. ความยึดถือในสังขารทั้งหลายเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะสังขารไม่เที่ยงดังกล่าวมาแล้ว
ดังนั้นทำความปล่อยวางเสียได้ ไม่ยึดถือในสังขารทั้งหลายจึงเป็นความสุข เรียกว่าความสุขในทางธรรม คือเป็นความสุขที่สงบเย็น มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปร

ความสุขในทางโลกนั้น ไม่ผิดอะไรกับการนั่งเก้าอี้ ถ้าเก้าอี้มันไม่ไหวนั่นแหละจึงจะมีความสุข

การไหวในทางใจนี้มีอยู่ ๒ อย่างคือ ไหวไปตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง ไหวไปโดยวิบากกรรมอย่างหนึ่ง

ใจของเรานี้มันไหววันละกี่ครั้ง ?
บางทีก็ไหวจากกรรม บางทีก็ไหวจากวิบาก แต่มันไหวอย่างนั้น เราก็ไม่ทราบ นี่แหละเป็นตัว “อวิชชา” ความไม่รู้นี้จึงเป็นเหตุให้เกิด “สังขาร” คือ “ความคิด” ขึ้นฯ

จิตที่ไหวหรือแปรไปโดยธรรมชาติก็ดี จิตที่ไหวหรือแปรไปโดยวิบากกรรมก็ดี ทั้ง ๒ อย่างนี้ถ้าไหวไปด้วยดี ด้วยชอบก็เป็นบุญ ถ้าไหวไปในทางชั่วก็เป็นบาป

การไหวนี้จึงมี ๒ อย่างคือไหวอย่าง “ผู้ดี” กับไหวอย่าง “อนาถา”
ไหวอย่าง “ผู้ดี” คือไหวไปในทางดีทางชอบ เป็นบุญเป็นกุศลก็เป็นสุข
ไหวอย่าง “อนาถา” คือไหวไปในทางชั่วทางบาปอกุศล ก็เป็นทุกข์
เหล่านี้ก็เนื่องมาจากเรื่องของ “สังขาร” ทั้งสิ้นฯ

จากหนังสือ ท่านพ่อลีสอนกรรมฐาน หน้าที่ ๑๔๗
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
๖๑.๐๘.๑๙