เพื่อให้ร่างกายของเราสมบูรณ์ เราก็รับประทานอาหารกันทุกวัน ๆ นี่เขาเรียกว่าบำรุงเลี้ยงร่างกาย
ในขณะเดียวกันนั้นต้องรู้จักบำรุงเลี้ยงใจของเราด้วย

ใจของเรานั้นมันมีความสำคัญแต่เราไม่ได้เลี้ยง เราปล่อยปะละเลย ก็เลยเลี้ยงใจไม่เป็น

อาหารของใจก็คือพลังจิต พลังจิตนั้นเป็นอาหารของใจ
พลังจิตนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
พลังจิตเกิดขึ้นมาได้ทางเดียวคือสมาธิ
สมาธิที่จะเป็นขึ้นมาได้ก็ต้องอาศัยใจเป็นหนึ่ง
ใจเป็นหนึ่งได้ก็ต้องอาศัยคำบริกรรม

พระท่านสอนให้ว่านั่งสมาธิต้องทำอย่างนี้ บริกรรมอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเรานั่งสมาธิแล้วปล่อยทิ้ง หรือว่าไม่มีประโยชน์อะไร ความจริงแล้วมันมีประโยชน์มากมาย
เพราะว่าเรามัวแต่ไปให้อาหารร่างกาย เราก็ลืมไปให้อาหารใจไปซะ
เมื่อลืมให้อาหารใจมันก็เกิดไม่สมดุลระหว่างกายกับใจ
เมื่อไม่สมดุลกันมันก็เกิดความโศกเศร้าเสียใจร้องไห้ร่ำไรรำพัน อะไรต่าง ๆ ก็เกิดขึ้น ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สมความปรารถนาก็เกิดขึ้น พลัดพรากจากของรักของชอบใจต่าง ๆ ก็เกิดขึ้น
เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็หักห้ามใจไม่ได้ ก็เกิดความโศกเศร้าอะไรต่าง ๆ นี่เรียกว่าเราไม่มีอาหารใจ

เมื่อไม่มีอาหารใจนั้นเราคิดดูก็แล้วกันว่า อย่างร่างกายเรานี่ถ้าหากว่าไม่มีอาหารซักมื้อสองมื้อ หรือว่าซักวันสองวันนี่อาการอะไรมันจะเกิดขึ้น
อาการหิว อาการโหย อาการอ่อนเพลีย อาการทรุดโทรมของร่างกายก็เกิดขึ้นมา
เพราะอะไร เพราะว่าอดอาหาร

ทีนี้เราอดอาหารใจนี่อะไรเกิดขึ้น ก็ความโศก ความเสียใจ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเราก็เสียใจ
เราปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สมความปรารถนาก็เสียใจ

แต่ถ้าหากว่าเรามีกำลังใจมีพลังจิตที่เกิดขึ้นจากสมาธิ ความเสียใจก็ลดน้อยลง ความเศร้าโศกอะไรต่าง ๆ ก็ลดน้อยลง

ทีนี้พลังจิตนี้เป็นหนทางให้เกิดความสุข
ความสุขที่เกิดจากสมาธินั้นเป็นความสงบที่มีความเงียบ ที่มีความซาบซึ้ง ที่มีความประทับใจ ที่มีความลึกซึ้งของใจ อย่างนี้เรียกว่าเป็นอาหารใจ

อาหารร่างกายนั้น เราได้รับประทานอาหารอันนั้นก็อร่อยดี อันนี้ก็อร่อยดี อันนี้ก็มีรสดี เราก็ชื่นชมแล้วก็อิ่มหนำสำราญ
แล้วร่างกายก็กระชุ่มกระชวย อย่างนี้เป็นต้น

ใจของเราก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อเราทำสมาธิให้เกิดขึ้นมาแล้ว ก็เกิดความกระชุ่มกระชวย เกิดความเอิบอิ่ม เกิดความซาบซึ้งอะไรต่าง ๆ เหล่านี้
อันนี้เรียกว่าอาหารใจ และก็อาหารกายจะต้องสมดุลกัน
เมื่อสมดุลกันเมื่อไหร่นี่เราก็เกิดความสุขทันที

เราลองสังเกตุดูว่าเวลาที่เราทำสมาธิเราก็จะรู้สึกสงบนิ่งแล้วก็เกิดความสบาย
เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าพลังจิตได้เกิดขึ้นแก่ตัวเราแล้วในการทำสมาธิ

เพราะฉะนั้นในเรื่องของอาหารใจจึงเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ มีโอกาสเมื่อไหร่ต้องให้อาหารใจ

อาหารกายเรา ความหิวเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้เราต้องรับประทานอาหาร
ถ้าไม่รับประทานอาหาร ความหิวก็ไม่หายไปอย่างนี้
แล้วความสุขที่เกิดขึ้นจากใจที่เรียกว่าเป็นอาหารใจนั้น ในเมื่อเราทำสมาธิทำให้เกิดขึ้นซึ่งความสุข อันนี้ก็เท่ากันกับว่าเราให้อาหารใจของเรา
ทีนี้อาหารใจเรานี่ถ้าหากว่าจะเรียกให้ถูกตามภาษาที่เรารู้จักกันก็คือบุญ

บุญนั้นน่ะเป็นสิ่งที่เป็นที่พึ่งเป็นที่อาศัยของสรรพสัตว์ทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า ปุญญานิ ปะระโลกัสมิง ปะติฏฐา โหนติ ปาณินัง
บุญเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งโลกนี้แล้วก็โลกหน้า

ส่วนของอื่น ๆ นั้นก็อาศัยเพียงชั่วคราว เรียกว่าได้ที่พึ่งเหมือนกันแต่พึ่งกันได้เพียงชั่วคราว ส่วนบุญนั้นเป็นการให้ที่พึ่งแก่เราอย่างถาวร

จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ เล่มแรก หน้าที่ ๑๓๙
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน

๖๑.๐๓.๓๑