บารมี
เรื่องการสร้างบารมีนั้น เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ของบุคคลแต่ละบุคคล การที่เกิดมาเป็นคนนั้นท่านกล่าวว่า ยากหนักหนา โชคดีแล้วที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และมีความสมบูรณ์พร้อมทั้งกายและใจ หมายถึง กายไม่พิการ มีอวัยวะครบถ้วนบริบูรณ์ ใจไม่พิการ ไม่มีอาการสติวิปลาส
เมื่อเรามีร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์พร้อม พร้อมที่จะสร้างความสำเร็จได้ดังความปรารถนา โดยการประพฤติปฏิบัติตน ดำรงตนในทางที่ถูก(สัมมา) ไม่ดำรงตนในทางผิด(มิจฉา) พยายามที่จะละบาป สำรวมระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น พยายามสร้างบุญกุศล หมั่นที่จะชำระจิตให้ผ่องใส โดยการทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ พากเพียรพยายามที่จะสะสมบุญ และบารมี
การที่จะทำบุญนั้น การที่จะสร้างบารมีนั้น จะว่าง่าย ก็ง่าย ศึกษาให้เข้าใจให้ถูกต้อง ไม่หลงงมงาย ไม่ประมาทในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ จะว่ายากก็ยาก เหตุเพราะ สิ่งต่อต้านนั้นมีอยู่มากมาย ทั้งสิ่งต่อต้านที่มาจากสภาพแวดล้อมภายนอก และสิ่งต่อต้านที่เกิดขึ้นภายในตน จากมารที่มาจากร่างกายตน เช่น ความเจ็บปวด ความปวดเมื่อย ความเหนื่อย หรือความหิว ฯลฯ และมารที่มาจากจิตใจตน เช่น ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ ความเชื่อที่ผิด หรืออาจมาจากเชื้อกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่มีอยู่ในใจตน
โดยเฉพาะหากคิดที่จะสร้างบารมี หรือหากคิดจะสร้างอุปบารมี หรือหากคิดที่จะสร้างปรมัตถบารมี(บารมีระดับสูงสุด) ไม่ง่ายเลยที่จะทำได้ แต่ก็ไม่เกินความสามารถ เป็นเรื่องที่แปลกแต่จริงว่าเวลาจะทำความดี จะสร้างบารมีมักจะเจอกับอุปสรรค หรือเรียกว่า มาร จำเป็นที่จะต้องต่อสู้กันไปตั้งแต่เบื้องต้น ใน
ท่ามกลางหรือในระหว่างทาง และในที่สุด พลาดท่าเสียทีอาจจะเรียกได้ว่า เรือล่มเมื่อจอด เรือนั้นอาจจะล่มได้เมื่อลงน้ำก็ล่มแล้ว เตรียมมาไม่ดี ไม่พร้อม หรือในระหว่างการเดินเรือออกไป เจอกับคลื่นลมเรือไม่แข็งแรงพอก็เรือแตกได้ หรือเรือล่มได้ การที่จะสร้างบารมีก็เช่นเดียวกัน บางครั้งก็ประสบความพ่ายแพ้ บางครั้งก็ประสบความสำเร็จ เป็นประสบการณ์เป็นบทเรียนให้เราได้เติบโต เติบใหญ่ และเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรง แข็งแกร่งได้ในที่สุด
การที่เราสามารถสร้างและสะสมบารมีแต่ละครั้งได้สำเร็จนั้น เรียกได้ว่า มีคุณค่ายิ่งนัก ยิ่งหากเราได้สร้างบารมีด้วยการออกบวช ทำได้แม้ศีล 8 ก็มีอานิสงส์มากแก่ตน ยิ่งถ้าบวชแล้วได้ปฏิบัติธรรมได้ครบถ้วน ทั้งให้ทาน รักษาศีล และภาวนาแล้ว ประโยชน์จะเกิดแก่ตนเป็นอันมาก โดยเฉพาะคุณประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ใจของตน ซึ่งตนนั้นเองจะวัดผล หรือตรวจดูผลที่เกิดแก่ตนได้ เช่น การรับประทานอาหารอิ่มหรือหิว ตนเองจะเป็นผู้รู้ อร่อยหรือไม่อร่อย ตนเองจะเป็นผู้รู้เอง
การสร้างบารมีแต่ละครั้งนั้น แม้ว่าจะเหนื่อยยาก แม้ว่าจะลำบาก แม้ว่าจะตรากตรำ แม้ว่าจะต้องเจ็บตัวเจ็บใจบ้าง หากการปฏิบัตินั้นได้ถูกทางแล้ว มีกัลยาณมิตรที่ดีแล้ว มีผู้นำที่ดีแล้ว ความสำเร็จในการสร้างบารมีแต่ละครั้งนั้น เรียกได้ว่าคุ้มค่า ที่ได้ลงทุนลงแรง เหตุที่ว่าแม้กายจะลำบากแสนสาหัส แต่พลังที่เกิดแก่ตนได้นั้นเรียกได้ว่าเกินคุ้ม เพราะว่าพลังสำคัญที่เกิดขึ้น คือเกิดขึ้นที่ใจของเรา ทำให้เกิดความปลอดโปร่ง เกิดความมีกำลังใจ เกิดความชุ่มชื่น เกิดความซาบซึ้งตรึงใจ เกิดความเอิบอิ่ม เกิดสิ่งดี ๆ ต่าง ๆ แก่ตน มากสุดจะพรรณนา ไม่สามารถที่จะเอาวัตถุมาเทียบค่าที่เกิดขึ้นกับใจเราได้ และเมื่อสามารถทำให้เกิดขึ้นแล้ว ก็จะตรึงใจของเราอยู่ตลอดไป
ดังนั้นควรที่จะได้หาโอกาสสร้าง และสะสมบารมีให้แก่ตน เมื่อโอกาสทองเกิดขึ้นแล้วในการสร้างบารมีที่ยิ่งใหญ่ควรรีบทำ พยายามที่จะเข้าไปสร้างความดี สร้างบุญ สร้างบารมีให้แก่ตนให้จงได้ เพื่อความสุขและความสำเร็จแก่ตน แก่ครอบครัว และต่อสังคม เพื่อประโยชน์และความสุขความเจริญยิ่งขึ้นสืบไป
บารมี หมายถึง คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด คือ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงสุด (perfections)
บารมี 10
1.ทาน 2.ศีล 3.เนกขัมมะ(การออกบวช) 4.ปัญญา 5.วิริยะ 6.ขันติ 7.สัจจะ 8.อธิษฐาน(ความตั้งใจมั่น) 9.เมตตา 10.อุเบกขา(ความวางใจสงบราบเรียบสม่ำเสมอ)
บารมีนั้น ท่านกล่าวว่าจะบำเพ็ญให้บริบูรณ์ ต้องครบ 3 ขั้น คือ บารมีระดับสามัญ อุปบารมี(ระดับรองหรือจวนจะสูงสุด) ปรมัตถบารมี(ระดับสูงสุด)
อ้างอิงจาก 1. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต)
รังสรรค์ อินทร์จันทร์
ที่ปรึกษา งานพัฒนาบุคคลสู่ความเป็นเลิศ
11/01/2559
ใส่ความเห็น