. คนที่สำคัญว่าจิตเป็นตน ตนเป็นจิต จิตเป็นสัญญา ปนเปกันไปหมดเช่นนี้ เขาเรียกว่า “คนหลง” คือเหมือนกับคนที่หลงป่า

การหลงป่านั้น ย่อมจะต้องลำบากทุก ๆ อย่าง ทั้งอันตรายในสัตว์ป่า ทั้งลำบากในเรื่องอาหารการกิน และการหลับการนอนจะมองไปทางไหนก็หาทางออกไม่พบ แต่ที่เรา “หลงโลก” นี่ก็ยิ่งจะร้ายไปกว่า “หลงป่า” ตั้งหลายเท่า
เพราะจะไม่รู้จักทั้งกลางวันกลางคืน และไม่ได้พบกับความสว่างไสวเลย เพราะดวงจิตมันมืดไปด้วย “อวิชชา”

ฉะนั้นการที่เรามาทำความสงบอย่างนี้ ก็เพื่อจะให้เรื่องราวต่าง ๆ ลดน้อยลง
เมื่อเรื่องราวต่าง ๆ น้อยไปแล้ว จิตก็จะมีความสงบ
เมื่อจิตได้รับความสงบก็จะค่อย ๆ สว่างขึ้นในตัว เกิด “วิชชา” เป็นความรู้ขึ้น

ถ้าความยุ่งยากมากนัก ความรู้ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ นั่นเป็นความมืดดวงจิตที่เจือปนอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์
นั่นก็เหมือนกับเรือที่ถูกลมพายุอันพัดมาจากข้างหลัง ข้างหน้า ข้างซ้าย ข้างขวาทั้ง ๘ ด้าน ๘ ทิศ มันก็จะไม่ทำให้เรือนั้นตั้งลำตรงอยู่ได้ มีแต่จะทำให้เรือจมลง ไฟที่จะใช้สอยก็ดับหมดด้วยอำนาจความแรงของกระแสลมที่พัดมานั้น

สัญญานี้เหมือนกับระลอกคลื่นที่วิ่งไปวิ่งมาในมหาสมุทร
ใจนั้นก็เปรียบเหมือนกับปลาที่ดำผุดดำว่ายอยู่ในน้ำ

ธรรมดาของปลาย่อมเห็นน้ำเป็นของสนุกเพลิดเพลินฉันใด บุคคลผู้แน่นด้วยอวิชชา ก็ย่อมเห็นเรื่องยุ่ง ๆ เป็นของเพลิดเพลินเป็นของสนุก เหมือนกับปลาที่เห็นคลื่นในน้ำเค็มเป็นของสนุกสนานสำหรับตัวมันฉันนั้น

ตราบใดที่เรามาทำความสงบให้เรื่องต่าง ๆ บรรเทาเบาบางไปจากใจได้ ก็ย่อมทำอารมณ์ของเราให้เป็นไปใน “กรรมฐาน” คือตั้งแต่ “พุทธานุสสติ” เป็นเบื้องต้น จนถึง “สังฆานุสสติ” เป็นปริโยสานไว้ในจิตใจ
เมื่อเป็นไปดังนี้ ก็จะถ่ายอารมณ์ที่ชั่วให้หมดไปจากใจได้

เหมือนกับเราถ่ายของที่ไม่มีประโยชน์ออกจากเรือ และนำของที่มีประโยชน์เข้ามาใส่แทน
ถึงเรือนั้นจะหนักก็ตาม แต่ใจของเราก็เบา เพราะเรื่องบุญกุศลเป็นของเบา
เมื่อใจของเราเบาอย่างนี้ ภาระทั้งหลายก็น้อยลง สัญญาต่าง ๆ ก็ไม่มี นิวรณ์ก็ไม่ปรากฏ
ดวงจิตก็จะเข้าไปสู่ “กรรมฐาน” ได้ทันที

จากหนังสือ ท่านพ่อลีสอนกรรมฐาน หน้าที่ ๑๑๙
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
๖๑.๐๘.๑๗