. ถ้ารักษาศีลดีแล้ว เมื่ออบรมสมาธิเข้า มันจะมีความสงบ มันลงเร็ว
ถ้ามันขัดข้องก็หมายว่าศีลของเราข้อใดข้อหนึ่งผิดพลาดไป มันจึงขัดข้อง ไม่ลง

พุทโธ ๆ หมายว่าให้ใจหยุด เอาพุทโธเป็นอารมณ์นั่นแหละ ต้องการไม่ให้จิตมันออกไปสู่อารมณ์ภายนอก

อารมณ์ภายนอกมันก็ไปจดจ่ออยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสความถูกต้องทุกสิ่งอย่าง มันไปจดจ่ออยู่นั่น จิตมันจึงไม่ลง
พวกนี้เรียกว่านิวรณ์ เรียกว่าเป็นมาร
จึงว่าให้มีสติอย่าให้มันไป กุมไว้ให้มันอยู่กับที่นี้

ให้เอาพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ เอาพระธรรมเป็นอารมณ์ เอาพระสงฆ์เป็นอารมณ์

ผู้ที่ภาวนาจิตสงบลง แม้ชั่วเวลาช้างพับหู งูแลบลิ้น อานิสงส์อักโขอักขัง

ทำไปมันมีสามสมาธิ ขนิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปนาสมาธิ

ขนิกสมาธินี่เราบริกรรมไป ๆ ว่าพุทโธก็ตาม อะไรก็ตาม รู้สึกว่าสบาย ๆ เข้าไปสักหน่อย จิตสงบเข้าไปสักหน่อย ถอนขึ้นมา ก็กลับเป็นอารมณ์ของเก่ามัน นี่ขนิกสมาธิ

อุปจารสมาธิ ลงไปนาน ๆ สักหน่อย ถอนขึ้นมาอีก ไปสู่อารมณ์อีก
ภาวนาไป ๆ มา ๆ อย่าหยุดอย่าหย่อน แล้วมันก็จะค่อยเป็นไปเอง

อย่าไปนึกว่าเมื่อไหร่มันจะลงจิตนี่ อย่าไปนึก

อยากให้มันเป็น อยากให้มันลงเร็ว ๆ อันนั้นแหละมันตัวร้ายละ หน้าดำละ ความอยากของมันมืดละ

เจตนาไว้ เป็นก็ไม่ว่า จะเอาเลือดเนื้อชีวิตจิตใจถวายบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้าตลอดวันตาย

อยากมันก็เป็นตัณหาเสีย ยืนขวางหน้าเสีย ยิ่งไม่ลงละ

จากหนังสือ อนาลโยวาท หลวงปู่ขาว อนาลโย หน้าที่ ๑๙๓

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
๖๑.๐๖.๒๙