ซื้อขายออนไลน์ฟ้องศาลได้โดยตรง แต่กว่าจะสำเร็จคงยาก 

                 นโยบายศาลยุติธรรม เปิดแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ไม่ตรงปกผู้เสียหายสามารถยื่นฟ้องศาลได้โดยตรงผ่านเวปไซด์  E-filing ด้วยคำโฆษณาชวนให้ใช้บริการ คือ “ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ต้องมีทนาย ไม่ต้องมาศาล ” เท่านี้ หลายคนต้องขอบคุณท่านประธานศาลฎีกา ที่มีนโยบายดีดีเช่นนี้ออกมา  แต่ปรากฏว่า เมื่อทดลองใช้บริการแล้วกลับมีความยุ่งยาก ล่าช้า ติดขัด  เพราะไม่มีรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการหลังจากฟ้องคดีแล้วต้องดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะผ่านเวปไซด์ดังกล่าว เดี๋ยวก็เด้งให้เข้าระบบได้เดี๋ยวก็บอกว่าไม่มีข้อมูลบ้าง ทำเอาสับสนอลหม่านกว่าจะเข้าเวปไปติดตามข้อมูลคดีได้  

                สำคัญคือ การจะฟ้องคดีนี้ได้ต้องมีชื่ออีเมล์ ของร้านค้า ในคดีผบ.๔๕ /๖๕  ระบบใช้พนักงานนิติกรของแผนกคดีคุ้มครองผู้บริโภคมาทำหน้าที่เป็นทนายให้นั่นแหละ  ซึ่งก่อนหน้าประชาชนก็บ่นกันมากถึงพนักงานนิติกรแผนกนี้ทำงานไม่ประทับใจ มาวันนี้เห็นวิธีการเขียนคำฟ้องหรือคำร้องต่อศาลในคดีผบ.เลขนี้แล้วจึงได้รู้ว่า ขืนใช้นิติกรศาลแผนกนี้คงต้องอดทนอดกลั้น เพราะคำฟ้องเขียนไม่ละเอียด เขียนเพียงให้เข้าประเด็นให้ศาลรับฟ้องแต่รายละเอียดมิได้ใส่ลงไปให้ศาลเห็น พยานเอกสารหลายฉบับไม่ถูกตรวจอ่าน ทำให้การพิจารณาของศาลชะงักล่าช้าเลื่อนการพิจารณา เพราะ ต้องตรวจสอบค้นหาอีเมล์ของร้านค้า ซึ่งฝ่ายนิติกรต้องเป็นคนทำให้ ซึ่งก็แปลกว่า ทำงานมานานแต่ระบบการตรวจสอบค้นหากลับแจ้งว่าไม่พบ ติดต่อไม่ได้  

                 ผู้ฟ้องคดีก็ให้รายละเอียดชื่อ อีเมล์ของร้านค้าให้แล้ว ให้เบอร์โทรศัพท์ ที่ตั้ง ของร้านค้า ให้ชื่อเพจที่เข้าไปสั่งซื้อก็แล้ว ให้เวปไซด์ของจำเลยที่๒ ก็แล้ว ให้ชื่อที่ตั้งให้เลขทะเบียนนิติบุคคล ให้ชื่อบริษัท ก็แล้ว  หากนิติกรหรือที่ว่าไม่ต้องมีทนายจะใส่ใจสักนิด อ่านดูให้ถี่ถ้วนตรวจค้นตามปกติไม่ได้ยุ่งยากอะไร ก็จะพบข้อมูล นำเสนอศาลได้โดยไม่ต้องนัดพิจารณาครั้งแล้วครั้งเล่าเลื่อนนัดไปหลายครั้งเช่นนี้  

                แถมให้ศาลออกหมายเรียกจำเลยแต่ไม่รู้จะส่งให้จำเลยได้อย่างไร เพราะต้องส่งให้ผ่านทางเวปไซด์ ผ่านทางอิเลคทรอนิกส์เท่านั้น เมื่อไม่รู้อีเมล์ เมื่อไม่รู้เวปไซด์จึงส่งไม่ได้ จึงเป็นจุดบอดของการฟ้องคดีผ่านออนไลน์ หรืออย่างไร  ทั้งที่ผู้ฟ้องก็ได้ให้ ชื่อ ที่อยู่ เพจ เวปไซด์ เบอร์โทร  โดยปกติถ้ามีทนายเอง คงจัดการได้แต่พอใช้ทนายรัฐ(นิติกรแผนกคดีคุมครองผู้บริโภค) ได้แต่เงินเดือนใครจะอยากทำหน้าที่ให้เหนื่อยยาก   

                ล่าสุดหลังจากเลื่อนมาสองนัดจะเข้านัดที่สาม ศาลในนัดที่สองขอให้ผู้ฟ้องทำคำร้องขอให้ออกหมายขอเอกสารจากจำเลยที่๒ ผู้เป็นคนรับเงินนำส่งให้จำเลยที่๑ เพื่อให้จำเลยที่๒ส่งมอบเอกสารว่า ได้ส่งเงินที่ได้จากผู้ฟ้องคดีไปให้จำเลยที่๑ ชื่ออะไร ธนาคารไหน  

               ปรากฏว่าเมื่อผู้ฟ้องคดีส่งคำร้องแล้วได้รับการพิจารณาจากศาล คนใหม่ที่อาจจะเข้าเวรพิจารณาคำร้องว่า โจทก์ฟ้องคดีผ่านระบบอีเลคทรอนิกส์เต็มรูปแบบจึงไม่อาจออกหมายเรียกพยานโดยพนักงานศาลได้ ยกคำร้อง   

              เมื่อสอบถามพนักงานศาลฝ่ายคดีออนไลน์แล้วทำไงต่อ พนักงานศาลแจ้งว่า ไว้รอแถลงศาลในนัดวันที่๕ พ.ค ถึงวันนั้นคดีต้องเลื่อนออกไปเป็นครั้งที่๔ ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีค่าใช้จ่าย แต่การรอเวลานับวันนัดเป็นการทรมานใจได้อย่างหนึ่ง สรุปคือคดีคงใช้เวลานานมากกว่าครึ่งปี เพราะหมายเรียก ไม่สามารถไปถึงจำเลยโดยทางอื่นได้นอกจากทางอีเมล์ เท่านั้น และผู้ฟ้องได้มอบให้หมดแล้ว ถ้านิติกรจะใส่ใจติดตามสักนิด ค้นหาสักหน่อย คดีจะไม่ล่าช้า และส่งผลให้ร้านค้าป่านนี้ไม่รู้ปิดเพจปิดอีเมล์หนีไปแล้ว  

            แต่จำเลยที่๒ ผู้รับเงินร่วมกันกระทำผิดเพราะผู้ฟ้องแจ้งให้อายัดเงินห้ามนำส่งแต่กลับไม่สนใจนำส่งเงินไปให้ร้านค้า เป็นบริษัทคนจีนมาทำธุรกิจในไทย ชื่อดัง ซึ่งตำรวจน่าจะติดตามเช่นกันเพราะผิดปกติว่าจดทะเบียนที่ตั้งนิติบุคคลแถวรัชดา แต่ไม่พบการทำงานเพราะที่ทำงานไปอยู่ที่บางนา ทำให้เมื่อเวลามีหมายคดี หมายศาล พวกนี้จะไม่สนใจไม่ได้รับ ส่งหมายไม่ได้ แถมอีเมล์ที่ให้ไว้ในขณะจดทะเบียนก็ไม่ใช่อีเมล์ที่แท้จริง 

             ปท.เทศไทยปล่อยให้พวกขี้โกงเข้ามาทำธุรกิจ โกงคนไทย โดยข้าราชการไทย เพิกเฉย ไม่ใส่ใจ ขนาดให้ข้อมูลยังไม่ขยับไปจัดการ เปลืองงบประมาณภาษีประชาชนจริงๆ  

            อย่างไรก็ตามนโยบายเปิดแผนกคดีซื้อของออนไลน์ไม่ตรงปก ของท่านประธานศาลฎีกาก็เป็นสิ่งที่ดีน่าสนับสนุน แต่คนในองค์กรต้องร่วมมือ  และสำคัญคือ ต้องเขียนคำแนะนำในการดำเนินการทุกขั้นตอนให้ละเอียดเพื่อผู้ฟ้องคดีจะได้เข้าใจและดำเนินการได้อย่างถูกต้องแล้ว นิติกรแผนกคดีคุ้มครองผู้บริโภคก็ควรที่จะทำหน้าที่ให้สมกับการเป็นทนายแก้ต่างให้ปชช. อย่างมีคุณภาพด้วย  

พัชรินทร์