“องค์กรตุลาการควรได้รับการปฏิรูปเป็นองค์กรแรก”
อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ : “องค์กรตุลาการควรได้รับการปฏิรูปเป็นองค์กรแรกๆ ของสังคมไทยด้วยซ้ำ”
อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ จำเลยคนแรกในคดีการเมืองจาการชูป้ายต้านรัฐประหาร อภิปรายในงานเสวนา ตุลาการในสถานการณ์พิเศษ ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ว่า
องค์กรตุลาการบ้านเราเป็นระบบปิด ยากจะเข้าถึงรวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบ จริงๆ มันไม่ได้ผิดปกติเฉพาะในสถานการณ์พิเศษ ในสถานการณ์ปกติองค์กรตุลาการก็มีปัญหาหมักหมมเต็มไปหมด มีการพูดถึงการปฏิรูปตุลาการตั้งแต่ปี 2540 องค์กรตุลาการควรได้รับการปฏิรูปเป็นองค์กรแรกๆ ของสังคมไทยด้วยซ้ำ เหตุที่สังคมไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้เพราะ องค์กรตุลาการพยายามยกตัวเองให้เหนือองค์กรอื่นๆ ยกว่าอาชีพผู้พิพากษาเหนือกว่าอาชีพอื่นๆ
ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลไม่ได้เกิดตั้งแต่โบราณกาล มันเพิ่งถูกสร้างขึ้นมาไม่นานนี้เอง เป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อให้พ้นจากการตรวจสอบ มักมีการพูดกันว่า ตุลาการกระทำในนามพระปรมาภิไธย ซึ่งมักขยายความไปถึงว่าตุลาการเป็นตัวแทนของสถาบันด้วยซ้ำไป เรื่องนี้เป็นสิ่งเข้าใจผิด การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เช่นนั้นไม่ได้หมายความให้องค์กรตุลาการเป็นตัวแทนของสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นบทบัญญัติในทางเทคนิคที่ต้องอาศัยตัวแทนในการกระทำ เพราะอรรถคดีมีเป็นจำนวนมากจึงต้องตั้งตัวแทน
ศาลสามารถตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ ภายใต้หลักกฎหมายที่คงอยู่ แต่ไม่ใช่ยึดตาม ม.226 ประมวลกฎหมายแพ่ง ปกติศาลมักจะยกขึ้นมากล่าวอ้างกับคนที่วิพากษ์ศาลเสมอว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว จะโต้แย้งตรวจสอบก็ต้องอุทธรณ์ตามขั้นตอนไป แต่การพูดวันนี้ไม่ใช่การดำเนินการตามมาตรานั้น นอกจากนี้คสช.เองก็ออกคำสั่งฉบับ 63/2557 เขียนชัดเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมภายใต้กฎหมายอย่างทั่วถึง เสมอภาค สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ ทั้งศาล อัยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ข้อวิพากษ์หลักๆ มีดังนี้
1.ในสถานการณ์ปกติก็มีแพะเป็นจำนวนมาก ไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีความล่าช้าในปัจจุบันการทำคดีของศาลใช้ระยะเวลายาวนานมาก แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารของศาลขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ศาลชั้นต้นใช้เวลา 2 ปีตั้งแต่สั่งฟ้องถึงพิพากษา ศาลอุทธรณ์ 4 ปี ศาลฎีกามากกว่า 10 ปี โดยเฉพาะคดีภาษี บางคดีใช้เวลา 15 ปี
2.กระบวนการศาลของบ้านเราขัดต่อหลักนิติรัฐ กรรมการตุลาการ (กต.) ดูการสอบผู้พิพากษา สอบสวนเรื่องวินัย ลงโทษโยกย้าย ไม่มีหน่วยงานภายนอกเป็น กต.เลย ศาลตรวจสอบกันเองทำกันเองทุกอย่าง ขาดความเชื่อมโยงกับระบอบประชาธิปไตยอย่างมาก การเชื่อมโยงกับประชาชนศาลไม่มีมิตินี้เลย อาจมีผู้โต้แย้งว่า เชื่อมโยงกับประชาชนแล้วอาจขาดความเป็นอิสระ เหตุผลนี้ใช้ไม่ได้ การให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมและตรวจสอบศาลได้ทำได้หลายวิธีหากกลัวนักการเมืองแทรกแซง
3.เรื่องความเป็นอิสระของตุลาการ แบ่งได้ 3 ประเภท คือ การที่ผู้พิพากษาไม่สามารถบังคับบัญชาในการสั่งคดีได้ ความเป็นจริงไม่ใช่ คดีของผมกล้าพูดได้เลย ผมตกใจมาก ผิดกับที่เรียนมา คำพิพากษาของผมนัดเดือนพ.ย.2558 นัดให้ผมมาฟังเดือนก.พ.2559 ท่านบอกว่าคำพิพากษาฉบับนี้ต้องส่งให้อธิบดีศาลดูก่อน ถ้าผู้พิพากษาไม่สามารถบังคับบัญชาได้จริง ทำไมต้องส่งคำพิพากษาให้ผู้บังคับบัญชาดู ผมมีความเคลือบแคลงสงสัยว่าผู้บังคับบัญชาสามารถแก้ไขคำพิพากษาได้หรือไม่
4.ศาลไม่ได้ทำหน้าที่ประกันความยุติธรรม ในกระบวนการจับกุม คุมขัง ค้น ศาลไม่ได้ทำหน้าที่ประกันความยุติธรรมให้จำเลย ตำรวจจะทำอย่างไรก็ได้ สุดท้ายเอามาฟ้องศาล ศาลบอกว่าชอบ ไม่ได้ดูกระบวนการจับกุมและสอบสวนว่าชอบหรือไม่
วันนี้ศาลถูกลดทอนศักดิ์ศรีไปมาก ไม่ใช่เพราะพวกผมมาพูดวิจารณ์ศาล แต่คนที่ทำคือฝ่ายการเมือง รัฐบาลในปัจจุบันและทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ในกฎหมายระบุว่า ผู้พิพากษาต้องเลื่อมใสในระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย เรื่องนี้ศาลไม่เคยออกมาแถลงหรือสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ไม่ใช่ที่มีโรคประสาทอย่างเดียวที่ขาดคุณสมบัติ แต่ตุลาการที่ไม่เลื่อมใสระบอบประชาธิปไตยก็ขาดคุณสมบัติต้องออกจากตำแหน่งด้วย
ใส่ความเห็น