“อย่าใช้ดุลพินิจ.. แบบเถรตรง..”

   วันก่อน ผมไปทำธุระที่ธนาคารแห่งหนึ่ง.. เพราะมีปัญหาในการใช้แอพพลิเคชั่นของธนาคารในโทรศัพท์มือถือ..

   เบื้องต้น ต้องผิดหวังเพราะเจ้าหน้าที่ธนาคารแจ้งว่า ..

  “คุณลูกค้าจะต้องเอาสมุดบัญชีธนาคารมาด้วยนะ.. เพราะระเบียบบังคับว่า.. ต้องแนบสำเนาสมุดบัญชีไปพร้อมคำร้องขอเปิดแอพด้วย..”

   ก็ผมไม่เคยใช้สมุดบัญชีมานานแล้ว.. วันนี้ก็ไม่ได้เอามา.. จะกลับไปเอาก็เสียเวลา..เลยสอบถามเขาว่า..

  “ธนาคารตรวจสอบในระบบได้อยู่แล้วนี่ครับว่า.. ผมเป็นลูกค้าธนาคารหรือไม่..”

  คำตอบที่ได้ ก็คือ..

  “นั่นล่ะค่ะ.. ระเบียบบอกให้แนบสำเนาสมุดบัญชีของลูกค้าไปด้วย.. สำนักงานใหญ่ออกระเบียบมาค่ะ..”

   ผมพยายามอธิบาย..

  “ก็ที่ให้แนบไปก็เพื่อยืนยันว่า ผมเป็นลูกค้าธนาคาร.. แต่ในเมื่อธนาคารก็สามารถเช็คในระบบได้อยู่แล้วว่า ผมเป็นลูกค้า..

   รบกวนช่วยสั่งพิมพ์ข้อมูลผมออกจากระบบเอามาแนบได้มั้ยครับ..”

  สุดท้าย.. ไม่ทราบว่า เจ้าหน้าที่เอือมระอากับผม.. หรือทนการทู่ซี้ของผมไม่ได้.. เธอก็เลยบอกว่า..

   “Ok ค่ะ.. เดี๋ยวหนูจะลองทำดูนะคะ..”

   ในที่สุดก็ทำได้ครับ.. เรียกว่าให้บริการได้น่าประทับใจ..

    พอกลับบ้าน มาดูข่าวทางทีวี มีข่าวว่า.. ลูกค้าธนาคารคนหนึ่งป่วยหลังหัก.. คุณแม่เข้ามาขอเอาเอกสารจากธนาคารไปให้ลูกสาวที่รอในรถลงชื่อ…

   แต่เจ้าหน้าที่ปฎิเสธ.. อ้างว่า ตามระเบียบ ลูกค้าต้องมาลงชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่.. (คงเกรงว่า จะได้ไม่มีปัญหา..)

    คุณแม่ขอร้องเท่าไหร่ เขาก็ไม่ยอม.. ในที่สุด.. คุณแม่ต้องพาลูกสาวมาที่ธนาคาร.. นั่งไม่ไหว ก็เลยนอนรอคิวอยู่ที่พื้น.. จนเป็นข่าวดัง..

   นี่คือตัวอย่าง ของการยึดติดกับกฎระเบียบ.. โดยไม่ใช้ดุลพินิจ.. 

   เจ้าหน้าที่ธนาคาร ต่างอ้างว่า ต้องทำตามระเบียบ.. ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะระเบียบธนาคารออกมาเพื่อป้องกันความผิดพลาดและทุจริต..

    แต่ผลของการเคร่งครัดต่อระเบียบนั้น ถ้าไม่ใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม..ในบางกรณี จะนำมาซึ่งความยากลำบากแก่ลูกค้าโดยไม่จำเป็น..

   ผมอยากเปรียบเทียบกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐบ้าง..

   การค้น.. การจับ.. การตั้งด่าน.. เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจ..

   การสั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้องคดี .. เป็นอำนาจของพนักงานอัยการ..

   การตัดสินคดี.. และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น.. เป็นอำนาจของผู้พิพากษา..

   เหมือนกันกับเจ้าหน้าที่ธนาคารครับ.. คือ แม้จะมีอำนาจ.. แต่การใช้อำนาจนั้น ต้องใช้ดุลพินิจให้เหมาะสมด้วย..

   อย่ายึดติดว่าต้องใช้อำนาจในทุกกรณี.. 

   ต้องพิจารณาว่า หากใช้อำนาจแล้ว.. ไม่สอดคล้องกับเจตนารมย์ที่กฎหมายให้อำนาจ.. 

    หรือใช้แล้ว กลับสร้างความเดือดร้อนให้ผู้บริสุทธิ์..

   ก็ควรงดเว้นการใช้อำนาจนั้นครับ..

      ถ้าไม่มีเจตนาทุจริต.. ไม่ได้ต้องการให้ใครเสียหาย.. แต่เป็นการกระทำโดยชอบ มีเหตุมีผลที่อธิบายได้..

   รับรองว่า ไม่เป็นความผิดฐานละเว้น การปฎิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157..

   ถ้าเข้าใจตรงกัน.. ก็จะเข้าใจได้ว่า..

    “อำนาจการค้น การจับเป็นของเจ้าพนักงานตำรวจ.. 

   แม้จะได้หมายจับ หมายค้นจากศาลแล้ว.. แต่ถ้าผู้ต้องหายินยอมให้จับ ให้ค้น.. 

    ก็ไม่ต้องจับ หรือค้นตามหมายก็ได้..

   ถ้าเขาไม่หนี.. ก็ไม่ต้องควบคุมตัว.. ไม่ต้องพันธนาการด้วยกุญแจมือก็ได้..”

     เจ้าพนักงานจราจร พบรถจอดริมทางในที่ห้ามจอด.. แต่เป็นวันหยุด.. รถไม่ติด.. การจอดที่ผิดกฎหมายนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาอะไรเลย..

   แบบนี้ แม้มีอำนาจจับ.. แต่การใช้ดุลพินิจ ไม่จับ หรือแค่ตักเตือน.. เรียกว่า เป็นการใช้อำนาจที่สอดคล้องกับเจตนารมย์ของกฎหมายจราจรครับ..

   ที่เข้าใจกับผิด ในหมู่นักกฎหมายหรือผู้บังคับใช้กฎหมายบางคนก็คือ..

  “เจ้าหน้าที่ที่ดี ต้องปฎิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด.. โดยไม่มีข้อยกเว้น.. จะทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์..”

   การเคร่งครัดปฎิบัติตามกฎหมายเกินไป โดยเฉพาะความผิดไม่ร้ายแรง (mala prohibita).. โดยปราศจากดุลพินิจที่เหมาะสม.. 

   นั่นล่ะ คือ สาเหตุที่สร้างความเดือดร้อนยุ่งยากให้แก่ประชาชนโดยไม่จำเป็น..

    ถ้าพนักงานอัยการ.. ไม่สนใจอะไรเลย.. เมื่อคดีมีหลักฐานพอฟ้อง เป็นฟ้องทุกคดี.. 

    แม้เขาทำผิดเพราะมีความจำเป็น เพราะความยากจนจึงต้องเด็ดผลไม้จากต้นไม้หลวงมาให้ลูกกินประทังหิว..

   หรือเห็นว่า เขาน่าจะไม่ผิด หรือไม่มีหลักฐานพอ ก็สั่งไม่ฟ้องเลย.. โดยไม่ดูว่า เขาทำผิดมาหลายครั้งแล้วเพราะไม่เกรงกลัวกฎหมาย.. การฟ้องอาจช่วยปรามมิให้เขาทำผิดซ้ำได้..

  แบบนี้เรียกว่า.. ไม่ใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมในการใช้อำนาจ..

    แม้ผู้พิพากษาเอง.. ถ้าพบการทำละเมิดอำนาจศาลต่อหน้า..

    ถ้าเห็นว่า เขาไม่มีเจตนาชั่วร้าย.. เขากล่าวหาว่า ศาลตัดสินไม่เป็นธรรมเพราะรู้สึกว่าตนไม่ผิดและเพราะความไม่รู้กฎหมาย..

    ก็ไม่จำเป็นต้องไต่สวนลงโทษเขา..

   การใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม.. ด้วยการละเว้นไม่ใช้อำนาจที่มี.. เพราะมีเหตุผลที่ดีกว่า.. เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า.. 

   ไม่เรียกว่า ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบนะครับ..

   แต่กลับจะได้รับความชื่นชมจากประชาชน.. 

   การเคร่งครัดใช้อำนาจโดยไม่มีสติ.. ไม่ใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม.. ไม่เรียกว่า ซื่อตรงในการบังคับใช้กฎหมาย.. ไม่เรียกว่า ใช้กฎหมายแล้วเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยนะครับ..

   “เพราะตัวบทกฎหมายนั้น เขาสร้างให้เราใช้.. เราต้องเป็นผู้ใช้.. 

   กฎหมายต้องเป็นเครื่องมือของเราในการรักษาความสงบ..”

   แต่ถ้าเราใช้กฎหมายแบบหลับหูหลับตาใช้.. เขาเรียกว่า.. 

   “เราเป็นทาสของกฎหมาย.. เพราะใช้กฎหมายแล้วทำให้ชาวบ้านเขาเดือดร้อน..”

  แบบนี้ไม่สมควรได้รับคำชื่นชมเลย..

ดร.ธีร์รัฐ บุนนาค (Dr Theerat Chaiakravajara)