พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เอโก อะยัง ภิกขะเว มัคโค” ดูก่อนภิกษุทั้งหลายมรรคมีหนทางเดียวเท่านั้น มันไม่ได้มีทางอื่น

ทางอื่นจะมาผลิตพลังจิตนี่มันไม่มี มันมีอยู่ทางเดียวเท่านั้น
เหมือนกันกับเราพากันรับประทานอาหารอย่างนี้ เรารับประทานอาหารแล้วเรารับประทานทางไหน เราก็ต้องรับประทานทางปาก

เมื่อเรามาพากันทำสมาธิก็สามารถผลิตพลังจิตขึ้นมาได้
เมื่อผลิตพลังจิตขึ้นมาได้แล้วนี่พลังจิตก็จะกลายไปเป็นคุณภาพมหาศาล
ข้อที่ ๑ ก็ทำให้เกิดความรับผิดชอบสูง
ข้อที่ ๒ ก็ทำให้เกิดมีเหตุผล
ข้อที่ ๓ ก็ทำให้หลับสบาย
ข้อที่ ๔ ก็ทำให้เกิดความสุข
ข้อที่ ๕ ก็อาจทำให้เกิดการควบคุมจิตได้ อะไรอย่างนี้
มันก็มีหลายข้อที่เกิดขึ้นจากพลังจิต
ที่หลายข้อเหล่านั้นน่ะไม่ใช่ว่าเราจะไปปรุงแต่งเอาหรือว่าเราจะไปคิดเอา อย่างนี้ไม่ใช่

มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอัตโนมัติ เมื่อพลังจิตเกิดขึ้นมากเท่าไหร่ คุณภาพก็เกิดขึ้นมากเท่านั้น ความรับผิดชอบก็สูงขึ้น เหตุผลก็สูงขึ้น ความสุขก็สูงขึ้น ความหลับก็ง่ายขึ้น การควบคุมก็ได้มากขึ้น อย่างนี้มันก็ทำให้เกิดประโยชน์

ความทุกข์ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นมาในสังคมเรา ความทุกข์ชนิดนั้นคือความไม่พอ

ความอยาก เขาเรียกว่าตัณหา มันไม่พอ ได้เท่านี้จะต้องเอาเท่านั้น ได้เท่านั้นจะต้องเอาเท่านั้น เป็นข้าราชการหรือว่าเป็นประชาชนไม่ว่าเป็นใครก็ตาม ความที่ว่าเขายับยั้งจิตใจไม่ไหวเพราะว่ากิเลสในใจของมันมีอยู่มาก ไม่มีอะไรเป็นเครื่องลบล้างมันเสียบ้างเลย
ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายไม่มีอะไรลบล้างบ้างเลย มันก็พองตัวกันใหญ่

มันก็ทำให้คนนี่เกิดเข้าใจผิดนานัปการ สารพัดที่จะทำความทุกข์ให้แก่ท่าน ทุกข์นั้นก็ถึงตน สารพัดมี เกิดขึ้นมาโดยที่ว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นมาได้ในมวลมนุษย์ชาติ แต่มันก็เกิดขึ้นมาแล้ว เพราะความโลภทำให้คนตาบอด เป็นเช่นนั้น

ทีนี้หากว่ามี “สะจิตตะปะริโยทะปะนัง” คือการทำสมาธิ ก็จะมาแก้ไขในจุดนี้ คือแก้ไขลดระดับของความขัดแย้งต่าง ๆ

เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นมาแล้วมันไม่ต้องมากหรอก แค่หัวไม้ขีดไฟเท่านั้นมันก็เผาบ้านเผาเมืองได้ มันก็สามารถทำลายประเทศชาติ ทำลายโลกได้
อันนี้มันนิดเดียวเท่านั้นแต่ว่ามันมีพลังอันมหาศาล
แล้วก็มันไปทำอะไร มันไปกระทุ้งจิตใจ มันไปควบคุมจิตใจ มันไปผูกมัดจิตใจของคนเรานี่หลงระเริงไปตามกระแส

เมื่อหลงระเริงไปตามกระแสแล้วมันก็ไปกันใหญ่ เพราะว่าความโลภ ความโกรธ ความหลง

จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๓ หน้าที่ ๒๑
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

สวนพนาสนธิ์๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา

๖๐.๐๙.๒๖