เมื่อวานนี้ 7 ส.ค 67 ศาลรธน.อ่านคำตัดสินยุบพรรคก้าวไกลตามเสียงลือมานาน ตรงตามคาด ไม่มีพลิกโผ ส่งผลให้กก.บริหารพรรคก้าวไกลถูกตัดสิทธิทางการเมือง10ปี

ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า คำวินิจฉัยคดี 3/2567 หรือที่รู้จักในชื่อ “คดีล้มล้างการปกครอง” มีผลผูกพันทุกองค์กร และมีผลผูกพันมาถึงคดีนี้

การกระทำต่าง ๆ ไม่ได้ทำในนาม กก.บห. หรือกระทำผ่านมติพรรค แต่ กก. บห. ต้องมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลไม่ให้สมาชิกพรรคกระทำการอันฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ “เช่นนี้จึงเป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวังผลักดันให้นโยบายของพรรคสำเร็จลงตามความมุ่งหมาย ถือเป็นการกระทำความผิดโดยอ้อมของพรรค โดยใช้ สส. หรือสมาชิกพรรค เป็นตัวแทนหรือเป็นเครื่องมือในการกระทำผิด”

“กรณีจึงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 อนุหนึ่ง และอนุสอง อันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคสอง”

สำหรับมติที่ออกมา คือ

  • มติ 9 ต่อ 0 ให้ยุบพรรค ก.ก. ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง
  • มติ 8 ต่อ 1 ให้ยุบพรรค ก.ก. ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสอง (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยคือ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์)
  • มติ 9 ต่อ 0 ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง กก.บห. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในระหว่างวันที่ 25 มี.ค. 2564-31 ม.ค. 2567
  • มติ 9 ต่อ 0 ห้ามมิให้ผู้เคยดำรงตำแหน่ง กก.บห. ที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็น กก.บห. หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น 10 ปี

ทางด้านพรรคก้าวไกลหลังฟังคำตัดสินประกาศก้องเจอกันวันที่9ส.ค67 เปิดตัวพรรคใหม่รวมทีมส.ส ทั้งหมดที่มีอยู่ในสภาเข้าสังกัดทันที โดยเตรียมลับมือ “ยิ่งฆ่ายิ่งโต”ไว้ คาดว่า ปชช.14ล้านคนที่เลือกพรรคก้าวไกลจะขยายจำนวนโตขึ้นอีกมากในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะทนเห็นบ้านเมืองอยู่ในสภาวะแบบนี้ไม่ไหว ที่ประชาชนไม่มีอำนาจอะไรเหมือนเหยียบย่ำปชช.ทั้งที่กาให้ก้าวไกลเข้ามาด้วยจำนวนเสียงมากสุดแต่กลับไม่ได้เป็นรัฐบาลเพราะถูกกลไกอำนาจเถื่อนสกัดกั้นทุกทาง

ทางด้าน นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญส่งผลกระทบอย่างสำคัญมากกว่าการยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิการเมือง กก.บห. เพราะเป็นการวางบรรทัดฐานการตีความรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่อันตรายต่อหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“คำวินิจฉัยของศาลในวันนี้ สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ในระยะยาว ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของพวกเรากลายพันธุ์ไปเป็นระบอบอื่น นี่คือนัยสำคัญที่พวกเราเห็น” นายชัยธวัชกล่าว

สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาอ่านคำวินิจฉัย 53 นาที โดยศาลเห็นว่า ข้อโต้แย้งและคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของพรรค ก.ก. ฟังไม่ขึ้นทุกประเด็น จึงนำมาสู่คำสั่งให้ยุบพรรคในที่สุด โดยสรุปว่า

หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับวินิจฉัยคดีหรือไม่

ศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 บัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้บุคคลที่ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ เลิกกระทำการดังกล่าว โดยมิได้บัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองที่มีการกระทำล้มล้างการปกครองฯ ไว้ในรัฐธรรมนูญโดยตรง ดังเช่นรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 63 วรรคสาม หรือรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 วรรคสาม “แต่เจตนารมณ์ในการคุ้มครองและปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดย่อมแสดงออกโดยสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้กับประชาชน และให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้ หากมีข้อเท็จจริงว่ามีบุคคลหรือพรรคการเมืองจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ”

สอง ไม่เปิดโอกาสผู้ถูกร้องรับฟังข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และไม่เปิดโอกาสให้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานเพื่อหักล้าง

ศาลชี้แจงว่า การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ 2 กรณี ได้แก่ กรณี กกต. มี “หลักฐานอันควรเชื่อได้” ว่าพรรคการเมืองใดได้กระทำการที่เข้าลักษณะตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) และกรณี “เมื่อปรากฏ” ต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 93 นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อเสนอความเห็นต่อ กกต. ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายวางกฎเกณฑ์ของผู้เริ่มกระบวนการและลักษณะของข้อเท็จจริงไว้แตกต่างกัน

กรณีนี้ ผู้ถูกร้องยื่นต่อศาลว่าไม่ได้ให้โอกาสโต้แย้ง แต่เมื่อคดีนี้กับคดี 3/2567 เป็นคดีที่มีมูลกรณีและผู้ถูกร้องเป็นบุคคลเดียวกัน การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคดีตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 โดยการไต่สวนพยานหลักฐานต่อเนื่อง ให้ทราบข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริง โดยผู้ถูกร้องมีโอกาสตรวจ คัดค้านพยานหลักฐาน สำนวนทั้งหมด รวมทั้งได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเต็มที่ต่อหน้าศาลแล้ว “จึงถือว่าเป็นกระบวนการไต่สวนรัฐธรรมนูญที่ให้ความเป็นธรรมยิ่งไปกว่าการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องจึงไม่อาจรับฟังได้”

สาม ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิกกระทำ พรรค ก.ก. ได้นำนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ออกจากเว็บไซต์ และไม่อาจใช้คำวินิจฉัยคดี 3/2567 มาผูกพันคดีนี้ได้ ศาลต้องไต่สวนคดีใหม่ทั้งหมด

ศาลระบุว่า แม้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะไม่ยกเลิกไปหรือสิ้นไป แต่หากมีข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อมีการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เกิดขึ้นแล้ว “การกระทำนั้นจะเป็นความผิดสำเร็จในทันที โดยไม่ต้องรอให้มีผลจากการกระทำนั้นปรากฏขึ้นก่อน”

เมื่อคำวินิจฉัย 3/2567 พบว่า ผู้ถูกร้องกระทำหลายพฤติการณ์ต่อเนื่องเป็นขบวนการ “หากปล่อยให้ผ้ถูกร้องกระทำการต่อไปย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ การกระทำของผู้ถูกร้องจึงใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ อันเป็นความผิดสำเร็จตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 แล้ว”

สี่ พรรคเป็นนิติบุคคล ต้องดำเนินการโดย กก.บห. จึงจะผูกพันหรือเป็นการกระทำของพรรค แต่การเสนอกฎหมาย เป็นนายประกัน และแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ เป็นการกระทำของ สส. ในฐานะส่วนตัว

ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงคดี 3/2567 ฟังเป็นยุติแล้วว่าการเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ลดทอนคุณค่าสถาบันฯ ดำเนินการโดย สส.ก้าวไกลเพียงพรรคเดียว โดยเฉพาะเสนอนโยบายหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 ต่อ กกต. เพื่อใช้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แม้การกระทำเหล่านี้จะไม่ได้ทำในนาม กก.บห. หรือกระทำผ่านมติพรรค แต่ กก. บห. ต้องมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลไม่ให้สมาชิกพรรคกระทำการอันฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ “เช่นนี้จึงเป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวังผลักดันให้นโยบายของพรรคสำเร็จลงตามความมุ่งหมาย ถือเป็นการกระทำความผิดโดยอ้อมของพรรค โดยใช้ สส. หรือสมาชิกพรรค เป็นตัวแทนหรือเป็นเครื่องมือในการกระทำผิด”

นอกจากนี้ผู้ถูกร้องยังแสดงบทบาทเคลื่อนไหวการเมือง โดยสอดรับกับกลุ่มต่าง ๆ โดยรณรงค์ปลุกเร้าให้แก้ไขมาตรา 112 ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขุ่นเคืองในหมู่ประชาชน มีลักษะยุยงให้เกิดการเกลียดชัง ย่อมส่งผลให้หลักการและคุณค่าที่ดำรงอยู่ตามรัฐธรรมนูญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของรัฐต้องถูกล้มเลิกและสูญเสียไป ผู้ถูกร้องไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดได้

ห้า ผู้ถูกร้องต่อสู้ว่าไม่ได้ล้มล้างการปกครองฯ และการกำหนดโทษไม่ได้สัดส่วน

ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นกล่าวอ้าง ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่เดิมหรือเคยต่อสู้ในชั้นพิจารณาของศาลในคดี 3/2567 มาแล้วทั้งสิ้น เมื่อศาลฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วในคดีดังกล่าวว่า พฤติการณ์ของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่ บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ” ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมต้องผูกพันศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ด้วย

ส่วนการกระทำเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ หรือไม่

ศาลเห็นว่า การกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ย่อมร้ายแรงกว่าการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ เนื่องจากการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์หมายถึงกระทำตนต่อต้าน เป็นฝ่ายตรงข้าม ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริง 3/2567 รับฟ้งได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำการล้มล้างการปกครองฯ ย่อมเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ด้วย

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุด้วยว่า การยุบพรรคต้องเคร่งครัด ระมัดระวัง ได้สัดส่วนความรุนแรง

ผู้ถูกร้องมีการกระทำอันฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 อนุหนึ่ง และอนุสอง กฎหมายดังกล่าวต้องใช้กับพรรคการเมืองทุกพรรคไม่ว่าพรรคนั้นจะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม แต่ทุกพรรคต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเดียวกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน อันเป็นพฤติการณ์และข้อกฎหมายที่ได้สัดส่วน จำเป็นต้องปฏิบัติตามเพื่อหยุดยั้งการทำลายพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธปิไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”

“แม้นักวิชาการสาขาต่าง ๆ นักการเมือง หรือนักการทูตของต่างประเศ ต่างก็มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งข้อกำหนดของตนที่แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ การแสดงความเห็นใด ๆ ย่อมต้องมีมารยาททางการทูตและการต่างประเทศที่พึงปฏิบัติต่อกัน” คำวินิจฉัยศาลระบุตอนหนึ่ง

ทางด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ก.ก. กล่าวรับคำวินิจฉัย และรับรู้ถึงความเจ็บปวดจากการถูกยุบพรรคเป็นครั้งที่สอง โดยยืนยันว่าจะไม่ละทิ้งความฝันและภารกิจที่ได้รับมอบมาจากประชาชน โดยในวันที่ 9 ส.ค. สมาชิกก้าวไกลจะย้ายไปบ้านใหม่ โดยขอให้ประชาชนร่วมติดตาม

น.ส.ศิริกัญญา ยืนยันด้วยว่า มาตรา 112 เป็นปัญหา แต่ทั้งนี้ จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้บอกว่าห้ามแก้โดยเด็ดขาด แต่ต้องมีการพูดคุยในรายละเอียดต่อไป

สำหรับ กก.บห.ก้าวไกล ที่ กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี มีจำนวน 2 ชุด รวมทั้งหมด 11 คน ครอบคลุมถึง กก.บห. ที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 25 มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันที่ 44 สส.ก้าวไกล เสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร จนถึง 31 ม.ค. 2567 อันเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองฯ ในจำนวนนี้มี สส. อยู่ 6 คน (ที่มี * หลังชื่อ) ประกอบด้วย

  • นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์* หัวหน้าพรรค ชุดที่ 1
  • นายชัยธวัช ตุลาธน* เลขาธิการพรรค ชุดที่ 1 ต่อมาขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ชุดที่ 2
  • น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค
  • นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค
  • นายปดิพัทธ์ สันติภาดา* กก.บห.สัดส่วนภาคเหนือ (ต่อมาลาออกจากสมาชิกพรรค ก่อนย้ายไปสังกัดพรรคเป็นธรรม เพื่อรักษาสถานะรองประธานสภา)
  • นายสมชาย ฝั่งชลจิตร กก.บห.สัดส่วนภาคใต้
  • นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กก.บห.สัดส่วนภาคกลาง
  • นายอภิชาต ศิริสุนทร* กก.บห.สัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชุดที่ 1 ต่อมาขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค ชุดที่ 2
  • น.ส.เบญจา แสงจันทร์* กก.บห.สัดส่วนภาคตะวันออก
  • นายสุเทพ อู่อ้น* กก.บห.สัดส่วนปีกแรงงาน
  • นายอภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กก.บห.

ขอบคุณที่มา สำนักข่าว บีบีฃี