การที่เราจะคิดด่วนได้หรืออยากจะให้มันสำเร็จเร็ว ๆ
เวลานี้มีความทุกข์มากอยากจะสำเร็จเร็ว ๆ ยิ่งไม่สำเร็จ

เพราะว่าความสำเร็จมันต้องเป็นไปตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามความนึกคิดของเรา

อยากจะพ้นทุกข์เร็ว ๆ อยากจะได้เร็ว ๆ อันนี้เรียกว่าเป็นความโลภ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า โลโภ ธัมมานัง ปะริปัณโถ ความโลภเป็นอันตรายต่อธรรม
เป็นอันตรายนั้นไม่ใช่เป็นอันตรายทำให้มนุษย์ไปตกนรก แต่ว่าทำให้เกิดความล่าช้าเท่านั้น

เพราะฉะนั้นเราต้องอาศัยความจริงเป็นหลัก

การทำสมาธินี้เวลาทำจิตลงไปแล้วจิตมันละเอียด มันละเอียดตามลำดับ ตามลำดับของการที่เราละอารมณ์ได้
การละเอียดเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่เกิดไปตามความเป็นจริง ที่เรียกว่าสัจธรรม

เมื่อเวลาที่ทำสมาธิจิตมันเกิดรวม เกิดสบาย เราก็ยอมรับว่าจิตเรานี่รวม จิตเรานี่สบาย
แต่ความจิตรวมความจิตสบายนั้นไม่ใช่เป็นเพียงครั้งเดียวที่จะทำให้เราได้สำเร็จ มันจะต้องทำหลายครั้งมากกว่าที่จะสำเร็จเป็นขั้นเป็นตอน

ความสบายนี่ต้องสบายหลายครั้ง การเดินจงกรมก็ต้องหลายครั้ง การนั่งสมาธิก็ต้องหลายครั้ง
ทำไมถึงต้องหลายครั้ง

ทำที่เดียวทำไมถึงต้องหลายครั้ง ก็เพราะเราต้องการความสำเร็จ
เหมือนกันกับเรารับประทานอาหาร เรารับประทานกี่ครั้งเราอิ่มกี่ครั้ง ตั้งแต่เราเกิดมานี่ ตั้งแต่เราเกิดมาตั้งแต่เด็ก กว่าเราจะมาเป็นหนุ่มสาว กว่าจะมาถึงเวลานี้ เราก็ได้อิ่มมาไม่รู้กี่ครั้งแล้ว

ความสุขที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธินั้น จะต้องเกิดแล้วเกิดเล่า เกิดแล้วเกิดอีก
ความสุขทีนึงก็เท่ากับว่าเราได้กินข้าวอิ่มหนหนึ่ง
แล้วก็ทำอะไรให้เจริญเติบโต ก็คือทำกระแสจิตหรือทำพลังจิตนี่ให้มีกำลังขึ้น
รวมทีนึงก็มีกำลังทีนึง รวมทีนึงก็มีกำลังทีนึง ขจัดอารมณ์ไปได้ทีนึง ก็มีกำลังทีนึง
มันก็จะต้องมีเช่นนี้หลายครั้ง นับครั้งไม่ถ้วน
เมื่อนับครั้งไม่ถ้วนแล้วจิตของเรานี่แหละจะได้รับความบริสุทธิ์ มันจะเกิดความบริสุทธิ์ขึ้น ตามกาลเวลาที่ถูกต้อง

จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ เล่มแรก หน้าที่ ๒๓๔
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน

๖๑.๐๔.๒๔