. ข้อที่ว่าใจเราไปอย่างนั้นไปอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่ตัวจริง เป็นเพียงแต่สัญญามันพาไปเท่านั้น

สัญญานี้เปรียบเหมือนกับ “เงา” ส่วนตัวจริงของมันนั้นก็คือ “จิต” ต่างหาก

ถ้ากายของเราเฉยไม่มีอาการเคลื่อนไหวไปมาแล้ว เงาของเราจะเคลื่อนไหวไปได้อย่างไร ?
เพราะกายของเรามันไหวไม่อยู่นิ่ง เงาของเราจึงไหวไปด้วย และเมื่อเงาเกิดขึ้นแล้ว เราจะไปจับเอาเงามาอย่างไร ?

เงานี้จะจับมันก็ยาก จะละมันก็ยาก จะตั้งให้เที่ยงก็ยาก ความรู้ที่เป็นตัวปัจจุบัน นั่นแหละคือ “ตัวจริง”
ส่วนความรู้ที่เป็นไปตามสัญญานั้นก็คือ “เงา”

ความรู้ตัวจริงนั้นย่อมเป็นตัวที่อยู่คงที่ ไม่มีอาการยืน เดิน ไปมา
ส่วนจิตก็คือ “ตัวรู้” ซึ่งไม่มีอาการไปอาการมา ไม่มีไปข้างหน้า ไม่มีมาข้างหลัง มันก็สงบเฉยอยู่ และเมื่อตัวจิตราบเรียบอยู่ในปรกติไม่มีความนึกคิดวอกแวกไปอย่างนี้ ตัวเราก็ย่อมสบายคือ จิตไม่มีเงา
ถ้าจิตของเราไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ไหวตัวไปมาอยู่ก็ย่อมจะเกิดสัญญาขึ้น แล้วเราก็จะไหลไปตามมัน จะไปเหนี่ยวดึงเข้ามา
การที่เราไปตามเข้ามานั่นแหละ มันเสีย ใช้ไม่ได้ จึงให้ทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า “ตัวรู้” นั้นไม่เป็นไรดอก แต่ “เงา” คือสัญญานั่นแหละสำคัญ

เราจะมุ่งไปทำให้ “เงา” มันดีขึ้นก็ไม่ได้เช่น “เงา” มันดำ เราจะเอาสบู่ไปฟอกจนตายมันก็ไม่หายดำ
เพราะเงามันไม่มีตัวตน

ฉะนั้น สัญญาความคิดนึกต่าง ๆ เราจะทำให้ดีเลวย่อมไม่ได้ เพราะมันเป็นเพียง “หุ่น” หลอกเราเท่านั้น

พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงว่าใครไม่รู้จัก ตัว ไม่รู้จัก กาย ไม่รู้จัก ใจ ไม่รู้จัก เงา ของตัวเอง นั่นคือ อวิชชา

จากหนังสือ ท่านพ่อลีสอนกรรมฐาน หน้าที่ ๑๑๖
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
๖๑.๐๘.๑๖