เรามีอาหารกายอยู่ทุกวัน
อาหารใจนี่มีความสำคัญ คือใจของเรานี่เป็นผู้สั่งการให้กายทำ

กายของเรานี้อยู่ภายใต้อำนาจของใจ ใจสั่งให้หัวเราะก็หัวเราะ ใจสั่งให้ร้องไห้ก็ร้องไห้ ใจสั่งให้วิ่งก็วิ่ง ใจสั่งให้เดินก็เดิน ใจสั่งให้นอนก็นอน
เป็นอยู่อย่างนี้ก็เรียกว่าใจเป็นใหญ่ เป็นต้นเป็นประธาน

เพราะฉะนั้นเราทำอย่างไรกับใจของเรา จึงจะได้รับผลประโยชน์

ใจนั้นถ้าหากว่าเป็นไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ก็เรียกว่าใจไม่เป็นสมาธิ เป็นไปกับด้วยอารมณ์ อารมณ์โกรธบ้าง อารมณ์รักบ้าง อารมณ์ชังบ้าง
อารมณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น เรียกว่าใจอยู่กับอารมณ์

ทีนี้เพื่อให้ใจของเรานั้นได้รับประโยชน์ ก็ต้องกำจัดอารมณ์

การกำจัดอารมณ์ก็มีอยู่ทางเดียวคือการทำสมาธิ
การทำสมาธินั้น เราใช้คำบริกรรมว่า พุทโธ พุทโธ หรือใครจะใช้คำบริกรรมอะไรก็แล้วแต่
เพราะว่าคำบริกรรมขั้นแรกนั้นต้องการให้จิตสงบ คือให้อยู่ที่คำบริกรรมอันเดียว แล้วจิตก็จะสงบได้

เหมือนกันกับคนที่เขาวิ่ง
เวลาวิ่งนี่มันจะดูอะไรไม่ชัดเจน มันก็มัว ๆ เพราะว่ากำลังวิ่ง
แต่พอเวลาหยุดเมื่อไหร่นี่ ที่เราดูนั่นจะชัดเจนขึ้น

เช่นเดียวกับใจของเราเป็นไปด้วยอารมณ์ ก็เท่ากับว่าใจนี้วิ่ง มองดูทุกสิ่งอย่างก็ไม่ชัดเจน
เมื่อไม่ชัดเจนแล้วก็หลงไปตาม หลงไปตามก็หมายความว่ายิ่งฟุ้งซ่านยิ่งขึ้นไป ทำอะไรตามอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่สามารถที่จะควบคุมจิตใจได้

เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะทำให้เกิดประโยชน์กับใจของเรานั่น ต้องทำใจของเราให้สงบ จะสงบด้วยการบริกรรมว่า พุทโธ พุทโธ ก็ได้ เมื่อใจของเราสงบแล้ว จิตใจก็เป็นสมาธิ
เมื่อใจเป็นสมาธิแล้ว ใจก็ผลิตพลังจิตให้แก่ตัวของเรา
ทุกครั้งที่จิตสงบเป็นสมาธินี่จะมีการผลิตพลังจิตของเราทุกครั้ง

ตราบใดที่เรายังไม่ได้ทำสมาธิให้เกิดเป็นหนึ่ง เราก็ยังไม่สามารถที่จะผลิตพลังจิตได้
ตราบใดที่เราได้ทำจิตให้เป็นหนึ่งได้แล้ว ตราบนั้นเราก็จะได้พลังจิตให้แก่ตัวของเรา

พลังจิตเอามาใช้อะไร
พลังจิตนั้นเอามาใช้ควบคุมจิตใจของเรา การที่จะควบคุมจิตใจของเราได้นั้นไม่ใช่ง่าย

เพราะว่าการที่เรามีเรื่องมีราวมีการมีงานมีสิ่งต่าง ๆ ที่ประสบกันเข้ามามันก็มากมาย
เมื่อสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น มันมากระทบใจของเราก็ควบคุมไม่ได้ ความอยากก็เกิดขึ้น
เมื่อความอยากเกิดขึ้นแล้ว มันก็ทำได้ทุกอย่าง จะเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง จะเป็นการผิดศีลผิดธรรม อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ก็ทำได้
เพราะไม่มีอะไรเป็นเครื่องควบคุมแล้ว ใจก็ทำผิดศีลธรรมไป

การทำผิดศีลธรรมเหล่านั้นไม่ใช่อื่นไกลเป็นการที่เราควบคุมจิตใจของเราไม่ได้นั่นเอง

แต่ถ้าหากว่าควบคุมจิตใจได้แล้ว เราก็รู้ว่าอันนี้เป็นบุญ อันนี้เป็นกุศล อันนี้เป็นความดี ความงาม อันนี้เป็ผล เป็นประโยชน์ต่อชีวิตของเรา
อย่างนี้ก็เหมือนกันกับคนที่หยุดยืน
เวลาหยุดยืนแล้วมันจะดูภาพอะไรต่าง ๆ นี่ชัดเจน เวลาวิ่งมันดูภาพไม่ชัดเจน

เพราะฉะนั้นเรามีแต่ความคิดความอ่านอะไรมากมายก่ายกองนั้น โดยที่เราไม่มีเวลาหยุดเลยนั้น ก็ทำให้ใจของเราละเมอเพ้อฝันไปตาม
บางคนถ้าหากว่าได้เงินได้ทองได้ข้าวได้ของมามากมายแล้ว แต่ว่าควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ ก็ไม่สามารถที่จะใช้เงินนั้น เงินทองมากมายนั้นให้เป็นประโยชน์แก่ตนได้

จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ เล่มแรก หน้าที่ ๑๕๑
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน

๖๑.๐๔.๐๓