พระพุทธเจ้าตรัสว่า กรรมนั้นย่อมจำแนกสัตว์ให้ไปในทางดีและทางชั่ว เรียกว่า กัมมัง สัตเต วิภะชะติ ยะทิทัง หินัปปะณีตะตายะ
กรรมนั้นแหละที่จะแยกสัตว์ทั้งหลายให้ไปในทางดีและทางชั่ว
กรรมหมายถึงการกระทำ

เพราะฉะนั้นถ้าเรามีรู้หรือว่ารู้หนทางดี เราก็ไม่ควรที่จะละเลย
ควรที่จะจับให้มั่นคั้นให้ตาย หมายความว่าพยายามที่จะทำในหนทางที่เราได้รับ

เราได้รับหนทางที่เป็นสมาธิ สมาธิก็คือการทำจิตของตนให้สงบ
ความสงบนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่ส นัตถิ สันติ ปะรัง สุขขัง
ความสุขเสมอด้วยความสงบไม่มี

ความสุขอื่น ๆ นั้นไม่ใช่เป็นความสุขที่ให้เกิดความสงบ เป๋นความสุขที่ให้เกิดอารมณ์

แต่ความสุขที่เกิดขึ้นจากสมาธินั้นเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการไร้อารมณ์คือการไม่มีอารมณ์

การขจัดอารมณ์ได้มากเท่าไหร่ความสุขก็มีมากเท่านั้น อันนี้เป็นอย่างนั้น

อารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาแก่ตัวของเรานั้น เป็นอารมณ์ที่ดีบ้าง เป็นอารมณ์ที่ชั่วบ้าง เป็นอารมณ์ที่ชอบบ้าง อารมณ์ที่ไม่ชอบบ้าง
อารมณ์เหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นกับตัวของเราอยู่ตลอดเวลา
แต่เราจะแก้อารมณ์อันนี้ได้อย่างไร ก็สุดแล้วแต่ตัวของเราจะแก้

เพราะตัวของเราเองนั้นเราก็รู้หนทางอยู่แล้ว สมาธิทำอย่างไร เดินจงกรมทำอย่างไร นั่งสมาธิทำอย่างไร เราก็รู้กันอยู่แล้ว และแล้วเราจะทำหรือไม่อยู่ที่ตัวของเรา

เมื่อเราทำสมาธิได้แล้วก็เท่ากันกับว่าเราจับหนทางได้แล้ว
เมื่อจับหนทางได้แล้วเราก็อย่าไปทิ้งหนทางนั้น แล้วมันก็ไปกันเรื่อย ๆ เดินทางเรื่อยไป

บางคนนั้นคิดว่าเรายังไม่ถึงเวลา ยังไม่ถึงกาล ความจริงแล้วมันถึงกาลถึงเวลาด้วยกันทั้งนั้น ที่เราจะมาศึกษาหาความรู้ในเรื่องของสมาธิให้มากขึ้น

การที่คนทำสมาธิได้มากนั้นมันเป็นผลมากที่สุดสำหรับชีวิตของคนเรา
ถ้าหากว่าเราทำสมาธิได้มากนั้นเท่ากันกับว่าเราได้สมบัติมาก
การได้สมบัติมากนั้นก็เท่ากันกับว่าเราได้สิ่งที่เราต้องการมากขึ้น

อย่างสมบัติคือสมาธินั้นเป็นสมบัติที่ไม่มีใครมาแย่งชิงไปได้ แล้วก็เป็นสมบัติที่ล้ำค่าที่สุดสำหรับชีวิตของคนเรา

เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเรามีสติ สติยังอยู่กับเรา เราก็สามารถระลึกได้
ถ้าเราขาดสติไปเมื่อไหร่เราก็ระลึกไม่ได้แล้ว
เพราะฉะนั้นสติจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ เล่มแรก หน้าที่ ๑๓๑
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน

๖๑.๐๓.๓๐