ความสามัคคีแล้วเป็นสุข
พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้ว่า “สุโข สังฆัสสะ สามัคคี”
ถ้าหากว่ามีความสามัคคีแล้วเป็นสุข
แล้วก็ตรงกันข้ามถ้าหากว่าแตกสามัคคีเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์ นี่ ๒ อย่าง
ทีนี้เหตุที่จะให้แตกสามัคคี แล้วก็เหตุให้เกิดสามัคคีมันมีอยู่
เหตุให้เกิดความแตกสามัคคีนั้นมันแตกสามัคคีไปจากใจ
ใจเราฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านแปลว่าคนนั้นจะทำเรา คนนี้จะทำเรา คนนั้นอิจฉาเรา คนนั้นเอาเปรียบเรา เขาก็คิดกันไป คิดกันไปคิดกันมาจิตใจมันก็ฟุ้งซ่าน
พอฟุ้งซ่านแล้วความทุกข์มันก็เกิดขึ้นที่ใจ
ทีนี้พอเวลาที่เขามีความสามัคคีก็หมายความว่ามีการอภัย อะไรก็อภัย อะไรก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพื่อที่จะให้ใจนี้หายการฟุ้งซ่าน
ใจของเราแตกสามัคคีก็คือการคิดไปเลอะเทอะ
ถ้าหากว่าใจของเรามีความสามัคคีแล้ว อย่างที่เรามาทำสมาธินี่ พอเรามาทำสมาธินึกพุทโธ ใจมันจะสามัคคีแล้วทีนี้ ไม่แตกกระจาย
สามัคคีแปลว่าไม่แตกกระจาย พอเรานึกพุทโธแล้วทีนี้มันก็เหลือความเป็นหนึ่ง
ความเป็นหนึ่งเกิดขึ้นที่ใจของเรามันก็เป็นสุข นอนก็หลับ รับประทานก็ได้ ชีวิตก็กระชุ่มกระชวย
ทีนี้ถ้าหากว่ามันเกิดฟุ้งซ่านขึ้นมาแล้ว ใจมันแตกสามัคคีมันก็เกิดความทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด
เพราะฉะนั้นเราต้องแก้ไขที่ตัวของเราว่าเราจะทำความสามัคคีให้ใจของเราทุกวันได้มั้ย เราจะได้มีความสุขทุกวัน
ความทุกข์ใจหรือเรียกว่าความแตกสามัคคีที่เกิดขึ้นกับใจนี่มันทำลายตัวเอง
มันทำลายให้เราต้องบั่นทอนชีวิตไปด้วยแล้วก็เกิดความทุกข์ด้วย อย่างนี้
พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกว่า “สุโข สังฆัสสะ สามัคคี”
บอกว่าให้สามัคคีซะใจจะได้มีความสุข
ทีนี้ความสามัคคีนั้นเกิดขึ้นจากการเพิ่ม เราพากันเพิ่มพลังใจ
เพราะว่าเวลานี้เราขาดแคลนพลังใจ
เมื่อขาดแคลนพลังใจแล้วนี่เราก็จะเริ่มควบคุมจิตใจไม่ได้แล้ว
เมื่อเริ่มควบคุมจิตใจไม่ได้มันก็เกิดความทุกข์มันก็จะเริ่ม พอความทุกข์มันเริ่มขึ้นมาแล้วความทุกข์มันก็จะเพิ่ม ความทุกข์นี่มันบวกเร็ว
ส่วนว่าเราพากันทำความสามัคคี หมายความว่าทำจิตใจของเรานี่ให้สงบด้วยความเป็นสมาธิ จิตใจของเราพอเป็นสมาธิพอสามัคคีแล้วมันก็เพิ่ม แต่ว่ามันเพิ่มความสุข
แล้วนอกจากเพิ่มความสุขแล้วมันก็เพิ่มพลังจิต
เพิ่มพลังจิตนี่มันเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่นี่มันก็จะมีความสุขเพิ่มขึ้น
ความสุขที่เพิ่มขึ้นนี่มันทำให้ร่างกายของเราดีแล้วมีอายุยืน
จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๒ หน้าที่ ๒๒๘
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)
สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
๖๑.๐๑.๒๔
ใส่ความเห็น