36อจ.สอนกฎหมายมธ.ออกแถลงการณ์ต่อคำวินิจฉัยศาลรธน.คดียุบพรรคอนค.ระบุพรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน

เมื่อวันที่24 ก.พ.คณาจารย์ประจำของคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) จำนวน๓๖คนได้ออกแถลงการณ์ต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคอนาคตใหม่มีใจความว่าตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่เป็นเวลา๑๐ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค

คณาจารย์ประจำของคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวน๓๖คนเห็นพ้องร่วมกันว่าควรมีการตั้งข้อสังเกตและแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในบางประเด็นเพื่อชี้ให้สาธารณชนได้ทราบว่าอาจมีแนวทางในการใช้และการตีความอื่นที่เหมาะสมและเป็นธรรมกว่านอกจากนี้พวกเราเห็นว่าในช่วงเวลาที่สังคมเกิดความแตกแยกแบ่งฝักฝ่ายและตั้งคำถามถึงความชอบธรรมและความชอบด้วยกฎหมายของการวินิจฉัยขององค์กรตุลาการ

นักวิชาการทางนิติศาสตร์จำเป็นต้องแสดงจุดยืนและแสดงความคิดเห็นทางวิชาการที่ถูกต้องเป็นธรรมและตรงไปตรงมาเพื่อมีส่วนร่วมในการช่วยให้สังคมผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งนี้ไปได้ด้วยความรู้และเหตุผลและเพื่อธำรงไว้ซึ่งความเชื่อความศรัทธาที่สังคมและนักศึกษากฎหมายมีต่อสถาบันการศึกษากฎหมายและวิชาชีพกฎหมายด้วยเหตุนี้คณาจารย์นิติศาสตร์จึงได้ออกแถลงการณ์ฉบับนี้ขึ้น

คณาจารย์นิติศาสตร์ขอยืนยันว่าแถลงการณ์ฉบับนี้มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อโจมตีศาลรัฐธรรมนูญหรือสนับสนุนกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระภายใต้หลักนิติศาสตร์การดำเนินการทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการในนามส่วนตัวไม่ใช่ในนามคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่อย่างใดคณาจารย์นิติศาสตร์

ทั้งนี้แถลงการณ์ฉบับเต็มมีใจความว่ามีใจความว่า”เมื่อวันที่๒๑กุมภาพันธ์๒๕๖๓ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบ

ยุบพรรคอนาคตใหม่โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่เป็นเวลา๑๐ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลในการยุบพรรคอนาคตใหม่ว่ามาตรา๖๒พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. ๒๕๖๐ได้กำหนดที่มาของรายได้ของพรรคการเมืองไว้อย่างชัดแจ้ง

ดังนั้นหากพรรคการเมืองนำเงินส่วนใดที่ไม่ได้มีแหล่งที่มาและวิธีการตามที่กฎหมายระบุไว้ย่อมถือว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าแม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. ๒๕๖๐จะมิได้บัญญัติห้ามไม่ให้พรรคการเมืองกู้ยืมเงินไว้อย่างชัดแจ้งก็ตามแต่ก็ไม่ได้รับรองว่าสามารถทำได้ประกอบกับการที่พรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนและการกู้ยืมเงินแม้มิได้เป็นรายได้แต่ก็เป็นรายรับและเป็นเงินทางการเมืองการดำเนินการเกี่ยวกับการได้มาและการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองจึงต้องกระทำภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้นนอกจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญยังให้เหตุผลโดยสรุปได้ต่อไปว่าการที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินโดยมีการคิดอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้าถือเป็นการรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งหากว่ามีมูลค่าเกินกว่าสิบล้านบาทต่อปีแล้วย่อมถือว่าเป็นการต้องห้ามตามมาตรา๖๖วรรคสองของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. ๒๕๖๐

และเมื่อเป็นการรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งขัดกับมาตรา๖๖วรรคสองกรณีจึงถือว่าเป็นกรณีที่พรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา๗๒ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. ๒๕๖๐ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจในการยุบพรรคการอนาคตใหม่ตามมาตรา๙๒วรรคหนึ่ง(๓) ของพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคณาจารย์ของคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังมีรายนามท้ายแถลงการณ์นี้(“คณาจารย์นิติศาสตร์”) มีข้อสังเกตและความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยและการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวในประเด็นดังต่อไปนี้

๑. พรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชนจึงสามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจพรรคการเมืองที่นายทะเบียนพรรคการเมืองรับจดทะเบียนแล้วมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา๒๐แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. ๒๕๖๐จึงมีสิทธิและหน้าที่ภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้นอกจากนี้พรรคการเมืองยังมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะนิติบุคคลตามมาตรา๖๕และ๖๖แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แม้ว่ามาตรา๒๐แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. ๒๕๖๐จะบัญญัติให้พรรคการเมืองมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเพื่อส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งก็ตามแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองไม่ได้ให้อำนาจในทางกฎหมายมหาชนแก่พรรคการเมืองทั้งหลายแต่อย่างใดในทางวิชาการการพิจารณาว่าองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน(นิติบุคคลมหาชน) หรือไม่ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์๓ประการ

ได้แก่๑.พิจารณาจากกฎหมายที่จัดตั้งนิติบุคคลนั้นว่าจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายมหาชนซึ่งได้แก่พระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาหรือไม่๒. พิจารณาจากอำนาจที่องค์กรนั้นใช้ว่าองค์กรนั้นใช้อำนาจมหาชนในลักษณะที่มีอำนาจเหนือหรืออำนาจฝ่ายเดียวหรือไม่และ๓. พิจารณาจากกิจกรรมที่นิติบุคคลนั้นดำเนินการว่ากิจกรรมที่ทำเป็นเรื่องการจัดทำบริการสาธารณะหรือไม่โดยที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะเป็นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชนได้นั้นจะต้องเข้าองค์ประกอบครบถ้วนทั้งสามประการเมื่อพิจารณาลักษณะพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. ๒๕๖๐ตามองค์ประกอบสามประการข้างต้นจะพบว่า

ประการแรกกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้พรรคการเมืองสามารถใช้อำนาจมหาชนหรือใช้อำนาจรัฐในลักษณะที่มีอำนาจเหนือหรืออำนาจฝ่ายเดียวแต่อย่างใดในทางตรงกันข้ามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวกลับมีเนื้อหาเป็นการควบคุมการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพียงเท่านั้นในทำนองเดียวกันกับพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดพ.ศ. ๒๕๓๕ที่ควบคุมการดำเนินการของบริษัทมหาชนพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดไม่ได้ให้อำนาจมหาชนหรืออำนาจรัฐแก่บริษัทมหาชนแต่อย่างใด

ประการที่สองเมื่อพิจารณาถึงหลักการทั่วไปของการจัดตั้งพรรคการเมืองก็จะพบว่าพรรคการเมืองทั้งหลายไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจมหาชนโดยตรงหากแต่ทำหน้าที่เพียงรวบรวมและก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนเพื่อให้มีโอกาสในการเข้าไปใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจมหาชนต่อไปเท่านั้นและเมื่อพิจารณาองค์ประกอบที่สามพบว่าพรรคการเมืองไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะโดยตรงหากแต่เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่เสนอนโยบายและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อแสวงหาโอกาสในการได้รับการเลือกตั้งเท่านั้นและเมื่อได้รับการเลือกตั้งแล้วผู้ได้รับการเลือกตั้งจึงจะมีโอกาสเข้าไปใช้อำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะอีกทอดหนึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นกฎหมายของสหรัฐอเมริกาสหราชอาณาจักรเยอรมนีหรือฝรั่งเศสพรรคการเมืองทั้งหลายต่างมีสถานะเป็นเพียงนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนทั้งสิ้น

กล่าวโดยสรุปคณาจารย์นิติศาสตร์เห็นว่าการที่พรรคการเมืองที่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนมีสถานะเป็นนิติบุคคลและมีหน้าที่บางประการภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. ๒๕๖๐ไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคลมหาชนเนื่องจากขาดองค์ประกอบครบถ้วนทั้งสามประการดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นในทำนองเดียวกับสมาคมมูลนิธิหรือแม้แต่บริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทรัฐวิสาหกิจที่แม้รัฐเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดหรือถือหุ้นข้างมากแต่ไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลมหาชนทั้งนี้เป็นไปตามหลักทฤษฎีทางกฎหมายและตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดที่วางบรรทัดฐานตลอดมาในระบบกฎหมายไทยและสอดคล้องหลักกฎหมายที่เป็นสากลทั่วโลกเมื่อพรรคการเมืองทั้งหลายไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน

การกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองในฐานะนิติบุคคลนั้นจึงสามารถทำได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายให้อำนาจดังเช่นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชนแต่อย่างใดการกู้ยืมเงินจึงเป็นการใช้สิทธิในฐานะนิติบุคคลที่ได้รับการรับรองสภาพบุคคลภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นิติบุคคลนี้ย่อมมีความสามารถและมีเสรีภาพในการเข้าทำสัญญาได้ตามใจสมัครภายใต้ขอบอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของพรรคการเมืองดังนั้นคณาจารย์นิติศาสตร์จึงไม่เห็นด้วยกับความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าเมื่อไม่มีกฎหมายอนุญาตให้พรรคการเมืองกู้เงินได้เงินกู้นั้นจึงเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าพรรคการเมืองพ.ศ. ๒๕๖๐๒.การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพในการแสดงเจตนาของคู่สัญญาศาลรัฐธรรมนูญได้หยิบยกประเด็นขึ้นวินิจฉัยว่าการกู้เงินของพรรคการเมืองที่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับน้อยกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้นเป็นการคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ไม่เป็นไปตามธุรกิจทางการค้าจึงถือเป็นกรณีที่พรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยมีจำนวนสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ที่สิบล้านบาทซึ่งต้องห้ามตามมาตรา๖๖วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. ๒๕๖๐

ประเด็นจึงต้องพิเคราะห์ว่าการให้กู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือการไม่คิดดอกเบี้ยนั้นเป็นกรณีที่ถือว่า“ผิดปกติทางการค้า” หรือไม่คณาจารย์นิติศาสตร์มีความเห็นว่าการคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพโดยแท้ของเจ้าหนี้และคู่สัญญาการที่เจ้าหนี้ตกลงไม่คิดดอกเบี้ยเลยหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำเป็นแต่เพียงการที่เจ้าหนี้ไม่ประสงค์จะเรียกค่าตอบแทนจากการให้กู้ยืมหรือค่าเสียโอกาสในการหาประโยชน์จากเงินแต่ไม่ทำให้เจ้าหนี้สูญเสียหรือเสียหายในทางทรัพย์สินการไม่คิดดอกเบี้ยหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติทางการค้าแต่อย่างใดดังจะเห็นได้จากการที่มาตรา๗ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ๗.๕ต่อปีในกรณีที่มีการตกลงคิดดอกเบี้ยในหนี้เงินแต่ไม่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเอาไว้นั่นหมายความว่าถ้าคู่สัญญาตงลงไม่คิดดอกเบี้ยเลยหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าร้อยละ๗.๕กฎหมายก็ไม่เข้าไปแทรกแซงและปล่อยให้เป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญามาตรา๗แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าการไม่คิดอัตราดอกเบี้ยหรือคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดจึงเป็นเรื่อง“ปกติ”

ด้วยเหตุนี้การให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่ากฎหมายกำหนดจึงไม่ใช่การบริจาคหรือการให้ประโยชน์อื่นใดตามนัยของมาตรา๖๖พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. ๒๕๖๐หากแต่เป็นหนี้สินที่พรรคการเมืองอาจก่อขึ้นได้ในฐานะที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน๓. ข้อเท็จจริงแห่งคดีไม่สามารถปรับเข้ากับมาตรา๗๒แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. ๒๕๖๐ได้ศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ได้เชื่อมโยงการบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่าสิบล้านบาทซึ่งต้องห้ามตามมาตรา๖๖วรรคสองเข้ากับมาตรา๗๒วรรคสองของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. ๒๕๖๐เพื่อให้ศาลมีอำนาจในการออกคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา๙๒วรรคหนึ่ง(๓) ที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกคำสั่งยุบพรรคการเมืองเฉพาะกรณีมีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา๒๐วรรคสองมาตรา๒๘มาตรา๓๐มาตรา๓๖มาตรา๔๔มาตรา๔๕มาตรา๔๖มาตรา๗๒หรือมาตรา๗๔ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. ๒๕๖๐เท่านั้น

คณาจารย์นิติศาสตร์มีความเห็นว่ามาตรา๗๒ไม่อาจนำมาใช้ตีความประกอบกับมาตรา๖๖ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. ๒๕๖๐ได้แม้ว่าบทบัญญัติทั้งสองมาตราจะอยู่ภายใต้หมวด๕ว่าด้วยรายได้ของพรรคการเมืองก็ตามเนื่องจากมาตรา๗๒ได้กำหนดข้อห้ามไม่ให้พรรคการเมืองกระทำการไว้เป็นการชัดแจ้งแยกออกจากมาตราอื่นและเป็นมาตรการเฉพาะที่ห้ามพรรคการเมืองรับเงินรายได้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งนี้มาตรา๗๒ได้กำหนดว่า“ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย” จะเห็นได้ว่าความมุ่งหมายของมาตรา๗๒ดังกล่าวคือการห้ามพรรคเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันมาจากการกระทำกิจกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังเช่นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดอาญาหรือจากการค้ายาเสพติดเป็นต้นทั้งนี้เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือถูกครอบงำจากกลุ่มหรือองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นส่วนความมุ่งหมายตามมาตรา๖๖นั้นเป็นการกำหนดจำนวนเงินอย่างสูงหรือเพดานการรับเงินรายได้ที่เป็นเงินบริจาคทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไม่เกินมูลค่าสิบล้านบาทต่อปีเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริจาครายใดใช้กลไกดังกล่าวในการครอบงำการดำเนินการของพรรคการเมืองจะเห็นได้ว่ามาตรการตามมาตรา๖๖และมาตรา๗๒ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกันหรือเชื่อมโยงกันการปรับใช้กฎหมายทั้งสองมาตราจึงแยกออกจากกันได้ดังนั้นการรับเงินบริจาคทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา๖๖จึงไม่อาจเป็นกรณีเดียวกับการรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายเมื่อการกระทำตามมาตรา๖๖ไม่อาจถูกเชื่อมโยงเข้ากับมาตรา๗๒ได้หากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเงินที่ได้รับมานั้นมีแหล่งที่มาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายการกระทำของพรรคการเมืองตามมาตรา๖๖จึงไม่ใช่เหตุในการยุบพรรคการเมืองได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา๙๒วรรคหนึ่ง(๓) แต่อย่างใด

เมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลที่มีสิทธิและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ย่อมมีเสรีภาพในการทำสัญญากู้ยืมเงินได้โดยไม่จำต้องมีกฎหมายให้อำนาจและการให้กู้เงินโดยคิดอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือแม้แต่ไม่คิดดอกเบี้ยเลยเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญาเงินกู้ในลักษณะดังกล่าวจึงไม่เป็นเงินที่มีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายกรณีจึงไม่อาจปรับเข้ากับมาตรา๗๒เพื่อเป็นเหตุในการยุบพรรคการเมืองตามมาตรา๙๒วรรคหนึ่ง(๓) ได้๔. ความสำคัญของพรรคการเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตยกับการใช้อำนาจยุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญพรรคการเมืองในระบอบเสรีประชาธิปไตยมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนด้วยการนำเสนอนโยบายเพื่อให้ประชาชนที่เห็นด้วยเลือกพรรคการเมืองนั้นๆเข้าไปเป็นผู้แทนของตนในรัฐสภาเพื่อทำหน้าที่ในการผลักดันนโยบายก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปประเทศไปในแนวทางที่ประชาชนแต่ละกลุ่มต้องการ

ดังนั้นพรรคการเมืองจึงเป็นผู้แทนในการจัดการผลประโยชน์และความต้องการของประชาชนกลุ่มต่างๆและในกรณีประโยชน์และความต้องการของประชาชนกลุ่มต่างๆไม่สอดคล้องกันหรือขัดแย้งกันรัฐในระบอบเสรีประชาธิปไตยจะต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆได้แข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรมเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตนผ่านหลักการปกครองโดยหลักเสียงข้างมากโดยเคารพเสียงข้างน้อยดังนั้นการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐจะต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อความเป็นอิสระเสรีภาพและการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรมของพรรคการเมืองทั้งหลายการยุบพรรคการเมืองซึ่งหมายถึงการทำลายองค์กรที่เป็นผู้ทำหน้าที่ก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองและเป็นผู้แทนผลประโยชน์ของประชาชนในสังคมการเมืองนั้นควรเกิดขึ้นได้เฉพาะกรณีที่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนโดยปราศจากข้อสงสัยว่าพรรคการเมืองได้กระทำการอันขัดต่อหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญและมีความร้ายแรงถึงขนาดสมควรที่จะต้องถูกยุบพรรค

คณาจารย์นิติศาสตร์มีข้อสังเกตประการสำคัญต่ออำนาจในการออกคำสั่งยุบพรรคการเมืองโดยศาลรัฐธรรมนูญว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในเรื่องการยุบพรรคการเมืองตามหลักการที่เกิดขึ้นในต่างประเทศนั้นเกิดจากแนวคิดในเรื่องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยจากภยันตรายอย่างร้ายแรงที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยไปสู่การปกครองในระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จหรือเผด็จการกลไกในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยโดยการยุบพรรคการเมืองนั้นจึงถูกใช้เฉพาะที่ได้ความอย่างชัดแจ้งและปราศจากข้อสงสัยว่าพรรคการเมืองหรือกลุ่มทางการเมืองกระทำการในลักษณะที่ต้องการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญดังนั้นโดยหลักแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะต้องจำกัดอำนาจตนเองในการใช้อำนาจยุบพรรคการเมืองหากไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้งเช่นว่านั้นทั้งนี้เพราะบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายย่อมมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองซึ่งเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญด้วยเช่นเดียวกันการวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองจึงต้องชั่งน้ำหนักประโยชน์ทั้งสองด้านดังกล่าวให้ได้ดุลยภาพกัน

กล่าวคือศาลรัฐธรรมนูญอาจยุบพรรคการเมืองได้เฉพาะกรณีที่พรรคการเมืองนั้นกระทำความผิดอย่างร้ายแรงจนถึงขนาดที่ไม่สามารถอ้างความคุ้มครองจากเรื่องเสรีภาพของพรรคการเมืองได้เท่านั้นการยุบพรรคการเมืองจึงต้องเป็นมาตรการสุดท้าย(ultima ratio) ของบรรดามาตรการอื่นๆเมื่อไม่มีมาตรการอื่นที่มีประสิทธิภาพและได้สัดส่วนแล้วเท่านั้นและในกรณีที่ไม่ได้ความชัดแจ้งว่าพรรคการเมืองใดกระทำการในลักษณะดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญพึงต้องจำกัดอำนาจตนเองคณาจารย์นิติศาสตร์ตระหนักดีว่านักกฎหมายทั้งหลายอาจมีวิธีการในการใช้และการตีความกฎหมายที่แตกต่างกันไปเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกันคือความยุติธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เช่นเดียวกันย่อมมีดุลยพินิจในการเลือกใช้วิธีการใช้และตีความกฎหมายที่เห็นว่าถูกต้องและเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแม้ว่าคณาจารย์นิติศาสตร์จะเคารพในแนวทางการตีความและการใช้ดุลยพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่านแต่ตระหนักดีว่านักวิชาการกฎหมายย่อมมีภาระหน้าที่ในการค้นหาแนวทางทางในการใช้และตีความกฎหมายที่เหมาะสมและเป็นธรรมที่สุดและนำเสนอแนวทางในการใช้และตีความดังกล่าวให้บรรดานักกฎหมายและสังคมได้ขบคิดพิจารณา

เนื่องจากการใช้และการตีความกฎหมายที่เป็นธรรมเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเป็นการธำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐในสังคมคณาจารย์นิติศาสตร์เชื่อว่าปัญหาทางการเมืองไทยที่สั่งสมมาเป็นเวลายาวนานจะได้รับการแก้ไขเยียวยาด้วยการใช้การตีความกฎหมายอย่างถูกต้องและเป็นธรรมและระบอบประชาธิปไตยจะดำรงอยู่ได้หากนักกฎหมายทำหน้าที่โดยปราศจากอคติและผู้คนในสังคมร่วมกันหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลและความอดทนอดกลั้น

คณาจารย์นิติศาสตร์๒๔กุมภาพันธ์๒๕๖๓

๑. รองศาสตราจารย์ดร.มุนินทร์พงศาปาน๒. รองศาสตราจารย์ดร.สุปรียาแก้วละเอียด๓. รองศาสตราจารย์ดร.ต่อพงศ์กิตติยานุพงศ์๔. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.รณกรณ์บุญมี๕. ศาสตราจารย์ดร.สุรพลนิติไกรพจน์๖. รองศาสตราจารย์ดร.ปกป้องศรีสนิท๗. อาจารย์ดิศรณ์ลิขิตวิทยาวุฒิ๘. อาจารย์คงสัจจาสุวรรณเพ็ชร๙. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.นพรโพธิ์พัฒนชัย๑๐. รองศาสตราจารย์ดร.นิรมัยพิศแขมั่นจิตร๑๑. อาจารย์ดร.อำนาจตั้งคีรีพิมาน๑๒. อาจารย์เฉลิมวุฒิศรีพรหม๑๓. อาจารย์กิตติภพวังคำ๑๔. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรศักดิ์บุญเรือง๑๕. อาจารย์มาติกาวินิจสร๑๖. อาจารย์ภัทรพงษ์แสงไกร๑๗. รองศาสตราจารย์ดร.สมเกียรติวรปัญญาอนันต์๑๘. ศาสตราจารย์ดร.สุเมธสิริคุณโชติ๑๙. รองศาสตราจารย์ดร.ภูมินทร์บุตรอินทร์

๒๐. อาจารย์ยศสุดาหร่ายเจริญ๒๑. ศาสตราจารย์ดร.อุดมรัฐอมฤต๒๒. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ตามพงษ์ชอบอิสระ๒๓. อาจารย์ดร.ลลิลก่อวุฒิกุลรังษี๒๔. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.กรศุทธิ์ขอพ่วงกลาง๒๕. อาจารย์เอื้อการย์โสภาคดิษฐพงษ์๒๖. ศาสตราจารย์ดร.สหธนรัตนไพจิตร๒๗. อาจารย์กีระเกียรติพระทัย๒๘. อาจารย์ฉัตรดนัยสมานพันธ์๒๙. อาจารย์ปทิตตาไชยปาน๓๐. อาจารย์ดร.พนัญญาลาภประเสริฐพร๓๑. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.เอมผกาเตชะอภัยคุณ๓๒. อาจารย์สุรศักดิ์บุญญานุกูลกิจ๓๓. อาจารย์ดร.นัษฐิกาศรีพงษ์กุล๓๔. อาจารย์พวงรัตน์ปฐมสิริรักษ์๓๕. อาจารย์สุประวีณ์อาสนศักดิ์๓๖. อาจารย์ปวีร์เจนวีระนนท์

๒๔กุมภาพันธ์๒๕๖๓