เปิดเหตุผลอัยการ ยื่นฟ้อง สุเทพ-แกนนำ กปปส. ร่วมกันเป็นกบฏ ก่อความไม่สงบ ฯลฯ

กรณีอัยการยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.และแกนนำ ข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ กรณีชุมนุมขับไล่รัฐบาลเมื่อปี 2556-2557 ภายหลังทั้งหมดเข้ารายงานตัวกับอัยการและรับทราบคำสั่งคดีเมื่อช่วงเวลา 09.20 น.ที่ผ่านมา โดย ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ต้องหาที่ 1 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ผู้ต้องหาที่ 2 นายชุมพล จุลใส ผู้ต้องหาที่ 3 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ต้องหาที่ 4 นายอิสระ สมชัย ผู้ต้องหาที่ 5 นายวิทยา แก้วภราดัย ผู้ต้องหาที่ 6 นายถาวร เสนเนียม ผู้ต้องหาที่ 7 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 8 นายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ ผู้ต้องหาที่ 9
ทั้งนี้ คำฟ้อง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ ๔ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ระหว่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ , นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ที่ ๒, นายชุมพล จุลใส ที่ ๓ , นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ ที่ ๔,นายอิสระ สมชัย ที่ ๕, นายวิทยา แก้วภราดัย ที่ ๖,นายถาวร เสนเนียม ที่ ๗, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่ ๘,นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ที่ ๙ เป็น จำเลย มีรายละเอียดการฟ้องดังนี้
ฐานความผิด ร่วมกันเป็นกบฏ, ยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงาน ร่วมกันปิดงานงดจ้าง,กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน , ก่อการร้าย, อั้งยี่ , ซ่องโจร , มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ เป็นหัวหน้า หรือผู้มีหน้าที่สั่งการ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแล้วไม่เลิก , บุกรุก โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปหรือในเวลากลางคืน และร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อไม่ให้ ผู้เลือกตั้งสามารถใช้สิทธิได้ หรือขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้งหรือเข้าไป ณ ที่ลงคะแนนเลือกตั้ง
ซึ่ง พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สอบสวนแล้ว
ข้าพเจ้าพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ ๔ โจทก์ ขอยื่นฟ้อง
(๑) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อายุ ๖๘ ปี อาชีพเกษตรกร จำเลยที่ ๑
(๒) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อายุ ๕๖ ปี อาชีพ นักการเมือง จำเลยที่ ๒
(๓) นายชุมพล จุลใส อายุ ๔๗ ปี อาชีพ นักการเมือง จำเลยที่ ๓
(๔) นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ อายุ ๔๘ ปี อาชีพ นักการเมือง จำเลยที่ ๔
(๕) นายอิสระ สมชัย อายุ ๗๐ ปี อาชีพ นักการเมือง จำเลยที่ ๕
(๖) นายวิทยา แก้วภราดัย อายุ ๖๒ ปี จำเลยที่ ๖
(๗) นายถาวร เสนเนียม อายุ ๗๐ ปี อาชีพ นักการเมือง จำเลยที่ ๗
(๘) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อายุ ๕๑ ปี อาชีพ นักการเมือง จำเลยที่ ๘
(๙) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อายุ ๓๑ ปี อาชีพ นักการเมือง จำเลยที่ ๙
มีข้อความตามที่กล่าวต่อไปนี้
ข้อ ๑. ขณะเกิดเหตุคดีนี้ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งบัญญัติไว้ตามความในมาตรา ๓ วรรคแรกว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
สำหรับอำนาจนิติบัญญัติ ได้บัญญัติไว้ในหมวด ๖ “รัฐสภา” ว่า ให้มีรัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง ส่วนวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง และการสรรหา ส่วนอำนาจบริหารได้บัญญัติไว้ในหมวด ๙ “คณะรัฐมนตรี” ว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีขึ้นทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน โดยนายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชการโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีซึ่งมี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี (รัฐบาล) ได้ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตลอดมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งมีผลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๘๐ และ มาตรา ๑๘๑ ให้รัฐมนตรีทั้งคณะรวมถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
ข้อ ๒. จำเลยทั้งเก้า กับพวกที่ได้ตัวมาฟ้องได้แล้วประกอบด้วยนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม จำเลยที่ ๑ นายสกลธี ภัททิยกุล จำเลยที่ ๒ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ จำเลยที่ ๓ และนายเสรี วงษ์มณฑา จำเลยที่ ๔ ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.๑๑๙๑/๒๕๕๗ กับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้บังอาจกระทำความผิดต่อกฎหมาย และได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมหลายบทต่างกัน กล่าวคือ
๒.๑ เมื่อระหว่างวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ จนถึงวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าวได้บังอาจร่วมกันมั่วสุมสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปและเกินกว่าสิบคน โดยมีพฤติการณ์สมคบกันเป็นอั้งยี่และซ่องโจร โดยเข้าเป็นสมาชิก หัวหน้า ผู้มีตำแหน่งหน้าที่สั่งการของคณะบุคคล ซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการ โดยมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายด้วยการร่วมกันและแบ่งหน้าที่กันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรฐานเป็นกบฏ โดยสมคบร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ แห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ อีกทั้งได้กระทำความผิดต่อกฎหมายอีกหลายบท โดยมีพฤติการณ์ร่วมกันกระทำการต่างๆ ดังต่อไปนี้
ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองเคลื่อนไหวคัดค้าน ต่อต้าน การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ (กปท.) หรือ กลุ่มประชาชนปฏิวัติปฏิรูปประเทศไทย (ปปปป.) มี พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ กับพวกเป็นแกนนำ กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) มีนายนิติธร ล้ำเหลือ กับพวกเป็นแกนนำ กลุ่มอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ กลุ่มสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) มีนายคมสันต์ ทองศิริ กับพวกเป็นแกนนำ กลุ่มกองทัพธรรม มีเรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ กับพวกเป็นแกนนำ กลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศ ๗๗ จังหวัด มีนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เป็นแกนนำ กลุ่มนักวิชาการมีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กับนายเสรี วงษ์มณฑา จำเลยในคดีอาญาของศาลนี้ดังกล่าวในฟ้องข้อ ๒ และพวกนักวิชาการอื่นเป็นแกนนำ กลุ่มนักธุรกิจชาวสีลม มีนายสาธิต เซกัล (SATISH SEHGAL) กับพวกเป็นแกนนำ กลุ่มสื่อสารมวลชน มีนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม จำเลยที่ ๑ ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.๑๑๙๑/๒๕๕๗ ของศาลนี้ กับพวกเป็นแกนนำ เป็นต้น
ต่อมาวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลากลางวันและกลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน กลุ่มบุคคลดังกล่าวข้างต้นได้ประกาศร่วมกันจัดตั้งคณะบุคคลที่ปกปิดวิธีดำเนินการ และจะร่วมมือกันแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อการปฏิวัติประชาชนและปฏิรูปประเทศไทย
ต่อมาวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลากลางวันและกลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน กลุ่มบุคคลดังกล่าวข้างต้นได้จัดตั้งเป็นคณะบุคคลที่ปกปิดวิธีดำเนินการใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” หรือ “กปปส.” โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศตัวเป็นเลขาธิการของคณะบุคคลดังกล่าว และพวกของจำเลยทั้งเก้าดังกล่าว ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกับคณะบุคคลดังกล่าวข้างต้น
คณะบุคคลทุกกลุ่มดังกล่าวข้างต้น มีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ กล่าวคือ ร่วมกันปลุกระดม ยุยง ชักชวนให้ประชาชนทั่วราชอาณาจักรเข้าร่วมการชุมนุมและร่วมกิจกรรมในการก่อความไม่สงบโดยมุ่งหมายที่จะขับไล่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้พ้นจากตำแหน่งและพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีรวมทั้งดำเนินการคัดค้านและขัดขวางการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อมิให้มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศตามวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่มคณะบุคคลดังกล่าวและจำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าวได้ออกประกาศให้รัฐบาล หยุดปฏิบัติหน้าที่และให้ข้าราชการระดับสูงเข้ารายงานตัวต่อ กปปส. จากนั้น กปปส. จะออกคำสั่งแต่งตั้งคณะบุคคล เข้ามาใช้อำนาจบริหารประเทศ ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และใช้อำนาจตุลาการแทน
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว จำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าวได้มีการแบ่งหน้าที่กันทำ ส่วนหนึ่งทำหน้าปราศรัย ชักชวนประชาชน ให้เข้าร่วมหรือออกมาขับไล่รัฐบาลตามแนวทางของ กปปส. อันมิใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต อีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่เป็นกองกำลัง ทั้งที่มีและไม่มีอาวุธ บุกรุกเข้าไปยึดสถานที่ทำการทางราชการและหน่วยงานต่างๆ เพื่อไม่ให้รัฐบาลสามารถปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินได้และได้มีการใช้กำลังขัดขวางต่อสู้ ทำร้ายร่างกาย อันเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย และขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายกระทำต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย รักษาอาคาร สถานที่ราชการ สถานที่ต่างๆ ที่ถูกบุกรุก รวมทั้งมีการใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย กระทำต่อประชาชน จำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าวกระทำการดังกล่าว เพื่อล้มล้าง เปลี่ยนแปลง อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ อันเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๒ ฐานเป็นกบฏ และเป็นความผิดที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต
ในช่วงเวลาเกิดเหตุจำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าวได้ร่วมกันรวบรวมรับสมัคร จัดหาชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งมาเป็นกองกำลังเพื่อทำหน้าที่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย อันเป็นส่วนหนึ่งของการกบฏ โดยเรียกตนเองว่า “นักรบศรีวิชัย” “นักรบตะนาวศรี” “กลุ่มกระเบนธง” เป็นต้น และในวันที่ ๑๖มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลากลางคืนหลังเที่ยง ได้จัดตั้งกองกำลัง สะสมกำลัง อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการกบฏ โดยประกาศรับสมัครชายฉกรรจ์ ๕๐๐ คน เพื่อทำการไล่ล่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่น เพื่อจับตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนอื่นๆ มาเพื่อบีบบังคับให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ถูกจับได้ หยุดการปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามปกติ และบังคับให้พ้นจากตำแหน่ง แล้วจะจัดตั้งศาลประชาชนขึ้นพิจารณาพิพากษาลงโทษ และริบทรัพย์สินอันเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างอำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ หรือทำให้ใช้อำนาจดังกล่าวไม่ได้

จำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าวได้ประกาศยุยง ชักชวนให้ประชาชน ธุรกิจเอกชน ข้าราชการพนักงานรัฐวิสาหกิจ ร่วมกันคัดค้าน หยุดปฏิบัติงาน ร่วมกันปิดงาน งดจ้าง ไม่ยอมค้าขาย ชะลอและงดการจ่ายภาษีให้รัฐบาล รวมทั้งให้ร่วมกัน เข้าไปบุกรุก เพื่อถือการครอบครองสถานที่ราชการ สถานที่เอกชน รัฐวิสาหกิจ ศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบังคับให้รัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจบริหารประเทศโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินได้ และบังคับให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ได้กระทำการดังกล่าวเผยแพร่ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปทั่วราชอาณาจักรด้วยการกล่าวปราศรัย ด้วยวาจา ผ่านการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์หลายแห่ง เช่น บลูสกายแชนแนล เอฟเอมทีวี และเอเอสทีวี เป็นต้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ซึ่งมีที่มาตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน การกระทำของจำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าวมิใช่การกระทำในความมุ่งหมายหรือการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยมิใช่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือ ติชมโดยสุจริต
จำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าวได้จัดให้มีการชุมนุมใหญ่ของประชาชนขึ้นบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน และบริเวณใกล้เคียง และต่อมาได้มีการขยายและยกระดับการชุมนุม ด้วยการนำประชาชนที่เข้าชุมนุมเดินขบวน เคลื่อนย้ายด้วยยานพาหนะ หลายชนิดรวมทั้งเดินเท้าไปปิดล้อม และบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น รวมทั้งตัดระบบกระแสไฟฟ้า ระบบส่งน้ำประปา ในสถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงพลังงาน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอาคารเอ็นเนอจีคอมเพล็กซ์ เป็นต้น อันเป็นการบุกรุกเข้าไปในอาคารเก็บรักษาทรัพย์ หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น และไม่ยอมออกไปจากสถานที่ดังกล่าวเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมาย ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออกไป อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข จำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าวได้กระทำการดังกล่าว เพื่อทำให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชนเหล่านั้น ไม่สามารถปฏิบัติราชการและปฏิบัติงานได้ตามปกติ อันมีผลทำให้รัฐบาลต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน และต้องพ้นจากตำแหน่ง
นอกจากนี้ การบุกรุกเข้าไปในสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง เช่น ทำเนียบรัฐบาล กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานเขตหลักสี่ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เป็นต้น จำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าวได้ร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย และขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการใช้อาวุธหลายชนิด เช่น ก้อนหิน ขวดแก้ว ไม้ท่อน หนังสติ๊ก กระสุนลูกแก้ว กระสุนหัวน็อต กระสุนลูกเหล็ก ระเบิดเพลิง ประทัดยักษ์ ระเบิดปิงปอง อาวุธสั้น อาวุธปืนยาวพร้อมกระสุนปืน อาวุธมีดปลายแหลม เป็นต้น ตี ยิง ฟัน แทง ขว้าง ปา เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย และประชาชนได้รับอันตราย แก่กาย และเป็นอันตรายสาหัส และเสียชีวิตจำนวนหลายราย
ระหว่างวันเวลาดังกล่าวข้างต้น จำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าวโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบังคับให้รัฐบาลหยุดปฏิบัติหน้าที่ และพ้นจากตำแหน่ง ได้มั่วสุมกันก่อให้เกิดความวุ่นวายไม่สงบขึ้นภายในระบบคมนาคมขนส่งและระบบการจราจรของประเทศอีกหลายเส้นทางด้วยการยึดถือ ครอบครอง ปิดกั้น ขัดขวางเส้นทางคมนาคม ขนส่ง และการจราจรสาธารณะ นอกจากนี้มีการใช้กำลังประทุษร้ายประชาชนผู้ใช้เส้นทางคมนาคมดังกล่าว เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับอันตรายแก่กายและบาดเจ็บเป็นอันตรายสาหัสอันทำให้ประชาชนทั่วไปปั่นป่วน เดือดร้อน หวาดกลัวว่าจะเกิดอันตราย และไม่สามารถใช้เส้นทางคมนาคมดังกล่าวดำเนินชีวิตไปตามปกติสุขได้ อีกทั้งทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบคมนาคมสาธารณะ และทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดความเสียหายอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึง ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ จำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าวได้บังอาจปิดกรุงเทพมหานคร (Bangkok Shutdown) ด้วยการตั้งเวทีปราศรัยปิดกั้นการจราจรสาธารณะทั่วกรุงเทพมหานคร รวม ๗ จุด คือ เวทีแจ้งวัฒนะ เวทีแยกลาดพร้าว เวทีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เวทีแยกปทุมวัน เวทีแยกราชประสงค์ เวทีสวนลุมพินี และเวทีแยกอโศก จำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าวได้เข้ายึดครอบครองด้วยการกางเต็นท์เป็นที่พักผู้ชุมนุมกลางถนนแล้วปิดกั้นถนนสาธารณะใกล้สี่แยกโดยรอบเวทีที่ชุมนุม พร้อมวางเครื่องกีดขวาง เช่น แท่งปูน ผนังคอนกรีต (Barrier) รั้วลวดหนาม และยางรถยนต์ พร้อมจัดตั้งกองกำลังรักษาพื้นที่ และออกกฎระเบียบของกลุ่มขึ้นเอง เพื่อห้ามมิให้ประชาชนทั่วไปและผู้ขับขี่ยานพาหนะใช้เส้นทางดังกล่าว ได้ตามปกติ โดยมีการตรวจค้นประชาชนและผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ผ่านไปมา และขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อมิให้ประชาชนเข้าไปในบริเวณที่จำเลยกับพวกได้ยึดถือครอบครอง และมิให้ใช้เส้นทางดังกล่าว โดยการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ อันเป็นการข่มขืนใจให้ประชาชนบางคนได้รับอันตรายแก่กายและอันตรายสาหัสจากการกระทำของกองกำลังของจำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าว และจำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าวได้ยึดถือครอบครองปิดกั้นถนนสาธารณะ และบริเวณใกล้เคียงแล้วจัดตั้งชุมนุมขึ้น โดยมีการบริหารจัดการภายในชุมชนนั้นๆ เอง มีการสะสมกำลังคนและอาวุธโดยไม่ยอมให้อำนาจรัฐ และเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้อง การยึดถือครอบครองและการปิดกั้นทางสาธารณะข้างต้น ทำให้การคมนาคมขนส่งสาธารณะของกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบเกิดความเดือดร้อนติดขัด อย่างมากอันเป็นการสร้างความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดจะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
รัฐบาลได้มอบหมายศูนย์รักษาความสงบ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติอาศัยอำนาจตามกฎหมายเข้ารักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศหลายครั้ง โดยการออกคำสั่งตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้จำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าวยุติ เลิกการชุมนุม การบุกรุกสถานที่ การปิดกั้นขัดขวางการจราจรสาธารณะที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่จำเลยกับพวกไม่เลิกกระทำการดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๖ มาตรา ๖ กำหนดให้มีความเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ในวันอาทิตย์ที่ ๒ กุมภาพันธ์พ.ศ. ๒๕๕๗ และต่อมาได้มีการประกาศคณะกรรมการเลือกตั้งกำหนดวันรับสมัครผู้สมัครในวันที่ ๒๓ -๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ และกำหนดให้วันเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ต่อมาเมื่อระหว่างวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมิให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ เพื่อมิให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายได้ และเพื่อมิให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิได้ ได้บังอาจร่วมกันโดยมีและใช้อาวุธปืนและอาวุธอื่นอีกหลายชนิด ใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายชุมนุมปิดล้อม หน่วยรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง และหน่วยเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร หลายแห่ง เช่น เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตบางกะปิ เขตหลักสี่ เขตดินแดง ในต่างจังหวัดหลายจังหวัด เช่น จังหวัดนนทบุรี เพชรบุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ยะลา เป็นต้น อันเป็นการขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้คณะกรรมการรับสมัครเลือกตั้ง คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าไป หรือออกจากหน่วยรับสมัครการเลือกตั้ง ที่เก็บหีบบัตรเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้ง และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง หรือเข้าไป หรือออกจากที่เลือกตั้ง หรือเข้าไป หรือออกจากที่ลงคะแนนเลือกตั้ง หรือมิให้ไปยังที่ดังกล่าวภายในกำหนดเวลาที่จะลงคะแนน เป็นเหตุให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับอันตรายแก่กายและได้รับอันตรายสาหัส จำเลยกับพวกกระทำการดังกล่าวโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอันจะนำไปสู่การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่จะมารับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินต่อจากคณะรัฐมนตรีที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างอำนาจ นิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวไม่ได้ จำเลยกับพวกกระทำการดังกล่าวเพื่อจัดตั้งรัฐบาลประชาชน และสภาประชาชนขึ้น อันมิใช่วิถีทางตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าวในนามกลุ่ม กปปส.ได้บังอาจร่วมกันประกาศ ปราศรัย กล่าวถ้อยคำด้วยการโฆษณาให้แพร่หลายแก่ประชาชนทั่วไปทางสื่อมวลชนหลายช่องทาง เช่น สถานีโทรทัศน์ บลูสกายแชนแนล ว่าเมื่อได้มีการดำเนินการจนรัฐบาลพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปได้แล้ว กลุ่ม กปปส.จะเข้าใช้อำนาจอธิปไตยและประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์จะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีและจะเป็นผู้นำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลองค์พระมหากษัตริย์เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี จากนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
การกระทำตามขั้นตอนวิธีการดังกล่าวที่จำเลยทั้งเก้ากับพวกดังกล่าวร่วมกันแสดงไว้ข้างต้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล ทั้งนี้ โดยไม่ได้เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือ ติชมโดยสุจริต
๒.๒ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายนพ.ศ. ๒๕๕๖ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ กับพวกได้ร่วมกันก่อการร้าย โดยการใช้กำลังประทุษร้ายและกระทำการอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และอันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกายและเสรีภาพของบุคคลอื่นโดยกระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบโทรคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์แก่สาธารณะและโดยกระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ ของบุคคลอื่น อันก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสองกับพวกได้กระทำโดยมีความ มุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญและ บังคับรัฐบาลไทยให้กระทำและไม่กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงและเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน กล่าวคือ จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันประกาศปลุกระดม ยุยงให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ เข้ายึดและควบคุมพื้นที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (สำนักงานบางรัก) ซึ่งประกอบกิจการโทรคมนาคมและให้บริการทางด้านโทรคมนาคม ทั้งในประเทศ ระหว่างประเทศ และนอกประเทศ แล้วจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันนำมวลชนเข้าไปใช้กำลังประทุษร้ายและใช้อาวุธปืนขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นการก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต และอันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย และเสรีภาพของผู้ที่ไปติดต่อและดูแลสถานที่ดังกล่าวโดยการปิดล้อม และบุกรุกเข้าไปในสถานที่ดังกล่าว แล้วจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันทำให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้าหลัก และกระแสไฟฟ้าสำรอง และต่อทรัพย์สินอื่นของบริษัท กสท โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน) (สำนักงานบางรัก) ทำให้การให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศและระบบอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ การให้บริการโทรศัพท์มือถือที่อยู่ในความรับผิดชอบให้บริการของบริษัท กสทโทรคมนาคมจำกัด (มหาชน) (สำนักงานบางรัก) และระบบอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ของประเทศไม่สามารถใช้งานได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน อันเป็นประโยชน์แก่สาธารณะของประเทศทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนนับ พันล้านบาท ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองกับพวกได้กระทำการดังกล่าวโดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญและบังคับรัฐบาลไทยให้พ้นจากตำแหน่งขับไล่รัฐบาล และให้รัฐบาลหยุดปฏิบัติหน้าที่ และไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่อีกต่อไป อันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงและเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน โดยการกระทำดังกล่าวมิใช่การเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรม จึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
เหตุตามฟ้องข้อ ๒.๑ และ ๒.๒ เกิดที่แขวง / เขตดุสิต, แขวงวัดสาม พระยาเขตพระนคร, แขวง / เขตดินแดง, แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่, แขวง / เขตจตุจักร, แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง, แขวง / เขตทวีวัฒนา,แขวงบางมด เขตจอมทอง,แขวง / เขตราษฎร์บูรณะ, แขวง / เขต ทุ่งครุ, แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ, แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี, แขวง ทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร, แขวง / เขตปทุมวัน, แขวงลุมพินี แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี,แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร, แขวงจิตลดา เขตดุสิต, แขวงสามเสนใน เขตพญาไท, แขวงสี่พระยา และแขวงบางรัก เขตบางรัก แขวง และเขตทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพมหานคร,ตำบลบ้านใหม่ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี, ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม ตำบลท่าตะคร้อ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี, ตำบลท้ายช้าง อำเภอเมือง ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา, ตำบลคุณกระทิง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร,ตำบลไทยบุรี ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช,ตำบลลำใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และอีกหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเกี่ยวพันกัน
ข้อ ๓. ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๗ ที่ ๘ และที่ ๙ เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จำเลยที่๖ เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จำเลยที่ ๕ เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พนักงานสอบสวนปฏิเสธ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งข้อกล่าวหา และทำการสอบสวนจำเลยทั้งเก้าแล้ว ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งเก้าให้การปฏิเสธ
ระหว่างสอบสวนจำเลยทั้งเก้าไม่ถูกควบคุมตัว ได้ส่งตัวจำเลยทั้งเก้ามาศาลพร้อมฟ้องนี้แล้ว หากจำเลยทั้งเก้าขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาล โจทก์ขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล
ข้อ ๔. จำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.๑๓๗๕/๒๕๕๗ คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.๒๙๑๗/๒๕๕๗ ของศาลนี้
จำเลยที่ ๕ เป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.๓๓๗๙/๒๕๕๘ คดีหมายเลขแดงที่ อ.๕๐๑๓/๒๕๕๙ ของศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา
คำขอท้ายคำฟ้องอาญา
การที่จำเลยได้กระทำตามข้อความที่กล่าวมาในคำฟ้องนั้น ข้าพเจ้าถือว่าเป็นความผิดต่อกฎหมายและบทมาตรา ดังนี้ คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ , ๙๑, ๑๑๓, ๑๑๖, ๑๑๗, ๑๓๕/๑, ๒๐๙, ๒๑๐, ๒๑๕, ๒๑๖, ๓๖๒, ๓๖๔, ๓๖๕ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๗๖, ๑๕๒ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๔
ขอศาลได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมาย และขอศาลได้สั่ง เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งเก้ามีกำหนดห้าปีตามกฎหมายด้วย และขอนับโทษจำเลยที่ ๑ ติดต่อกับโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.๑๓๗๕/๒๕๕๗ คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.๒๙๑๗/๒๕๕๗ ของศาลนี้ และนับโทษจำเลยที่ ๕ ติดต่อกับโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. ๓๓๗๙/๒๕๕๘ คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.๕๐๑๓/๒๕๕๙ ของศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา

 

ขอขอบคุณ   มติชน ออนไลน์

ที่มา  มติชนออนไลน์