ความสำเร็จ

ความสำเร็จ เป็นสิ่งที่พึงประสงค์แก่เราทุกคน
​ความล้มเหลว เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์แก่เราทุกคน
​ทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จในชีวิตการเกิด คงเป็นสิ่งที่แต่ละคนค้นหา แสวงหากันทั้งชีวิต ผลที่ออกมาในชีวิตของแต่ละคน มีทั้งความสำเร็จและไม่สำเร็จ รวมเป็นประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน
​เมื่อกล่าวถึงความสำเร็จแล้ว เหตุหนึ่งที่สำคัญของความสำเร็จ คือ ความตั้งใจ
​หากไม่มีความตั้งใจแล้ว จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร
​หากรักษาความตั้งใจไม่ได้แล้ว ไม่มั่นคงแล้ว จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร
​เช่น คนที่มีความตั้งใจจะเป็นวิศวกร จำเป็นต้องมีความตั้งใจศึกษา จนจบการศึกษา จากนั้นทำงานหาประสบการณ์ จึงจะเป็นวิศวกรผู้ชำนาญงานต่อไปได้ แต่หากไม่รักษาความตั้งใจได้ ไม่มีความเพียรแล้วคงยากที่ประสบความสำเร็จได้

คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ หรือ อิทธิบาท 4 มีดังนี้
​ข้อที่ 1 ฉันทะ ความพอใจ
​ข้อที่ 2 วิริยะ ความเพียร
​ข้อที่ 3 จิตตะ ความเอาใจใส่
​ข้อที่ 4 วิมังสา ความไตร่ตรอง ความใคร่ครวญ

​ธรรมดังกล่าวคงเป็นที่คุ้นเคย หรือรู้จักกันมาก แต่การน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ ที่ไม่ควรมองข้าม
​มนุษย์เรานั้นหากขาดความตั้งใจแล้ว คงเป็นเหตุสำคัญที่อาภัพอับโชค ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนคนอื่น

ดังนั้นหากประสงค์ความสำเร็จแล้วคงต้องเริ่มจากคำถามที่ถามตัวเองว่า เราต้องการอะไร เราต้องการความสำเร็จอะไรในเบื้องต้น เราต้องการความสำเร็จอะไรในท่ามกลาง และที่สุด สุดที่สุดของชีวิต เราปรารถนาสิ่งใด เรียกว่า เราต้องมีทิศทางในการดำเนินชีวิต จำเป็นที่เราจะต้องมีทิศทางที่ชัดเจน เปรียบดังการเดินทางโดยรถยนต์ ก็คงต้องมีที่หมายก่อนว่าจะไปไหน แม้ไกลแสนไกล หากเรามีที่หมายที่ชัดเจนแล้ว ทุกขณะที่เดินทาง ก็เข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้น เส้นทางของชีวิตก็เช่นเดียวกัน จำเป็นที่จะต้องศึกษา และหาเป้าหมายที่ชัดเจน

ความเพียร เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในลำดับถัดมา มีความปรารถนาแต่ขี้เกียจ ไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร ความขยันหมั่นเพียรเป็นก้าวสำคัญสู่ความสำเร็จ สู่ความเป็นจริงได้
​ความเอาใจใส่ ความมีจิตใจฝักใฝ่ เป็นปัจจัยสำคัญถัดมา จำเป็นต้องสนใจเอาใจใส่ เช่น เราปลูกดอกกุหลาบพันธุ์ดีสีสวย เราต้องเอาใจใส่รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ป้องกันศัตรูพืช อย่างต่อเนื่อง ไม่เอาใจใส่ก็ตายหมด หมดโอกาสที่จะมีดอกให้เราชื่นชม

ความไตร่ตรอง ความใคร่ครวญ การตรวจสอบตรวจตา จำเป็นที่จะต้องมีเพื่อแก้ไข หรือป้องกันผลเสียหาย หรือความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น การปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ
​ธรรมสู่ความสำเร็จนี้ มีได้แก่เราทุกคน ความสุขและความสำเร็จในชีวิตเกิดได้แก่เราทุกคน สำคัญที่มีความตั้งใจแล้ว รักษาความตั้งใจที่ดีไว้ให้จงได้ วันหนึ่งความสำเร็จคงปรากฏขึ้นแก่เรา

 
​​​​​​​​รังสรรค์ อินทร์จันทร์
​​​​​​​ที่ปรึกษา งานพัฒนาบุคคลสู่ความเป็นเลิศ
​​​​​​​​ 19/04/2559