สมาธิ คือ ตั้งจิตมั่น ไม่หวั่นไหวง่อนแง่นคลอนแคลนในสิ่งทั้งหลายทั้งหมด

ตั้งมั่น เปรียบเหมือนกุฏิที่ตั้งมั่นอยู่นี่ ใครมาก็พึ่งอาศัยได้ ถึงลมมาแดดฝนมาก็พึ่งพาอาศัยได้
สรณะที่พึ่งคือต้องพึ่งได้ จิตของเราก็เช่นเดียวกัน

ที่ว่าพึ่งไม่ได้ก็คือว่าเราจะอยู่นี่แต่มันไปอยู่อีกแห่งหนึ่ง เราจะเอาแห่งหนึ่งมันไปเอาอีกแห่งหนึ่ง นั่นพึ่งไม่ได้
ถ้าให้นิ่งแล้วมันก็นิ่งอยู่ได้ มันก็พึ่งอาศัยได้
นี่แหละเราจะตัดบาป ตัดกรรมตัดเวร ตัดภัยอกุศลทั้งหลายให้ระงับได้
นี่แหละผู้ถึงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว

โอสถัง อุตตมัง วรัง จิตตัง เทวะมนุสสานัง สัพเพ ทุกขา สัพเพ ภยา สัพเพ โรคา ภวันตุ เต วินัสสันตุ
ทุกข์ ภัย โรค ทั้งหลายทั้งหมด ก็พินาศฉิบหาย ก็เพราะอาศัยจิตสงบนะแหละ จิตสงบระงับดับหมดซึ่งกิเลสจัญไรทั้งหลายเหล่านั้น

ในภาวนาพุทโธ พุทโธใจเบิกบาน พุทโธผู้รู้ ให้รู้มันให้หมด อย่าให้ปกปิดไว้
ทุกข์เกิดขึ้นก็ให้รู้ สุขเกิดขึ้นก็ให้รู้ ดีเกิดขึ้นก็ให้รู้

พุทโธ พุทโธ มันเป็นยังไงก็ให้รู้ให้หมด มันข้องตรงไหนก็ให้รู้ มันไม่ข้องก็ให้รู้
ทำความรู้อยู่อย่างนั้นเรียกว่า พุทโธ
เห็นความรู้นั้นอยู่ มีอยู่ มันเฉย ๆ ก็ให้รู้อยู่ ให้น้อมเข้ามา มันมืดก็ให้รู้ มันสว่างก็ให้รู้ ผู้รู้พุทโธนั้นก็รู้อยู่อย่างนั้น

มันสว่างก็รู้ว่าสว่าง อย่าไปเอาความสว่างมาเป็นตน
เราคือผู้รู้ เราก็เพ่งเล็งความรู้อันนั้นอยู่ เห็นผู้รู้นั้นอยู่ ให้รู้ว่าผู้รู้มีอยู่

จากหนังสือ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๑๑ หน้าที่ ๕๙๐

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
๖๑.๐๖.๐๕