ปิยบุตรเสนอเรื่องเดือดถูกใจปชช.แก้ไขที่มาของศาลรธน.และยกเลิกมาตรา279เอื้อคนรัฐประหารพ้นผิด แถมเสนอตั้งผู้ตรวจการกองทัพ ทหารต้องอยู่ใต้พลเรือน
.
ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และผู้ร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กล่าวชี้แจงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 16 พ.ย 64 ต่อการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตอนหนึ่งว่า หนึ่งในข้อเสนอคือให้มีการตั้งคณะผู้ตรวจการกองทัพ โดยมาจากการแบ่งสัดส่วน ส.ส. อย่างเป็นธรรม เป็นซีกรัฐบาล 5 คน ฝ่ายค้าน 5 คน และมีหลักการสำคัญคือ รัฐบาลพลเรือนต้องอยู่เหนือกองทัพ
.
ทั้งนี้ ในประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตยทั่วโลก หมายความว่ากองทัพเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ ต้องขึ้นกับ ส.ส. โดย ส.ส. จะเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง การหารายได้ของกองทัพ และเป็นหลักประกันให้นายทหารชั้นผู้น้อย ทหารเกณฑ์ และร้องเรียนเรื่องทางวินัยต่อคณะผู้ตรวจการกองทัพ โดยหากยังเป็นระบบแบบในปัจจุบัน จะไม่มีการสร้างระบบหลักประกันสิทธิเสรีภาพในกองทัพ เพราะผู้พิจารณาวินัยทั้งหมดเป็นนายทหารระดับผู้บังคับบัญชา
.
นอกจากนั้น ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขยังเสนอว่า ให้แบ่งสัดส่วน ฝ่ายค้าน 1 คน ฝ่ายรัฐบาล 1 คน เข้าไปนั่งในสภากลาโหม ที่ปัจจุบันมี 28 คน และเป็นนายทหารทั้งหมด โดยยืนยันว่าสัดส่วนแค่ 2 คน ไม่ได้กระทบอะไรต่อฝ่ายความมั่นคง ซึ่งจะเป็นเรื่องดีเสียอีก หากให้ ส.ส. จากการเลือกตั้งเข้าไปนั่งพิจารณาว่าในสภากลาโหมนั้นมีการพูดคุยอะไรกันบ้าง
.
ขณะเดียวกัน ปิยบุตรยังเสนอเรื่องการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน มีขั้นตอนการสรรหาขั้นสุดท้ายคือต้องผ่าน ส.ว. ซึ่งปัจจุบัน ส.ว. ทั้ง 250 คน มาจากการแต่งตั้งของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และยังมีผู้ดำรงตำแหน่งอีกมาก ที่มาจากการเห็นชอบของ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสมัยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ยึดอำนาจมา ฉะนั้นต่อให้อมพระมาพูด ต่อให้พูดทุกวันว่าเป็นอิสระ หรือรัฐธรรมนูญ 2560 จะเขียนว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลางและเป็นอิสระ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏให้เห็นชัดว่า ต่อให้พูดให้ตาย คนก็ไม่เชื่อ เพราะที่มาล้วนเชื่อมโยงกับ ส.ว. และเชื่อมโยงกับหัวหน้า คสช. ที่ชื่อพลเอกประยุทธ์ ทั้งหมดจึงเกิดปัญหา
.
เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องแก้ไขที่มาและสัดส่วนของศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด โดยแบ่งสันปันส่วนอำนาจให้เท่าเทียมกัน ตุลาการรัฐธรรมนูญมี 9 คนเหมือนเดิม แต่ให้สัดส่วนหนึ่งมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดเสนอ 6 คน ฝ่ายค้านเสนอ 6 คน และฝ่ายรัฐบาลเสนอ 6 คน เป็น 18 คน แล้วเข้าที่ประชุม ส.ส. ให้เลือก 3-3-3 ด้วยมติ 2 ใน 3 ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เสียงข้างมากยึดศาลรัฐธรรมนูญได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ สัดส่วนจะสมดุลมาก
.
ขณะเดียวกัน ปิยบุตรยังเสนออีกว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนจำเป็นต้องมาจากการเห็นพ้องต้องกันของสภา และเป็นธรรมดาที่ ส.ส. ต้องนั่งคุยกัน หารือกัน จะหักดิบไปแต่เพียงผู้เดียวไม่ได้ โดยหลักการดังกล่าวมาจากต้นตำรับที่เกิดในออสเตรียและเยอรมนีที่ระบุว่า หากต้องมีศาลรัฐธรรมนูญก็จำเป็นต้องสร้างความชอบธรรมทางประชาธิปไตยให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจและเผชิญหน้ากับอำนาจนิติบัญญัติ ในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยพอฟัดพอเหวี่ยงกัน ก็จะได้องค์กรออกมาโดยดุลยภาพ
.
นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 คือมาตราที่ว่าด้วยการรับรองให้ ประกาศ คำสั่ง คสช. และการกระทำที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งสร้างหลุมดำและจุดด่างพร้อยให้กับกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ เพราะมาตราดังกล่าวยอมรับการใช้อำนาจตามประกาศ คำสั่ง ของ คสช. ทั้งหมด ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
.
ฉะนั้น ถ้าหากยอมให้มีมาตรานี้ต่อไป ก็หมายความว่ายอมให้มีกฎหมายสองระบบ คือกฎหมายทั่วไปที่ทุกอย่างถูกโต้แย้งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ทั้งหมด และกฎหมายอีกระบบคือกฎหมายที่จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปชั่วกัลปาวสาน เพราะฉะนั้น หากมั่นใจว่า ประกาศ คำสั่ง ของ คสช. ทั้งหมดถูกต้อง ก็ควรยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 279
.
รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนยังมีข้อเสนอให้ ‘ลบล้าง’ ผลพวงของการรัฐประหาร ที่เมื่อใดก็ตาม การทำรัฐประหารสำเร็จ ผู้ที่ทำรัฐประหารก็เป็น ‘รัฏฐาธิปัตย์’ สามารถนิรโทษกรรมตัวเอง ด้วยเหตุนี้ เมื่อเขียนกันจนกลายเป็นประเพณี ก็จะกลายเป็นปกติที่นายทหารแต่ละคนเมื่อสามารถอยากยึดอำนาจ ก็ทำได้ เพราะรู้อยู่แล้วว่า ถ้ายึดอำนาจสำเร็จ จะไม่มีวันถูกลงโทษ แต่หากรู้ว่าเมื่อใดทำผิด ก็จะไม่กล้าทำอีก ไม่มีการรัฐประหารอีกต่อไป และในอนาคต นายทหารรุ่นต่อไปก็จะไม่กล้าทำรัฐประหารอีกแล้ว
.

.