พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้ทาน ๑๐๐ ครั้งไม่เท่ารักษาศีลครั้งหนึ่ง รักษาศีล ๑๐๐ ครั้งไม่เท่าทำสมาธิครั้งหนึ่ง
พอเวลาเรานึกพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่มันจะเป็นเอกัคคตา เอกัคคตารมณ์มันจะเริ่มเป็นสมาธิ
พอจิตเริ่มเป็นสมาธิแล้วจิตก็ผลิตพลังจิต
พอจิตผลิตพลังจิตแล้วจิตก็มีกระแสจิต
พอจิตมีกระแสจิตแล้วจิตก็เป็นฌาน
ทีนี้เราก็จะวัดได้ว่าเราได้ฌานมั้ย
พอเวลานั่งสมาธิไปนี่มันรู้สึกตัวเบา เอามือทับกันนี่มันไม่รู้สึกว่ามันทับกันหรอก แล้วเราก็รู้สึกเบาตัว แล้วเราก็รู้สึกสบาย นั่นถือว่าเราเข้าปฐมฌานแล้ว
เข้าปฐมฌานนี่ไม่ยาก นั่งแป๊บเดียวก็เข้าปฐมฌานได้ แต่ว่าเราเข้าปฐมฌานได้นั้นน่ะก็คงจะซักไม่ถึงห้านาที บางทีก็ห้านาทีอะไรอย่างนี้
ถ้าเลย ๕ นาทีไปแล้ว แล้วจิตนี่มันสบายมากขึ้นกว่าเก่า นึกพุทโธก็ไม่หยาบเหมือนเก่า มันละเอียดลงไป เขาก็บอกว่าได้แล้วฌานที่ ๒ คือสบาย ตัวหายไปเลยบางที นั่งแล้วก็ตัวหายไปเลย มันก็จะเกิดฌานที่ ๓ แล้ว
ฌานทั้งหลายเหล่านี้มันก็จะเกิดแล้วมันก็จะดับ
เพราะว่าฌานนี้มันจะอยู่ได้ตามกำลังของสมาธิ
ถ้าสมาธิมีมาก พลังจิตได้มาก ฌานมันก็อยู่ได้นาน
ถ้าพลังจิตมีน้อยถึงแม้ว่าจะเข้าไปถึงฌาน มันอยู่แป๊บหนึ่ง ถึงแม้ว่าอยู่แป๊บเดียวแต่ว่าอานิสงส์เหลือหลาย
เพราะเหตุใด
เพราะเหตุว่าฌานที่เราทำไปนั้นถึงแม้ว่ามันจะหายไป แต่บุญของฌานน่ะคือเชื้อของฌานไม่หาย ยังคงอยู่
เช่นอย่างคนที่เคยได้ปฐมฌาน ทุติยฌานนี่ มันหมดพลังแล้วมันก็หาย เพราะว่าพลังจิตมีอยู่ได้เท่าไหร่มันก็อยู่ได้นาน บางทีมันก็ไม่นาน แต่ว่ามันเป็นนิสัยหรือว่าเป็นเชื้อ เขาเรียกว่าเชื้อบุญ มันจะยังอยู่
เชื้อของฌานก็ดี เชื้อของสมาธิก็ดี มันจะไปสะสม สะสมในจิตของเรานี่
สมาธิมันมีพิเศษ มันจะฝังอยู่ที่ใจของเรา แล้วมันจะเพิ่มเป็นบุญ เป็นวาสนา เป็นบารมี
เพราะฉะนั้นการทำสมาธิอานิสงส์เยอะ
พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้ทาน ๑๐๐ ครั้งไม่เท่ารักษาศีลครั้งหนึ่ง
รักษาศีล ๑๐๐ ครั้งไม่เท่าทำสมาธิครั้งหนึ่ง ท่านว่าอย่างนั้น
เราก็พิจารณาก็เห็นจริงตามนั้น เพราะว่าเวลาที่เราทำสมาธินี่มันทำแล้วมันได้เลย เราจะรู้สึกว่ามันสบายอะไร ๆ ต่าง ๆ นี่แล้วมันก็หายไป แต่ส่วนเชื้อเขาเรียกว่าเชื้อบุญ เชื้อวาสนา เชื้อบารมีมันจะยังอยู่
เพราะฉะนั้นหลวงพ่อจึงได้พยายามที่จะหาหนทางให้ทุกๆคนนี่ได้ทำสมาธิ
จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๓ หน้าที่ ๖๕
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)
สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา
๖๐.๑๐.๑๒
ใส่ความเห็น