ความเป็นใหญ่นี้ในพระพุทธศาสนานี่เขาชื่อว่าอินทรีย์

ถ้าหากว่ายังไม่เป็นอินทรีย์ก็ใหญ่ไม่ได้ แต่ว่าเป็นอินทรีย์แล้วใหญ่ได้
ในอินทรีย์นี้ก็ถือว่าใจของคนเรานี่เป็นใหญ่เป็นต้นเป็นประธาน ไม่มีอะไรใหญ่ยิ่งไปกว่าใจของมนุษย์
ใจของมนุษย์นี่ยิ่งใหญ่มาก

ถ้าหากว่าจะทำความชั่วก็ยิ่งใหญ่ จะทำความดีก็ยิ่งใหญ่ ได้รับการสั่งการไปจากใจของเรา

เพราะฉะนั้นในการที่เรามีสมาธิเป็นเครื่องกำกับนั้นจึงเป็นการถูกต้อง

ถูกต้องที่ว่าเรากำกับใจ เพราะกำกับตัวสำคัญ เขาเรียกว่าตัวอินทรีย์ ตัวความเป็นใหญ่นี้ให้เดินไปในทางที่ถูกต้อง

การเดินทางไปในทางที่ถูกต้องกับการเดินทางไปในทางที่ผิดนั้นแตกต่างกัน

การเดินทางไปในทางที่ผิดเจอขวากหนาม เจอสิ่งสารพัดเดินไปไม่ได้เท่าไหร่ก็จะเดินไม่ไหวต่อไปแล้ว
แต่ถ้าหากเดินถูกทางนี่จะโล่งเตียน สามารถที่จะเดินไปได้ตามความตั้งใจ

เพราะฉะนั้นชีวิตของคนเรานี้ถ้าหากว่าเราเลือกในทางถูกต้องไว้แล้วเราก็จะได้หนทางที่โล่งเตียน
โล่งเตียนในที่นี้หมายถึงว่าเราได้สร้างอริยทรัพย์ไว้ในตัวของเราให้เยอะที่สุด

อริยทรัพย์นั้นได้แก่ทรัพย์ที่ไม่ตาย ทรัพย์ที่จะต้องฝังสนิทติดอยู่ในใจของเราตลอดไป
ไม่ว่าทรัพย์นั้นเราจะบริจาคเป็นทาน หรือไม่ว่าเราจะพากันรักษาศีล หรือไม่ว่าเราจะพากันภาวนา ก็ถือว่าทุกอย่างนี้เป็นอริยทรัพย์

คำว่าอริยทรัพย์นั้นคือเป็นสิ่งที่สามารถทำให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นมาในตัวของมนุษย์

จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ เล่มแรก หน้าที่ ๒๒๓
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน

๖๑.๐๔.๑๘