลอกล่อ ข่มขู่คุกคามหรือไม่ เหล่านี้ ยังคงเป็นคำถามที่สังคมอาจมีความเคลือบแคลงสงสัย

จึงควรให้ศาลซึ่งเป็นองค์กรภายนอกเข้ามาช่วยตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและช่วยแก้ไขข้อผิดพลาดก่อนที่จะเกิดความเสียหายขึ้น
การที่ให้ศาลมาตรวจสอบคำสั่งชะลอการฟ้องเหมือนกับ การค้น การจับนี้ จะช่วยการสร้างความเชื่อมั่นกับสังคมว่ากระบวนการยุติธรรมชั้นต้นไม่ได้เป็นไปเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิดบางรายจากการถูกฟ้องคดี

และแม้ร่างกฎหมายจะกำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องศาลได้ในภายหลัง และให้ศาลรับฟ้องคดีไว้ได้ หากการชะลอฟ้องเป็นการฉ้อฉล

ดูเหมือนกับว่า ร่างกฎหมายมีทางแก้ไขเยียวยาผู้เสียหายไว้แล้วก็ตาม แต่.. ตามหลัก due process แล้ว ต้องเป็นการตรวจสอบก่อนการใช้อำนาจ. ไม่ใช่ในภายหลัง และคำว่าฉ้อฉลนั้น เป็นถ้อยคำที่มักใช้กันในกฎหมายแพ่ง. ยังไม่ชัดเจนว่ามีความหมายอย่างไร และใครฉ้อฉลใคร

และกรณีที่ศาลเห็นว่า การไกล่เกลี่ยหรือชะลอฟ้อง ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เช่น ประเภทคดี หรือความยินยอมของคู่กรณี ศาลก็ไม่สามารถเพิกถอนหรือแก้ไขได้เพราะกฎหมายกำหนดเรื่องฉ้อฉลไว้เพียงประการเดียวเท่านั้น…

มีนักกฎหมายอาวุโสท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ในการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายนี้ว่า
“สมัยก่อนนั้นเราคงเคยได้ยินคนเขาว่า ผู้ต้องหาถูกบังคับให้รับสารภาพ.. แต่ถ้าวันใดกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ .. เราอาจจะได้ยินเขาว่า.. ผู้เสียหายถูกบังคับให้ยินยอมให้ใช้มาตรการนี้แทนก็ได้… ”
นักกฎหมายฝ่ายนี้ จึงเห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีแนวความคิดที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและเป็นทิศทางการพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่เป็นประโยชน์อย่างมาก เช่น การลดความแออัดในเรือนจำ การไม่ตีตราบาปและให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิด เป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ทั้งยังช่วยลดภาระคดีของศาลลงได้มาก ต้องขอยกย่องชื่นชมกับแนวความคิดดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังคงมีบทบัญญัติหลายมาตราที่ขัดต่อหลักการสำคัญทางอาญาและอาจมีผลเป็นการทำลายประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมลงจนหมดสิ้น จึงควรต้องตัดบทบัญญัติเหล่านั้นออก และปรับแก้บทบัญญัติอื่นๆให้เหมาะสมเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและเพื่อเพิ่มข้อดีของกฎหมายที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น

แต่หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติยังคงยืนยันตามร่างเดิม กฎหมายฉบับนี้ ก็อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือของในการบิดเบือนความยุติธรรม.. ด้วยการช่วยเหลือให้ผู้กระทำผิดบางคนให้หลุดพ้นไปจากความรับผิดทางอาญาโดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากศาล

การอธิบายข้อดีข้อเสียของกฎหมายนี้ให้ชาวบ้านที่ไม่รู้กฎหมายฟัง เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก
เดาใจว่ารัฐบาลคงอยากได้กฎหมายฉบับนี้มาก..

ผู้เสียหายนั้น โดยทั่วไป ไม่ว่าอย่างไร ก็ไม่อยากไปศาลอยู่แล้ว..
จำเลยเองก็ไม่อยากถูกฟ้องแน่นอน..

ส่วนพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ แม้จะมีบทบาทหลักในการดำเนินคดี มิใช่ยุติคดีได้เองตามกฎหมายนี้ก็ตาม..

แต่จะเห็นได้ว่าก็มีพนักงานสอบสวนทุกวันนี้มีงานรับผิดชอบมากมายอยู่แล้ว.. พนักงานอัยการเอง ถ้าชะลอฟ้องได้ ก็ไม่ต้องมาสืบพยานในชั้นศาลให้ยุ่งยาก …

กฎหมายนี้จึงเอื้อประโยชน์แก่หน่วยงานทุกฝ่าย.. .ข้อดีเห็นง่าย ชัดเจน.. ข้อเสียเห็นยาก ไม่เข้าใจ
ฟันธงว่า.. เราคงจะได้ใช้กฎหมายฉบับผลิกโฉมหน้ากระบวนการยุติธรรมในยุคนี้แหละครับ..
เมื่อเวลานั้นมาถึง .. ก็คงจะได้แต่สงสารและเห็นใจผู้เสียหายที่ตัวเล็กกว่า.. เสียงเบากว่าผู้ต้องหาเท่านั้น..

เพราะแม้แต่ศาล อันเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนเอง. ก็คงช่วยอะไรไม่ได้…

อนิจจา.. พัฒนาการกระบวนการยุติธรรมไทย..

 

ดล บุนนาคimage