“สุโข สังฆัสสะ สามัคคี” ความสามัคคีนั้นสามารถทำให้เกิดสุขได้
“สุโข สังฆัสสะ สามัคคี” ความสามัคคีนั้นสามารถทำให้เกิดสุขได้
ตรงกันข้ามความแตกสามัคคีย่อมทำให้เกิดความทุกข์
ความสามัคคีนั้นมีนัยเป็น ๒ อย่าง นัยหนึ่งนั้นอยู่ที่ตัวแต่ละบุคคล นัยหนึ่งนั้นคือการเป็นหมู่เป็นคณะ แสดงถึงหมู่คณะ
ในตัวของบุคคลนั้นจะมีใจ ใจนั้นเป็นต้นเป็นประธาน เมื่อใจนั้นไม่มีความสามัคคีคนนั้นก็จะเกิดความทุกข์
ถ้าใจนั้นเกิดความสามัคคีเมื่อไหร่บุคคลผู้นั้นก็จะเกิดความสุข นี้หมายถึงตัวบุคคล
ความฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ ความผูกพยาบาทอาฆาตจองเวรไปตามอารมณ์ การที่มีมานะทิฏฐิถือตัวถือตนต่าง ๆ นั้นเป็นไปด้วยอารมณ์และอุปาทาน สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกสามัคคีในตัวของแต่ละบุคคล
อติมานะคือว่าถือว่าตนยิ่งใหญ่ สิ่งอันนี้ก็กลายเป็นอุปาทาน
เมื่อกลายเป็นอุปาทานมันก็เกิดความแตกแยกสามัคคีในตัวผู้นั้น
แล้วบุคคลผู้นั้นก็จะต้องมีศัตรูบ้าง มีมิตรบ้าง ในที่สุดก็จะเกิดสิ่งที่ยั่วยวนอารมณ์ให้เกิดความถือตัวหรือเกิดอารมณ์ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
เมื่ออารมณ์มากยิ่งขึ้นแล้วสมองนี่มันก็รับไหวบ้าง รับไม่ไหวบ้าง
บางทีมันรับไหวมันก็พอที่จะถูไถไปได้ แต่บางครั้งรับไม่ไหวมันก็กลายเป็นคนเสียสติหรือเรียกว่าเป็นคนมีประสาทหลอนอะไรเหล่านี้
ทำให้เขาไม่เป็นสุข แม้จะนอนก็ไม่เป็นสุข จะนั่งก็ไม่เป็นสุข
นี่คือความแตกสามัคคีในตัวของบุคคลผู้นั้น
แต่เมื่อบุคคลได้รู้จักเสียสละอารมณ์ สละความยึดถืออุปาทานต่าง ๆ มีการให้อภัย ไม่มีการยึดถือในสิ่งที่ตนยึดถืออยู่นั้นแล้วก็มาทำสมาธิ
ทำสมาธิอารมณ์ต่าง ๆ ร้อยแปดพันประการมันก็เหลืออารมณ์เดียวคือพุทโธ
เมื่อเหลืออารมณ์เดียวคือพุทโธแล้วความสามัคคีก็เริ่มเกิดขึ้นในตัวของบุคคลผู้นั้น
เมื่อสามัคคีมาเข้าแล้วนี่จิตก็เป็นหนึ่ง
เมื่อจิตเป็นหนึ่งจิตก็เป็นสมาธิ
เมื่อจิตเป็นสมาธิจิตก็เกิดพลัง
เมื่อจิตเกิดพลังก็สามารถควบคุมจิตใจของตนได้
นี้คือบุคคลผู้ที่ทำให้เกิดความสามัคคี สามัคคีย่อมทำให้เกิดสุข
ความแตกสามัคคีก็ย่อมให้เกิดทุกข์
นี้เป็นนัยที่เราจะอธิบายให้แก่ตัวของเราว่า เพราะเหตุใดเราจึงต้องมาทำสมาธิ
ก็เพราะเหตุว่าต้องการความสามัคคี
ทีนี้พระพุทธเจ้าได้แสดงลึกซึ้งไปกว่านั้นคือมัคคสามัคคี
มัคคสามัคคีนั้นได้แก่การดำเนินวิปัสสนาให้เกิดความจริงขึ้นมาในจิตใจ สามารถสละกิเลสได้
ถ้าหากว่าถึงขั้นนั้นเรียกว่าสามัคคีชั้นยอด
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “นิพพานัง ปะระมัง สุขัง” นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง อย่างนี้เป็นต้น
อันนี้พูดถึงนัยที่เรียกว่าสามัคคีในตัวของแต่ละบุคคล
เพราะฉะนั้นใครต้องการอยากได้รับความสุข บุคคลผู้นั้นต้องทำความสามัคคีในจิตใจของตนให้ได้
จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๒ หน้าที่ ๓๐๒
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)
สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
๖๑.๐๒.๐๕
ใส่ความเห็น