. ถ้าจะสรุปให้สั้นเข้าแล้ว หลักในการปฏิบัติมีดังนี้ คือ
๑. กำจัดอารมณ์ที่ชั่วออกจากจิตให้หมด
๒. ทำจิตให้อยู่ในอารมณ์ที่ดี
๓. อารมณ์ที่ดีต่าง ๆ ให้ต้อนเข้าไปอยู่ในจุดอันเดียวที่เรียกว่า เอกัคคตารมณ์
๔. พิจารณาอารมณ์หนึ่งนั้นให้เป็น อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์บุคคล ว่างเปล่า
๕. วางอารมณ์ที่ดีและอารมณ์ชั่วไปตามสภาพของอารมณ์เพราะดีและชั่วย่อมอยู่ด้วยกัน มีสภาพเสมอกัน วางจิตไว้ตามสภาพของจิต
รู้ไว้ตามสภาพแห่งรู้ รู้นั้น ไม่รู้จักเกิด ไม่รู้จักดับ นั้นแล คือ สันติธรรม
ดีก็รู้ ดีไม่ใช่รู้ รู้ไม่ใช่ดี
ชั่วก็รู้ รู้ไม่ใช่ชั่ว ชั่วไม่ใช่รู้ คือ รู้ไม่ติดความรู้ รู้ไม่ติดสิ่งที่รู้ นั่นแหละ คือธรรมชาติธาตุแท้ อันบริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนน้ำที่อยู่ในใบบัว
ฉะนั้น จึงเรียกว่า อสังขตธาตุ เป็นธาตุแท้

เมื่อใครทำได้เช่นนี้ ก็จะเห็นของดีวิเศษเกิดขึ้นในใจแห่งตน จะเป็นกุศลวาสนาบารมีของท่านผู้ปฏิบัติในทางสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน จะได้ผล ๒ ประการดังกล่าวมา คือ โลกิยผล ที่จะให้สำเร็จประโยชน์อนามัยของร่างกายแห่งท่านและคนอื่นทั่ว ๆ ไปในสากลโลกนี้ประการหนึ่ง
ประการที่ ๒ จะได้โลกุตรผล อันเป็นประโยชน์อนามัยในด้านจิตใจของท่านมีความสุขความเยือกเย็นและความราบรื่นชื่นบาน ก็จะถึงพระนิพพานเป็นเบื้องหน้า

จากหนังสือ ท่านพ่อลีสอนกรรมฐาน หน้าที่ ๔๗
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
๖๑.๐๘.๑๒